โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การเมืองเรื่องโบยหลังทหารที่วิวาทมหาดเล็ก ชนวนร.ศ. 130 ประวัติศาสตร์ที่ถูกบิดเบือน

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 30 มี.ค. 2565 เวลา 04.40 น. • เผยแพร่ 30 มี.ค. 2565 เวลา 04.40 น.
ภาพ รัชกาลที่-6-เจ้าฟ้าจักรพงษ์-กรมหมื่นนครไชยศรี-พิษณุโลก
(จากซ้ายไปขวา) 1. นายพลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จเรทัพบก และราชองครักษ์พิเศษ 2. นายพันเอก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาภ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ 3. นายพันตรี พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ผู้ช่วยกรมกลาง กรมยุทธนาธิการ 4. นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และราชองครักษ์พิเศษ

เรื่องการโบยหลังทหารที่ศาลาว่าการยุทธนาธิการเมื่อ ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงกันมากว่าเป็นชนวนเหตุหนึ่งของการที่คณะนายทหารหนุ่มคิดก่อการไม่สงบที่เรียกกันว่า “กบฏ ร.ศ. 130” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454

ที่มาของวาทกรรมดังกล่าวมีที่มาจากข้อเขียนของร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) และ ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ เรื่อง “ปฏิวัติ ร.ศ. 130” ที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน “หมอเหล็งรําลึก ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ. 130” อนุสรณ์ในงานศพ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันอังคารที่ 19 เมษายน 2503 ว่า

“ณ พ.ศ. 2452 (ร.ศ. 128) ในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราช) ได้มีเหตุการณ์สําคัญเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เป็นเหตุการณ์ที่ยังความสะเทือนจิตใจนักเรียนนายร้อยทหารทั่วไปทั้งฝ่ายบกและเรือ ผู้ซึ่งจะออกรับราชการเป็นนายทหาร ของชาติไทยสืบไป นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและสําคัญอันอุบัติขึ้นมาอย่างมิได้คาดฝันกันเลย คือการเฆี่ยนหลังนายทหารชั้นสัญญาบัตร ทหารของชาติด้วยสาเหตุอันมิบังควร มีร้อยเอก โสม ผู้เคยช่วยชาติ โดยปราบกบฏเลี้ยวมาแล้วเป็นหัวหน้าที่ถูกเฆี่ยนหลัง พร้อมกับนายร้อย นายดาบ และ นายสิบพลทหาร รวม 5 คน ณ กลางสนามหญ้าภายในกระทรวงกลาโหม ท่ามกลางวงล้อมของนายทหารกองทัพบก ต่อพระพักตร์สมเด็จพระยุพราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6) และเหล่าข้าราชบริพารในพระราชสํานักบางจําพวก บนมุขด้านหลังกระทรวงกลาโหมชั้นที่ 2

สาเหตุแห่งการเฆี่ยนหลังก็ด้วยทหารพวกนั้นวิวาทกับพวกมหาดเล็กบางคนของสมเด็จพระยุพราช ซึ่งสมัยนั้นมักเรียกกันติดปากว่า “มหาดเล็ก สมเด็จพระบรมฯ” (คําเต็มว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) สมเด็จพระบรมฯ ประทับอยู่ที่วังปารุสกวัน ใกล้ๆ กับกรมทหารราบที่ 2 เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์

เรื่องเดิมที่จะเกิดขึ้นจนถึงกับเป็นเหตุวิวาทกันนั้น ก็เพราะผู้หญิงขายหมากสมัดคนหนึ่ง แถวบริเวณสะพานมัฆวานฯ นั่นเองเป็นเชื้อเพลิงเสน่ห์ ทําให้พวกมหาดเล็กและพวกทหารไปคลอเคลียพูดเกี่ยว และเย้าหยอกกันในเวลาค่ำคืนเสมอๆ ในที่สุดพวกเจ้าชู้หนุ่มๆ เหล่านั้นก็เกิดขัดใจกันขึ้น ครั้นค่ำวันหนึ่งต่อมา พวกมหาดเล็กอาจจะเขม่นทหารด้วยความมืดหน้า ถึงกับใช้ไม้รุมตีศีรษะนายดาบ ราบ 2 ผู้หนึ่ง ซึ่งแต่งกายพลเรือนออกมาแต่ลําพังตัวคนเดียว

