โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การเติบโตของ ‘Jirabell’ และความท้าทายใหม่ในฐานะบรรณาธิการบริหาร ‘a day’

The101.world

เผยแพร่ 18 ก.ย 2562 เวลา 15.35 น. • The 101 World
การเติบโตของ ‘Jirabell’ และความท้าทายใหม่ในฐานะบรรณาธิการบริหาร ‘a day’

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

 

อาจไม่ต่างจากคนเจนวายหลายคน หากย้อนไปก่อนหน้านี้ราวๆ สิบปี ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจการเขียน รวมถึงอิทธิพลในความคิดความอ่านจากนิตยสาร a day

ทว่าเมื่อวันเวลาผ่านไป ด้วยปัจจัยทางธุรกิจ หรือมูลเหตุอื่นใดก็ตาม ความเป็น a day ในแบบที่ทำให้วัยรุ่นคนหนึ่งต้องไปเผ้ารอหน้าแผงนิตยสารทุกเดือน กลับค่อยๆ เลือนรางและเบาบางลง เช่นเดียวกับความหนักแน่นของเนื้อหาที่สวนทางกับความหนาของนิตยสาร

วันเวลาผ่านไป นิตยสาร a day ผลัดเปลี่ยนบรรณาธิการไปหลายมือ ท่ามกลางสภาวะเจียนอยู่เจียนไปของสื่อสิ่งพิมพ์ ก่อนจะพบความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการที่หัวเรือใหญ่อย่าง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ประกาศวางมือจาก daypoets แยกทางไปปลุกปั้นสื่อใหม่อย่าง The Standard ในช่วงสองปีที่ผ่านมา

นิตยสาร a day (รวมถึงสื่ออื่นๆ ในเครือ daypoets) ตกอยู่ในสภาวะลุ่มๆ ดอนๆ อยู่สักพัก ก่อนจะเริ่มกลับมาเข้ารูปเข้ารอย ภายใต้การนำของบรรณาธิการรุ่นเก๋าอย่าง นิภา เผ่าศรีเจริญ อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Image ที่สามารถดึงดูดหัวกะทิในแวดวงมาช่วยกันปลุกปั้นสื่อในเครือให้มีน้ำมีนวลอีกครั้ง

ในส่วนของนิตยสาร a day คนที่ได้รับการทาบทามให้เข้ามารับหน้าที่บรรณาธิการบริหารคนล่าสุด คือจิรเดช โอภาสพันธวงศ์ หรือที่นักอ่านรู้จักกันนามปากกา 'Jirabell' ลูกหม้อของ a day ที่บุกเบิกเส้นทางนักเขียน-สื่อมวลชน ด้วยการเป็น a team junior รุ่นที่ 6 ตั้งแต่ราวๆ สิบปีก่อน ก่อนจะได้เข้ามาเป็นฟันเฟืองหลักใน a day ยุคที่ทรงกลด บางยี่ขัน เป็นบรรณาธิการ

ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงผู้บริหาร a day แยกย้ายไปคนละทาง จิรเดชแพคกระเป๋าตามทรงกลดไปก่อตั้งสื่อน้องใหม่อย่าง 'The Cloud' เป็นกระดูกสันหลังในฝั่งคอนเทนต์ รับบททั้งบู๊ทั้งบุ๊นในฐานะบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ ก่อนจะย้ายกลับกุมบังเหียนนิตยสาร a day อีกครั้ง ในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา

ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสสนทนากับจิรเดชในบรรยากาศฉ่ำฝนที่ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ ว่าด้วยการเปลี่ยผ่านครั้งใหญ่ๆ ในชีวิตของเขา นับตั้งแต่การเป็น a team junior เมื่อสิบปีก่อน เรื่อยมาจนถึงบทบาทล่าสุดในฐานะบรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day

ถัดจากนี้คือบางถ้อยคำที่เขาเปิดเปลือยออกมา ทั้งในฐานะ 'จิรเดช โอภาสพันธวงศ์' และ 'Jirabell' สองพาร์ทที่สำคัญต่อชีวิต-การงานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

