โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การเมืองว่าด้วยเรื่องยุบพรรค : เหตุผลที่กัมพูชาต้องอยู่กับ ‘ฮุน เซน’ ตลอดกาล

The MATTER

เผยแพร่ 25 ก.พ. 2563 เวลา 19.52 น. • Thinkers

(1)

ค.ศ.2013 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพราะเขาจะต้องข้ามผ่านการเลือกตั้งอีกครั้ง หลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบลูกผีลูกคนในประเทศ จนพาให้เขาอยู่ในตำแหน่งมานานกว่า 28 ปี และถูกยกให้เป็นหนึ่งในผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดติดอันดับโลก

แต่การเลือกตั้งปีนั้น ต่างไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะพรรคฝ่ายค้าน 2 พรรค ที่ในบริบทแบบกัมพูชา แทบจะเป็นฝ่ายค้านตลอดกาล เลือกที่จะ 'รวมตัว' กันเป็นแนวร่วม CNRP เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ในการเอาชนะสมเด็จฮุน เซน ให้ได้

ปัญหาของฝ่ายค้านก็คือเมื่อ ฮุน เซน ยิ่งอยู่นาน ก็ยิ่งมีพรรคพวกมาก ระบบราชการแทบจะเป็นของพรรค CPP ของเขา เพราะไม่เคยรับใช้พรรคอื่นเลย ส่วนกองทัพเขมร สมเด็จ ฮุน เซน ก็มีมือขวาอย่าง พล.อ.เตีย บัญ ทำงานใกล้ชิดมาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว นายพลเตีย บัญ เกิดในเกาะกง ทั้งพูดไทยได้ และมีสายสัมพันธ์ที่แน่นปึ้กกับทหารในประเทศแถบนี้ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ฮุน เซน ก็มี 'มือดี' อย่าง ฮอ นัมฮง เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้บริหารพรรคที่ใกล้ชิดมาตั้งแต่ ค.ศ.1998 และแทบจะเป็นนักการทูตที่เก๋าที่สุดในภูมิภาคนี้ ส่วน ฮุน มาเนต ลูกชายฮุน เซน ในวัย 40 ก็ได้เป็น 'พลเอก' ตั้งแต่อายุ 42 ถูกวางให้เป็นผู้ 'สืบทอดอำนาจ' ของสมเด็จฮุน เซน หลังจากท่านผู้นำสูงสุดตัดสินใจว่าจะวางมือ ซึ่งยังไม่รู้เมื่อไหร่

ระบบการบัญชาการส่งทอดผ่านไปยังท้องถิ่น ทหาร ตำรวจบ้าน ที่ตกทอดมาจากยุคคอมมูน จงรักภักดีกับท่านผู้นำฮุนเซน ที่อยู่มานาน คุมการเลือกตั้งที่เป็น 'พิธีกรรม' มาโดยตลอดจนอยู่มือ และไม่มีทางที่ผลจะพลิกไปจากการได้ฮุนเซนไปนายกฯ

(2)

แต่การเลือกตั้งวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.2013 นั้น ต่างออกไป พรรคคู่ท้าชิงของฮุน เซน อย่าง CNRP ที่มี สม รังสี ไม้เบื่อไม้เมาตลอดกาลเป็นผู้นำ กระแสแรงกว่าทุกครั้งที่แล้วมา พรรค CNRP นั้นได้เสียงในสภาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 55 เสียง ส่วนพรรค CPP ของฮุน เซน ได้เสียง 68 เสียง ห่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