นายดาบผู้นั้นก็กุมศีรษะวิ่งเข้ากรมทหาร ไปรายงานตนต่อ ร.อ. โสม ผู้บังคับกองร้อยของตนทันที ขณะนั้นพวกมหาดเล็กยังท้าทายอยู่ที่หน้ากรม เมื่อ ร.อ. โสม ผู้เคยผ่านศึกสงครามมาแล้วได้ทราบเช่นนั้นก็ลั่นวาจาด้วยความโกรธว่า ‘เมื่อมีผู้อุกอาจมาข่มเหงทหารถึงหน้ากรมเช่นนี้ มันก็หนักเกินไปละ! ควรจะออกไปสั่งสอนให้หลาบจํากันไว้เสียบ้าง’

ว่าแล้ว ร.อ. โสม ก็วิ่งนําหน้านายร้อยตรีผู้บังคับหมวดผู้หนึ่ง พร้อมกับนายดาบผู้ถูกรุมตี ตรงไปยังหน้ากรมด้วยมือเปล่าๆ แต่ ณ ที่นั้นบังเอิญมีกิ่งก้ามปูที่ถูกรานทิ้งไว้ตามโคนต้น ต่างก็ตรงเข้าหักได้คนละท่อน พุ่งเข้าตีโดยฉับพลันทันที ฝ่ายพวกมหาดเล็กทนกําลังความว่องไวไม่ได้ และเห็นท่าจะสู้ไม่ไหว จึงวิ่งหนีร่นไปทางวังปารุสก์ ทันใดนั้น นายสิบพลทหารอีก 2 คนเพิ่งกลับจากเป็นกองตรวจ พอดีพบเหตุการณ์เข้า จึงสมทบกับนายของตนไล่ติดตามไปด้วย รวมเป็น 5 คนด้วยกัน ครั้นไล่ไปถึงวังปารุสก์ พวกมหาดเล็กก็หลบเข้าประตูวังไป พวกทหารก็พากันกลับกรมหาได้รุกติดตามเข้าไปไม่

เมื่อสมเด็จพระบรมฯ ทรงทราบเหตุจากมหาดเล็ก ก็รับสั่งให้ผ.บ.ก. กรมทหารราบที่ 2 สอบสวนทันที ร.อ. โสม ผู้ผ่านศึกก็ออกรับสารภาพตามความสัตย์จริงทุกประการอย่างลูกผู้ชาย เลยพากันถูกขังทั้ง 5 คน เพื่อรอคําสั่งผู้บังคับบัญชาต่อไป

ครั้นรุ่งขึ้น เมื่อความปรากฏเป็นสัตย์ดังนั้นแล้ว สมเด็จพระยุพราชก็นําความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระชนกนาถ รัชกาลที่ 5 ขอให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลังทหารเหล่านั้น ตามประเพณีจารีตนครบาลในฐานทําการอุกอาจถึงหน้าประตูวังของพระรัชทายาท

เท่าที่ทราบมาว่า ชั้นแรก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หาทรงเห็นด้วยไม่ ประกอบด้วยเจ้านายบางพระองค์ได้ทรงคัดค้านไว้ อาทิเช่น เสด็จในกรมราชบุรี นักปราชญ์กฎหมายได้ทรงชี้แจงว่าควรจะได้จัดการไปตามกระบิลเมือง เพราะได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาเยี่ยง อารยประเทศพร้อมมูลแล้ว ไม่ควรจะนําจารีตนครบาล ซึ่งยกเลิกไปแล้วกลับมาใช้อีก