 

 

ย้อนไปราวๆ 10 ปีที่แล้ว เด็กคนนั้นที่ชื่อเบลล์ มีแรงบันดาลใจอะไร ใฝ่ฝันอะไร ถึงก้าวเข้าไปสมัคร a team junior ณ ตอนนั้น

ตอนนั้นที่เลือกไปฝึกงานก็ง่ายๆ ครับ เรามีความฝันอยากเป็นคนทำนิตยสาร ซึ่งนิตยสารที่เรารู้สึกว่าเราอ่านแล้วอยากเข้าไปร่วมงานด้วย รู้สึกว่ารสนิยมมันตรงกัน ก็คือ a day ความจริงผมเคยสมัคร a team junior ตั้งแต่ตอนรุ่น 5 แล้ว แต่ไม่ติด มาติดรุ่น 6 ก็เลยได้เข้าไปฝึกงานที่นั้น 3 เดือน

จริงๆ การฝึกงานในช่วงมหาลัย มันเป็นการตอบคำถามของตัวเองด้วย คือนอกจากไปฝึกทักษะแล้ว ผมยังใช้การฝึกงานในอีกฟังก์ชั่นนึง คืออยากเช็คตัวเองว่าไอ้ที่เราไปบอกคนอื่นว่าเราอยากทำนิตยสาร มันเป็น fact หรือเป็นการคิดเข้าข้างตัวเองโดยไม่มีอะไรมารองรับเลย เราอยากใช้ช่วงเวลาที่เข้าไปทำเพื่อค้นหาคำตอบนี้ โชคดีที่ช่วงฝึกงาน 3 เดือนนั้น มันให้คำตอบกับเราว่า ถูกต้อง การที่เราคิดว่าอยากทำงานนิตยสาร อยากใช้ชีวิตกับสิ่งนี้ มันถูกต้อง

 

ณ ตอนนั้นที่ยังเป็นนักศึกษา พอไปเจอสนามจริง ต้องผลิตนิตยสารออกมาภายใน 3 เดือน ความยากของมันคืออะไร

ผมว่าทุกคนน่าจะเผชิญเหมือนกัน ไม่ว่าฝึกงานอะไรก็ตาม คือวัยหนุ่มสาวหรือช่วงที่เราเป็นวัยรุ่น มันเป็นช่วงที่เราพลังเยอะ เราอยากทำอะไรมากมาย เรามีไอเดียพลุ่งพล่าน อันนี้เป็นข้อดีมากๆ แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดมากๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนทำนิตยสารหรอก แต่คงเป็นทุกอาชีพ คือทักษะเรามีจำกัด สวนทางกับพลังที่เรามี

ช่วงฝึกงานก็เป็นช่วงที่เราอยากทำโน่นทำนี่เต็มไปหมด แต่ผลงานปลายทางก็อาจไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน งานหลายๆ ชิ้นก็ถูกพี่ตรวจกลับมา แก้กลับมา คงคล้ายกับหลายอาชีพที่พลังกับทักษะมันไม่ไปด้วยกัน

แต่พอมาทุกวันนี้ ทักษะเรามากกว่าตอนนั้นแน่นอน แต่พลัง ความทะเยอทะยาน มันไม่เท่ากับตอนนั้นแล้ว พูดง่ายๆ ว่ามันค่อนข้างสวนทางกัน

 

พอฝึกงานเสร็จ รู้แล้วว่านี่คือทางที่ใช่ คุณไปต่อยังไง สมัครงานที่ไหน

พอเรียนจบแล้วต้องหางาน ตอนนั้น a day ยังไม่เปิดรับคน แต่เราได้คำตอบว่าเราอยากทำงานด้านสื่อ อยากทำงานนิตยสาร ก็ตระเวนสมัครงาน ส่งไปสองที่ คือที่นิตยสาร Positioning แล้วก็ที่ Amarin printing ซึ่งเป็นสื่อที่ใหญ่มาก มีนิตยสารในเครือหลายเล่มมาก คิดว่าคงต้องได้ทำสักเล่มแหละ