กระนั้นเอง การเลือกตั้งก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในกัมพูชา เพราะมี 'บัตรผี' คือมีชื่อ 'คนตาย' จำนวนมากถูกยัดใส่ให้เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และในบางเขต ชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก็หายไปจำนวนมาก ฝ่ายค้านรวบรวมตัวเลขแล้วพบว่าอาจหายไปรวมๆ แล้ว 1.2 – 1.3 ล้านคน ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชา ไม่สามารถรวบรวมจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมดได้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ทำให้ CNRP ประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ และนำไปสู่การ 'ลงถนน' ซึ่งมีไม่บ่อยครั้งนักในกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของฮุน เซน ที่แทรกซึมลงไปถึงระดับหมู่บ้าน เป็นต้นว่ามีงบประมาณย่อยๆ ช่วยลงไปถึงหมู่บ้าน หากหมู่บ้านไหนภักดีกับเขา และติดป้ายสนับสนุน ก็จะได้งบเพิ่ม หรือการวางส.ส.ให้ทำงานกับพื้นที่ จับตาดูกลุ่มคนที่ต่อต้านอย่างใกล้ชิด ก็ทำให้เสียงประท้วงไม่เป็นผล

แม้สม รังสี จะเรียกร้องไปยังสหประชาชาติครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่มีผลอะไร สมเด็จฮุน เซน ยังมีอำนาจสูงสุดในกัมพูชาในฐานะรัฐบาล ส่วนฝ่ายค้านนั้นกว่าจะยอมรับผลการเลือกตั้งได้ ก็ต้องผ่านพ้นไปถึง 1 ปี โดยให้ เขม โศกา เป็นตัวแทน CNRP รับตำแหน่งรองประธานสภาฯ

แต่ถึงอย่างนั้นฮุน เซนก็รู้ดีว่าหากปล่อยอย่างนี้ต่อไป

ระบบที่สืบทอดมายาวนานของเขาจะพังไม่เป็นท่า

เพราะระบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จทั่วโลกจำนวนมาก ล้วนถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายผ่านกระบวนการรัฐสภาแทบจะทั้งนั้น เมื่อฝ่ายค้านมีอำนาจต่อรองผ่านสภามากขึ้นเท่าไหร่ ย่อมมีความเป็นไปได้ที่อำนาจของพวกเขาจะเปราะบางมากขึ้น

กระบวนการยุติธรรมจึงถาโถมเข้าใส่คู่แค้นที่ชื่อ สม รังสี

(3)

ข้อหาหลักที่สม รังสี โดนส่วนใหญ่ล้วนเป็นคดี 'หมิ่นประมาท' หลังจากเขากล่าวหาว่า ฮอ นัมฮง รองนายกฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ยุคเขมรแดง สม รังสี ยังโดนกล่าวหาอีกว่า เขาโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นประมาทเฮง สัมริน ประธานสภา จนต้องเข้า-ออกคุกครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะเดียวกัน เขาก็ยังถูกฮุน เซน กล่าวหาว่า 'ขาดคุณสมบัติ' การเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เพราะมีคดีอาญาติดตัว เมื่อคนไม่ใช่ ทำอะไรก็ผิด สม รังสี จึงต้องออกไปจากสารบบการเมืองกัมพูชา ส่งไม้ต่อให้ เขม โศกา สู้กับสมเด็จฮุน เซน ต่อแทน

สม รังสี ออกไปเดินหน้าเรียกร้องให้นานาชาติ มองเห็นความ 'ผิดปกติ' ของระบบการเมืองแบบอำนาจนิยม โกงการเลือกตั้ง และใช้กระบวนการยุติธรรมในการทำลายฝ่ายตรงข้าม จนสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี เริ่มตัดสิทธิ์ทางการค้า - การลงทุน บางอย่างกับรัฐบาลเขมร ส่วนเขม โศกา เดินเกมสภาเพื่อสู้กับฮุน เซนต่อ

แต่ในที่สุดพรรค CPP ของรัฐบาลก็ได้เครื่องมือใหม่ภายใต้กระบวนการนิติบัญญัติ ผ่านการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองที่ให้อำนาจรัฐบาลสามารถยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อ 'ยุบพรรค' ที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ ปลุกระดม หรือพรรคที่ผู้นำพรรคถูกลงโทษในคดีอาญาได้ แน่นอน นี่ไม่ใช่เรื่องอื่น แต่คือความแค้นส่วนตัวล้วนๆ ในฐานะผู้ที่บังอาจมาท้าทาย—ต่อรอง ผู้นำสูงสุดอย่างฮุน เซน