แต่เมื่อสมเด็จพระยุพราชทรงยืนกรานจะให้เฆี่ยนหลัง เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างให้จนได้ มิเช่นนั้นพระองค์จะทรงลาออกจากตําแหน่งพระรัชทายาททันที สมเด็จพระชนกนาถทรงเห็นการณ์ไกลว่าถ้าไม่ตามพระทัย เรื่องอาจจะไปกันใหญ่โต เพราะจะเกิดการน้อยพระทัยจึงทรงอนุมัติไปตามคําขอ”[1]

วาทกรรมที่ว่า “สมเด็จพระยุพราชทรงยืนกรานจะให้เฆี่ยนหลังเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง” นั้น ออกจะขัดกับความใน “ประกาศกระแสพระราชดําริห์ในเรื่อง เป็นลูกผู้ชาย” ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศไว้เมื่อวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 128 ก่อนที่จะมีการโบยทหารครั้งนั้นเพียง 2 เดือนเศษ โดยมีความตอนหนึ่งในประกาศนั้นว่า “การที่จะลงพระราชอาญาด้วยอาการใดๆ มีตีและขังเป็นต้น ก็ทรงพระราชดําริห์ว่าน่าจะไม่เป็นประโยชน์ เพราะลูกผู้ดีไม่ใช่สัตว์เดียรฉานที่จะบังคับบัญชาได้ด้วยอาญา” ซึ่งความตอนนี้ก็สอดคล้องกับที่ทรงพระราชบันทึกไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ว่า

“เมื่อเกิดชําระกันขึ้นได้ความว่าตัวการมีนายร้อยเอกสม, นายร้อยตรีจัน, กับนายดาบบาง, ได้พาพลทหารออกจากโรงไปตีเขา. กรมนครชัยศรีเอาตัวพวกทหารขึ้นศาลทหารชําระได้ความจริงว่าได้ออกจากโรงทหารผิดเวลา และยกพวกไปตีเขาเช่นนั้น, เห็นว่าเป็นโทษหนัก, จําเป็นต้องลงอาญาให้เป็นเยี่ยงอย่าง, กรมนครชัยศรีจึงได้กราบบังคมทูลพระเจ้าหลวงขอให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลัง คนละ 30 ทีและถอดจากยศ. การลงอาญาครั้งนั้นไม่ใช่โดยความขอร้องของฉันเลย, ตรงกันข้ามฉันเป็นผู้ท้วงว่าแรงเกินไป, แต่กรมนครชัยศรีว่าจะต้องลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง, หาไม่จะกําราบปราบปรามทหารที่เกะกะไม่ได้, และนายทหารจะถือตนเป็นคนมีพวกมากเที่ยวรังแกข่มเหงเขาร่ำไปให้เสียชื่อทหาร.”

ในเมื่อข้อมูลของฝ่ายกบฏ ร.ศ. 130 กับพระราชบันทึกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขัดแย้งกันเช่นนี้ จึงได้สืบหาหลักฐานเพิ่มเติม และในที่สุดก็ได้พบหลักฐานสําคัญเป็นลายพระหัตถ์นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ร.ศ. 128 ความว่า

“ด้วยเมื่อวันที่ 15 เดือนนี้เวลาประมาณ 2 ทุ่มเศษ หม่อมราชวงษ์เหรียญและนายกรด ซึ่งเป็นพนักงานรถสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร แจ้งความต่อกรมทหารราบที่ 2 สวนดุสิต ว่ามีคนหลายคนชกตีคนทั้ง 2 นี้ที่สพานมัฆวาฬรังสรรค์เข้าใจว่าเป็นทหาร นายกรด มีบาดแผลที่แขนซ้ายฟกช้ำแห่ง 1 หม่อมราชวงษ์เหรียญ ไม่มีบาดแผล