ปรากฏว่าสุดท้ายเราได้ทำงานที่อมรินทร์จริง แต่ว่าไม่ได้ทำงานนิตยสาร เราไปอยู่แผนกนึงที่เรียกว่า Amarin publishing service คือแผนกที่รับจ้างทำหนังสือหรือนิตยสารให้หน่วยงานข้างนอก คล้ายๆ เอเจนซี่ที่รับทำสื่อ เราก็ไปอยู่ตรงนั้นในตำแหน่งกองบรรณาธิการ แล้วก็ขยับขึ้นมาเป็นบรรณาธิการเล่ม ทำอยู่เกือบๆ 2 ปี พี่ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน ซึ่งเป็นบรรณาธิการ a day ในช่วงนั้นก็ให้คนในกองติดต่อมา ว่าสนใจจะมาทำงานที่ a day ไหม พอดีมีคนออก เราแทบจะไม่ต้องใช้เวลาตัดสินใจเลย ตอบรับทันที

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ทำงานนิตยสารจริงจัง แล้วก็โชคดีมากที่เป็นสื่อที่เราอยากทำตั้งแต่สมัยเรียน

 

*เนื้อหาในนิตยสาร a day มีหลายพาร์ท หลายรูปแบบ ทั้งบทสัมภาษณ์ สกู๊ป รวมถึงบทความต่างๆ นานา คุณชอบหรือถนัดแบบไหนมากที่สุด *

พอทำไปสักพัก จะมีกิจกรรมนึงที่เราเริ่มจับได้ว่า เฮ้ย มันเป็นสิ่งที่เราชอบ ก็คือการออกไปคุยกับคน การออกไปสัมภาษณ์คน การเสนอชื่อคนที่เราเคยชื่นชอบ ชื่นชม หรือรู้สึกว่าคนคนนี้ควรนำเสนอให้คนรู้จัก ไปนั่งคุยกับเขาแล้วได้ถามสิ่งต่างๆ ได้เอามันมาถ่ายทอดต่อ เรารู้สึกว่ามวลอารมณ์แบบนี้มันดีว่ะ

เราชอบคุยกับคน ชอบออกไปเจอคนใหม่ๆ แล้วการทำสื่อมันให้อภิสิทธิ์บางอย่างในการเข้าถึงคนที่เราไม่สามารถเจอหรือพูดคุยในชีวิตประจำวันทั่วไป ไม่ใช่ว่าใครจู่ๆ เราอยากจะคุยกับใครสักคนนึง แล้วจะสามารถไปนั่งคุย ถามคำถามที่เราสงสัยได้เลย เราชอบโมเมนต์แบบนั้นที่ได้ไปอยู่ตรงนั้น

เรื่องหนึ่งที่ค้นพบจากการทำงานสัมภาษณ์คือ ถึงเราจะบอกว่าเราได้ทำสิ่งที่ชอบ สิ่งที่รักแล้วก็ตาม แต่มันจะมีช่วงเวลาที่เรามีคำถามกับมัน ว่าทำไปทำไม เพื่ออะไร โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ผมรู้สึกว่าอาชีพนี้มันโชคดีอย่างนึง ตรงที่เวลาเรามีคำถามระหว่างทางเหล่านี้ มันจะมีคำตอบโผล่มาเป็นระยะ อาจมาจากการสัมภาษณ์ของเราบางชิ้นที่เราพอใจกับมันมากๆ หรือแค่ผู้อ่านบางคนให้ฟีดแบคอะไรบางอย่างกลับมา หรือว่าได้ไปอยู่ในสถานการณ์หรือบทสนทนาที่กระทบเรามากๆ มันจะมีคำตอบหรือมีเหตุผลที่คอยหล่อเลี้ยงเราอยู่เสมอ ว่าทำไมถึงยังทำงานนี้อยู่