การเลือกตั้งท้องถิ่นใน ค.ศ.2017 กลายเป็นชัยชนะที่แพร่ขยายไปมากขึ้นของ CNRP พรรคฝ่ายค้านได้เสียงรวมเพิ่มขึ้นจาก 30% ในครั้งก่อนหน้า กลายเป็น 46% ส่วนพรรครัฐบาล คงเหลือคะแนนเพียง 51% ต่างจากครั้งก่อนที่ได้ 62%

ทั้งหมดนี้ ไม่เหลือทางเลือกอื่น นอกจากเอากฎหมายพรรคการเมืองที่เพิ่งผ่านสภามาไม่นานนัก จัดการกับพรรคฝ่ายค้านให้เด็ดขาด…

(4)

เดือนกันยายน ค.ศ.2017 เขม โศกา ก็ถูกจับในข้อหา 'กบฏ' เพราะอยู่ภายใต้พล็อตว่าด้วยการจารกรรม วางแผนใต้ดินล้มรัฐบาล และข้อหาสมคบคิดกับต่างชาติ (ที่รู้กันดีว่าหมายความถึงสหรัฐอเมริกา) ในการกระด้างกระเดื่องต่อสมเด็จฮุน เซน ซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 30 ปี ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านอีกจำนวนมาก ยังถูกตั้งข้อหาในแบบเดียวกัน จนต้องหนีออกนอกประเทศหัวซุกหัวซุน จากการ 'กระชับอำนาจ' รอบนี้

หลังจากนั้น 1 เดือน พรรคของสมเด็จฮุน เซน ก็แก้กฎหมายพรรคการเมืองอีกรอบ เพื่อให้นำเก้าอี้ส.ส.ของพรรคที่โดนตัดสิน 'ยุบพรรค' มาเกลี่ยใหม่ให้กับพรรคที่เหลือ นั่นคือพรรคของสมเด็จฮุน เซน

ณ เวลานั้น กระทรวงมหาดไทยของเขมร ได้ยื่นเรื่อง 'ยุบพรรค' CNRP ต่อศาลสูงสุดแล้ว จากคดีที่หัวหน้าพรรคถูกจับกุมในข้อหากบฏ และเป็นภัยต่อความมั่นคง

ฮุน เซน ปราศรัยต่อหน้าคนงานโรงงานทอผ้าในพนมเปญ 1 สัปดาห์ก่อนถูกยุบว่า "ท้าพนันกันได้เลย ถ้าพรรค CNRP ถูกยุบ ผมจะเอาแค่ 1 ส่วน ถ้าไม่ถูกยุบผมจะจ่าย 100 ส่วน” พร้อมกับกล่าวกับพรรคฝ่ายค้านว่า "เรากำลังให้บันไดคุณปีนขึ้น ถ้าคุณไม่เลือกปีน คุณก็จะได้ลงนรก"

ในที่สุดก็เป็นจริง ฮุน เซน ไม่ต้องจ่ายเงินให้กับใครที่เขาพนันด้วย เพราะศาลสูงสุดที่พรรครัฐบาลเป็นผู้ตั้ง ได้ใช้กฎหมายที่รัฐบาลเป็นผู้ร่าง สั่ง ยุบพรรค CNRP ฝ่ายค้านพรรคเดียวของกัมพูชา และตัดสิทธิ์ ส.ส. - ส.ว. อีกกว่า 118 คน โดยห้ามรับตำแหน่งทางการเมืองอีก 5 ปี