กรมทหารราบที่ 2 ไต่สวนได้ความจากพลทหารนายอ่อนว่า นายร้อยเอกสม, นายร้อยตรีนั่น, นายดาบบาง, กรมทหารราบที่ 2 ไม่ได้แต่งเครื่องทหารไปเที่ยวที่นางเลิ้งกลับมา พบทหารกองตรวจนายร้อยเอกสมจึงเรียกพลทหารนายอ่อนในกองตรวจนั้นมาที่โรงทหาร ให้พลทหารนายอ่อน เปลื้องเครื่องทหารที่แต่งอยู่นั้นเปนพลเรือน แล้วชวนกันไปที่สพานมัฆวาฬทั้งนายสิบโทเที่ยงอีกคนหนึ่ง รวมเป็น 5 คนด้วยกัน พบหม่อมราชวงษ์เหรียญกับนายกรดและผู้หญิงเดินมา นายดาบบางร้องให้ลงมือ ทั้ง 5 คนก็เข้าชกตีคน 2 คนนั้น แล้วชวนกันหนีไป ได้ไต่สวนคน 4 คน แบ่งรับแบ่งสู้

ในเรื่องนี้ เมื่อได้สืบไต่สวนความโดยเลอียดแล้ว เห็นชัดได้ว่า เป็นความผิดในวินัยทหารเป็นอันมาก เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าสมควรลงโทษทางฝ่ายปกครองให้ปรากฏในทันที จะได้เป็นที่สยดสยองยําเกรงสําหรับการต่อไป ดีกว่าที่จะให้ต้องขึ้นพิจารณาทางศาล ซึ่งเป็นการชักช้าไปนั้น

เหตุการกระทําร้ายซึ่งมีในทหารราบที่ 2 มาหลายคราวนั้น เป็นที่ให้สงไสยอยู่แล้วว่าจะเป็นด้วยนายทหารด้วย จึงทําให้พลทหารเป็นไปในการประพฤติไม่เรียบร้อย ต่างๆ ตามที่นายพันเอก พระพิพิธเดชะ[2] ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 จับได้ขึ้นครั้งนี้จะเป็นที่เข็ดขยาดในการเช่นนี้ต่อไป

ถ้าทรงพระราชดําริห์เห็นสมควรแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดนายทหารที่มีความผิดนี้จากยศบรรดาศักดิ์ ลงพระราชอาญาเมี่ยนทั้ง 5 คนนี้คนละ 30 ทีในที่ประชุมทหารที่ศาลายุทธนาธิการ”[3]

เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ร.ศ. 128 ว่า “เป็นการดีแล้ว อนุญาตให้ถอดนายทหารที่มีความผิดนี้จากยศบรรดาศักดิ์ แลลงอาญาเฆี่ยนทั้ง 5 คนๆ ละ 30 ที ตามที่ว่านั้น”

ต่อจากนั้นวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2452 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 26 ก็ได้ลงประกาศ “แจ้งความกรม ยุทธนาธิการ” ว่า

“ด้วยนายร้อยเอก สม นายร้อยตรี จิ้น กรมทหารราบที่ 2 ประพฤติตนไม่สมควรกับตําแหน่ง มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดนายร้อยเอก สม นายร้อยตรี จั่น จากตําแหน่งยศบรรดาศักดิ์แล้ว ฯ

ศาลายุทธนาธิการ วันที่ 19 มิถุนายน รัตนโกสินทรศก 128
(ลงพระนาม) จิรประวัติวรเดช
ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ”

ความในพระราชบันทึกลายพระหัตถ์ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งแจ้งความกรมยุทธนาธิการที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ล้วนสอดรับเป็นเรื่องเดียวกัน จึงสามารถยืนยันได้ว่า ผู้ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลงพระราชอาญาโบยหลังทหาร เมื่อเดือนมิถุนายน ร.ศ. 128 นั้นคือ นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ หาใช่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ดังที่กล่าวอ้างกัน