 

พอจะมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมไหม ว่าเจอสถานการณ์อะไร แล้วได้พบคำตอบจากใคร อย่างไร

ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ได้สัมภาษณ์พี่หนึ่ง วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เป็นรุ่นพี่นักเขียนที่วิชาชีพค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก พี่หนึ่งเป็นสื่อมวลชนมาก่อน ทำงานสัมภาษณ์มาอย่างยาวนาน ช่วงนั้นคือช่วงที่ผมทำอยู่ The Cloud ก่อนที่จะมาเป็นบรรณาธิการบริหาร a day เรามีคำถามว่าจะทำงานนี้ไปถึงเมื่อไหร่วะ เพราะผมรู้สึกว่างานในสายอื่น มันจะเห็นเส้นทางเติบโตค่อนข้างชัด ตอนแรกคุณเข้ามาเป็นจูเนียร์ ทำไปเรื่อยๆ คุณก็ได้เลื่อนเป็นซีเนียร์ เป็นหัวหน้าคน หรือเป็นอะไรก็ตาม

แน่นอนว่ามนุษย์คนหนึ่งมันต้องถามหาการเติบโตภายนอก หรือการเติบโตขึ้นไปข้างบนแบบนั้นเหมือนกัน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมคิดเรื่องนี้เยอะ เป็นคำถามที่ติดค้างอยู่ในใจว่าแล้วเราจะไปยังไงต่อ เรากำลังย่ำอยู่กับที่หรือเปล่า ต่อให้คุณทำสัมภาษณ์ หรือทำงานที่ทำอยู่ได้ดีไปเรื่อยๆ ในความหมายนึงมันคือการย่ำอยู่กับที่หรือเปล่า

ตอนนั้นพี่หนึ่งมีหนังสือเล่มใหม่ชื่อ ‘วัยหนุ่ม’ เป็นหนังสือที่รวมงานทั้งชีวิตที่พี่หนึ่งทำมา ผมก็เลยหาโอกาสไปคุยกับแก มีประโยคนึงผมจำแม่นเลย ซึ่งย้อนกลับไปตอบคำถามที่ผมกำลังสงสัยกับตัวเอง พี่หนึ่งบอกผมว่า การเติบโตมันไม่ได้มีอย่างเดียว โอเค การเติบโตมันมีขึ้นข้างบน แต่ก็มีการเติบโตอีกแบบก็คือการหยั่งรากลึกลงไปด้วย ไม่จำเป็นต้องเติบโตไปข้างบนอย่างเดียว เติบโตลงข้างล่างก็ได้ สิ่งนั้นคือการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง

ผมไม่ได้เชื่อพี่หนึ่ง 100% เพราะว่าประสบการณ์ของแต่ละคนก็คงไม่เหมือนกัน แต่ที่แน่ๆ คือมันทำให้ข้อสงสัยบางอย่างได้รับการคลี่คลาย ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าวันหนึ่งผมจะได้มาเป็นบรรณาธิการบริหารด้วยซ้ำ แต่มันทำให้ผมกลับไปทำงานสัมภาษณ์ได้โดยไม่มีคำถามว่านี่คือการย่ำอยู่กับที่หรือเปล่า นี่แหละเป็นความโชคดีอย่างนึงของหน้าที่การงานแบบนี้ มันไม่ใช่การปรับทุกข์ด้วยนะครับ มันคือการถามคำถามบางอย่างที่ไม่รู้ว่าใครจะให้คำตอบนี้ได้ด้วยซ้ำ

 

 

นอกจากงานสัมภาษณ์ งานอีกประเภทที่คุณเขียนอย่างต่อเนื่องเหมือนกัน ก็คืองานความเรียง อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่าเสน่ห์ของงานความเรียงคืออะไร แตกต่างจากการทำสัมภาษณ์ยังไง

ความเรียงจะมีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูงมาก อยู่ข้างในมากๆ ออกมาจากเรา 100ต่างจากงานสัมภาษณ์ ที่เราเป็นแค่สะพานในการเล่าเรื่อง ความเรียงไม่ใช่สะพาน แต่เป็นฝั่ง มันคือเราเลย แล้วผมมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นเหมือนกันที่จะต้องทำงานประเภทนี้ด้วย

ผมว่ามนุษย์มันเรียกร้อง 2 พาร์ทนี้แหละ พาร์ทนึงที่เป็นงานประจำ ที่เราทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้เกิดอิมแพ็คกับคนอื่น แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องการอีกพาร์ทนึงสำหรับสื่อสารสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเราเองด้วย โชคดีที่ผมมีโอกาสทำงานทั้ง 2 พาร์ท อะไรที่มันส่วนตัวมากๆ เป็นเรื่องที่อยู่ในใจเรา ผมจะบอกเล่ามันด้วยความเรียง

 

*นึกถึงคำพูดที่บอกว่า การเขียนก็คือการเยียวยาตัวเองอย่างหนึ่ง พูดได้ไหมว่าการเขียนความเรียงของคุณก็เพื่อเยียวยาตัวเอง *

ใช่ครับ ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเล่มแรกของผม (เราไม่ได้อยู่คนเดียว อยู่คนเดียว) ฟังก์ชันนึงที่ผมใช้ในการเขียนเล่มนี้ ซึ่งคนอื่นอาจไม่รู้ ก็คือผมใช้ในการระบายความรู้สึกผิดบางอย่าง คล้ายๆ สารภาพบาปที่อยู่ในใจ

 

*การพูดถึงหรือเล่าเรื่องส่วนตัวมากๆ มีเส้นแบ่งไหมว่าจะเล่าแค่ไหนยังไง ถ้าถามในมุมคนอ่าน ทำไมเขาถึงต้องมาอ่านเรื่องส่วนตัวของเราด้วย *

สิ่งที่ผมยึดเป็นหลักในการเขียหนังสือส่วนตัวคือเราจะมองหาจุดร่วมอะไรบางอย่างที่ต่อให้คนที่จะมาอ่านสิ่งที่เราเขียนในอนาคต อย่างหนังสือสองเล่มของผม ผมเขียนถึงอี๊ เป็นการสารภาพบาปที่เคยทำกับอี๊ ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อเขียนออกมาให้คนอ่าน แม้เขาจะไม่ได้เป็นคนจีน ไม่ได้มีอี๊ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอี๊แปลว่าอะไร ไม่ได้กินกับข้าวแบบเรา ไม่มีประสบการณ์ร่วมกับเรา แต่เขาต้องรู้สึกอะไรบางอย่าง ต้องเห็นจุดร่วมอะไรบางอย่างจากการอ่านงานของเรา

พอมีหลักแบบนี้ปุ๊บ มันจะไม่ใช่แค่บอกว่าอาหารอร่อย หรืออี๊ประกอบอาชีพอะไร แต่เราพูดไปถึงความรู้สึกเลยว่า เฮ้ย เราไม่ภูมิใจกับผู้ปกครองของเรา ซึ่งผมเชื่อว่ามันมีคนจำนวนนึงที่รู้สึกแบบนี้ เช่น เคยอายที่พ่อแม่พูดไม่ชัด หรือไม่รวยเหมือนบ้านอื่นๆ ทำไมบ้านเราเล็กแล้วคนอื่นบ้านใหญ่

เราพยายามจับจุดทำนองนี้ อย่างน้อยมันต้องที่มีคนที่เคยเจ็บปวดหรือเคยเผชิญเรื่องคล้ายๆ กันแบบนี้แหละ แม้จะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เดียวกันเป๊ะๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวแค่ไหน เราต้องหาจุดนี้ให้เจอ

 