แน่นอน ประธานศาลสูงสุดที่สั่งยุบพรรคไม่ใช่ใครอื่น

แต่คือท่าน ดิท มนตรี สมาชิกอาวุโสของพรรค CPP ของสมเด็จฮุนเซน

“คำตัดสินของศาลสูงสุดในวันนี้ไม่ใช่การยุติระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการยับยั้งขัดขวางพวกหัวรุนแรง เพื่อปกป้องประชาชน และประเทศชาติจากการถูกทำลาย” ปลัดกระทรวงมหาดไทยกัมพูชาแถลงข่าว

(5)

การเลือกตั้งไม่กี่เดือนหลังจากนั้น พรรค CPP ของกัมพูชา กลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียวสมบูรณ์แบบ เพราะไม่มีคู่แข่งลงเลือกตั้งด้วย อำนาจของฮุน เซน ยิ่งมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ เพราะทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ กระบวนการนิติบัญญัติ และกระบวนการยุติธรรม อยู่ข้างเขาอย่างเบ็ดเสร็จ และเวลา ก็ดูเหมือนจะอยู่ข้างเขาด้วย การเป็นผู้นำยาวนาน 30 กว่าปี โดยไม่มีคู่ต่อสู้ ทำให้เขาสามารถสร้าง 'คนรุ่นใหม่' ให้ทั้งถอยห่างออกจากการเมืองด้วยความสิ้นหวัง และให้เข้ามาสวามิภักดิ์มากขึ้น เพราะรู้ดีว่าประเทศนี้ ไม่เหลือคนอื่นให้เป็น 'ทางเลือก' อีกแล้ว ส่วนฝ่ายค้านที่เคยต่อสู้กันมายาวนาน หลายคนอยู่ในคุก และอีกหลายคนทำได้แค่เคลื่อนไหวในต่างประเทศ

แม้จะมีผลลบ ก็คือประเทศตะวันตก ตัดสินใจตัดสิทธิ์ทางการค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นอียู แต่ในอีกด้าน ประเทศ 'พี่ใหญ่' ในภูมิภาคนี้ก็ยังทุ่มทุนไปกับการลงทุนในกัมพูชาแบบไม่อั้น เพราะยิ่งรัฐบาลมั่นคงอย่างนี้กลุ่มทุนยิ่งได้ประโยชน์ ขณะที่ประชาคม 'อาเซียน' นั้น ไม่สนใจว่าระบบการปกครองของใครจะเป็นอย่างไร เพราะถึงอย่างไร ก็ยึดหลัก “ไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน”

การเมืองกัมพูชาจึงจะผูกขาดอย่างนี้ต่อไป และจะไม่มีใครต่อรองได้ เพราะระบบไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อต่อรอง เพื่อฟังเสียงประชาชน และระบบนี้ก็ออกแบบมาเพื่อฮุนเซนคนเดียว เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ไม่ได้อยู่ข้างฮุน เซน ก็จะเป็นภัยต่อชาติ เป็นภัยต่อความมั่นคง ต้องถูกกำจัดออกจากสารบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การยุบพรรค จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้สมเด็จฮุน เซน ครองอำนาจเป็นนายกฯ ยาวนานถึง 35 ปีในขณะนี้ และถ้าไม่มีนวัตกรรมใหม่ที่ว่ากันว่าเอาแนวคิดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เก้าอี้ฮุน เซน ก็อาจไม่แข็งขนาดนี้

การเมืองแบบ 'ยุบพรรค' จึงเป็นประโยชน์เสมอ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับใครก็แล้วแต่ ที่ร่วมแชร์ และได้ประโยชน์จากอำนาจนั้นๆ

การยุบพรรคในนามของกระบวนการยุติธรรมจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ในที่สุดแล้วจะแก้ปัญหาการเมืองไม่ได้ แต่อำนาจใดก็แล้วแต่ที่อยู่เบื้องหลังย่อมรู้สึกอุ่นใจที่ได้กำจัดศัตรูในนามของกฎหมาย ไม่ต้องออกแรง ไม่ต้องใช้กำลังมากนัก

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0