สําหรับประเด็นที่กล่าวถึงในเรื่อง “ปฏิวัติร.ศ. 130” ว่า ประเทศสยาม “ได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาเยี่ยงอารยประเทศพร้อมมูลแล้ว ไม่ควรจะนําจารีตนครบาลซึ่งยกเลิกไปแล้วกลับมาใช้อีก” นั้น ก็นับว่ามีส่วนถูกอยู่ เพราะบทลงโทษ “โบย” ตามจารีตเดิมนั้นมิได้ถูกบัญญัติไว้ใน “กฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. 237” ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่เดือน เมษายน พ.ศ. 2451

แต่ทว่าโทษ “โบย” นี้ยังคงเป็นบทลงโทษที่กําหนดไว้ใน “กฎว่าด้วยอํานาจลงอาญาทหารบก” ซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 7 ที่ให้อํานาจ “นายทหารผู้มีอํานาจบังคับบัญชาได้นั้น ท่านให้มีอํานาจลงอาญาแก่ผู้ที่กระทําผิดต่อวินัยทหาร ตามลักษณกฏหรือข้อบังคับทหารบกทหารเรือ” โดยความผิดต่อวินัยทหารตามกฎว่าด้วยการลงอาญาทหารบกซึ่งตราขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 130 นั้น กําหนดอาญาที่จะลงต่อผู้กระทําผิดต่อวินัยทหารไว้เป็น 7 สถาน ดังนี้

(1) โบย
(2) จําขัง
(3) กักขัง
(4) ยังมืด
(5) กักยาม
(6) ทัณฑกรรม
(7) ภาคทัณฑ์

การลงอาญาโบยฐานละเมิดวินัยทหารนี้เพิ่งจะมายกเลิกและเปลี่ยนมาเป็นโทษ “มัดมือ” แทน เมื่อมีการประกาศใช้ “กฎว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานละเมิดยุทธวินัย” เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2464 แล้ว

ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การลงอาญาโบยนายและพลทหารทั้ง 5 นายที่สนามในศาลายุทธนาธิการเมื่อเดือนมิถุนายน ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) เป็นการลงอาญาฐานละเมิดยุทธวินัย หาใช่การลงโทษตามจารีตนครบาลดัง ที่คณะกบฏร.ศ. 130 ได้กล่าวอ้างไว้ใน “ปฏิวัติร.ศ. 130” อ้างว่า ได้ยกเลิกไปนานแล้ว

เชิงอรรถ

[1] ร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ ปฏิวัติ ร.ศ. 130. น. 23-25.

[2] นามเดิม พอน ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิพิธเดชะ

[3] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.5 ก.13.1/73 เรื่องคดีความซึ่งพิจารณาในศาลทหาร (27 สิงหาคม 120-17 ธันวาคม 128)

[4] “กฎว่าด้วยอํานาจลงอาญาทหารบก”, ราชกิจจานุเบกษา 29 (18 กุมภาพันธ์ 130), น.482-494

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงกลาโหม ร.5 ก.13.1/73 เรื่องคดีความซึ่งพิจารณาในศาลทหาร (27 สิงหาคม 120-17 ธันวาคม 128)

ราชกิจจานุเบกษา

“กฏว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานลเมิดยุทธวินัย”, ราชกิจจานุเบกษา 32 (13 มิถุนายน 2458), น. 114-134.
“กฏว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานลเมิดยุทธวินัย”, ราชกิจจานุเบกษา 38 (6 ตุลาคม 2464), น. 305-323.
“กฎว่าด้วยอํานาจลงอาญาทหารบก”, ราชกิจจานุเบกษา 28 (18 กุมภาพันธ์ 130), น. 482-494.
“แจ้งความกระทรวงกะลาโหม เรื่องถอดนายทหาร 22 คน”, ราชกิจจานุเบกษา 29 (12 พฤษภาคม 131), น. 385-390.
“ประมวลกฎหมายอาญาทหาร”, ราชกิจจานุเบกษา 28 (18 กุมภาพันธ์ 130), น. 355-482.

หนังสือ

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.

เหรียญ ศรีจันทร์, ร้อยตรี และ เนตร พูนวิวัฒน์, ร้อยตรี. ปฏิวัติร.ศ. 130. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0