*บทบาทล่าสุดที่คุณได้เข้ามาทำ คือการเป็นบรรณาธิการบริหาร a day จาก 10 ปีที่แล้วที่เข้ามาเป็นเด็กฝึกงาน วันนี้ได้รับโอกาสให้มาเป็นบรรณาธิการบริหาร ตอนถูกชักชวน คุณคิดอะไร ตัดสินใจนานไหม *

หลายคนอาจคิดว่าน่าจะตัดสินใจได้ง่ายๆ เพราะว่าเราก็คุ้นเคยกับ a day อยู่แล้ว แล้วตำแหน่งมันก็เติบโตขึ้น จากบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ที่ The Cloud มาเป็นบรรณาธิการบริหาร a day แต่เอาเข้าจริง เราตัดสินใจค่อนข้างลำบาก ส่วนนึงคืองานที่เราทำอยู่ก่อนหน้านี้ คืองานสัมภาษณ์ที่ The Cloud มันเป็นงานที่เรากำลังทำได้อยู่มือ เรียกว่าทำงานด้วยสัญชาตญาณไปแล้ว

ในแง่นึงมันเป็นคอมฟอร์ทโซนมากๆ ปลอดภัยมากๆ พอได้ข้อเสนอนี้มาว่าสนใจเป็นบรรณาธิการบริหาร a day ไหม มันกลับไม่ง่ายเลย หนึ่งคือต้องทิ้งคอมฟอร์ทโซนนะ แล้วสิ่งที่ต้องเผชิญที่ a day คืออะไร ทุกวันนี้วงการนิตยสารเป็นยังไง ใครๆ ก็รู้ว่ามันไม่ง่าย แล้วการเป็นบรรณาธิการบริหาร ก็เรียกร้องทักษะอีกแบบโดยสิ้นเชิง ซึ่งเราไม่มั่นใจว่าเรามีหรือเปล่า

 

ทักษะที่ว่าคืออะไร บรรณาธิการบริหารต้องทำอะไร รับผิดชอบอะไรบ้าง

หลักๆ เป็นเรื่องของการจัดการ เป็นเรื่องของการทำงานกับมนุษย์มากกว่าต้นฉบับ ถ้าเราเป็นคนเขียน เป็นกองบรรณาธิการ เราก็แค่ออกไปสัมภาษณ์ กลับมาเขียน แล้วก็ตีพิมพ์ จบ แต่บรรณาธิการต้องเห็นภาพรวม เราจะพานิตยสารไปทางไหน ซึ่งมีหลายพาร์ท ทั้งพาร์ทธุรกิจ พาร์ทคุณภาพ ยังไม่นับพาร์ทมนุษย์ น้องๆ แต่ละคนกินอยู่กันยังไง ใครมีปัญหาตรงไหน มีความทุกข์ร้อนอะไร

โชคดีมากที่ได้คุยกับ พี่หมี-นิภา เผ่าศรีเจริญ เป็นผู้บริหารใหญ่ของเครือ a day คนปัจจุบัน ตอนนั้นผมบอกพี่หมีว่า ผมขอเวลาคิดนิดนึงนะ เพราะการต้องออกจาก The Cloud มาที่นี่มันคือการ มันเสี่ยง มันคือการออกจากคอมฟอร์ทโซน มันเสี่ยง แล้วพี่หมีพูดมาประโยคนึง ซึ่งย่นระยะเวลาในการตัดสินใจได้เยอะเลย

 

พูดว่า ?

จะเอาเท่าไหร่ว่ามา (หัวเราะ) ไม่ใช่ ล้อเล่นครับ พี่หมีบอกว่า ก็จริง การย้ายกลับมาทำตำแหน่งนี้มันเสี่ยง การออกจากคอมฟอร์ทโซนมันเสี่ยง แต่เบลล์อย่าคิดว่าการอยู่กับที่มันไม่เสี่ยง โห นี่คือประโยคที่พลิกวิธีคิดเราเลย ปกติเรามักจะคิดว่าการออกจากคอมฟอร์ทโซนคือความเสี่ยง แต่อาจลืมนึกว่าการอยู่กับที่ไปนานๆ ก็เป็นความเสี่ยงในอีกรูปแบบเหมือนกัน

ประโยคของพี่หมีทำให้เรากลับมาทบทวนว่า เออว่ะ การอยู่กับที่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่เสี่ยง มันต้องแลกกับอะไรบางอย่างเหมือนกัน ก็เลยรู้สึกว่าความเสี่ยงไม่ใช่ตัวแปรสำคัญแล้ว พอเลิกกลัว เราก็ลองคิดถึงมิติอื่นๆ ว่สมีอะไรบ้าง ก็พบว่ามีสิ่งนึงที่ดึงดูดเรามากๆ ก็คือการเติบโต

ฟังเผินๆ อาจคิดว่าเป็นเรื่องตำแหน่ง แต่ไม่ใช่ ถ้ายึดแค่ตำแหน่ง สมมติวันนี้ลาออกมันก็หายไปแล้ว แต่เรารู้สึกว่า ถ้าเราย้ายหรือลองไปเผชิญสิ่งที่ไม่คุ้นชิน มันจะทำให้เราเติบโตข้างใน เรามั่นใจมากว่าถ้าไปแล้วจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้แน่ๆ ถ้าอยู่ที่เดิม

พอตั้งสมมติฐานแบบนี้ ก็ตัดสินใจง่ายเลยครับ คือการทำงานแบบเดิม ที่เดิม เรารู้แล้วว่ามันประมาณไหน แต่ดินแดนใหม่ งานใหม่ สิ่งที่เราจะเจอใหม่ๆ เรายังไม่รู้ แล้วเราก็คิดต่อไปว่า ถ้าวันนึงเราอยากทำอะไรเป็นของตัวเองในวงการนี้ การออกมาทำงานนี้ก็น่าจะได้เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญและจำเป็นแน่ๆ มันจะให้ไบเบิ้ลกับเราบางอย่างแน่ๆ

 

 

แล้วพอถึงเวลาจริงๆ อย่างที่ทุกคนรู้ว่าสิ่งพิมพ์หรือนิตยสารก็พากันล้มหายตายจากกันไปเป็นจำนวนมากแล้ว คุณประเมินสถานการณ์ยังไง จะพา a day ในทิศทางไหนในช่วงเวลาถัดจากนี้

จริงๆ มันเป็นปัญหาโลกแตกมากเลย ว่าสิ่งพิมพ์อยู่รอดยังไงในยุคนี้ ถ้าลองไป search ในอินเทอร์เน็ต มันก็มีคำตอบบางอย่างที่หลายๆ นิตยสารพยายามทำอยู่ เพียงสำหรับผม ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้มีคำตอบเดียว ไม่งั้นป่านนี้ทุกนิตยสารคงอยู่รอดหมด

ผมค้นพบว่ามันเป็นเรื่องของการปรับตัวไปเรื่อยๆ สิ่งที่สำคัญมากคือทุกวันนี้เราไม่ได้ยึดติดกับตัวนิตยสารอย่างเดียวแล้ว ทุกวันนี้เวลาเราไปขายงาน หรือเวลาบอกใครว่า a day คืออะไร เราแทบไม่บอกแล้วว่า a day คือนิตยสาร แต่ a day คือแบรนด์ๆ นึง เป็นสื่อๆ นึง ที่มีเครื่องมือมากมาย นิตยสารเป็นเครื่องมือนึงเท่านั้น เวลาเราอยากเล่าเรื่องอะไร ก็เลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับ message หรือเรื่องราวที่เราจะเล่า

พอเราไม่ยึดติดกับความเป็นนิตยสารแล้ว ถึงวันหนึ่ง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีมัน ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เราปรับตัวไปกับพฤติกรรมคนอ่าน เพียงแต่ในวันที่ยังมีนิตยสารที่เป็นตัวเล่มอยู่ คำถามที่เราคุยกันในทีมคือ ฟังก์ชันของมันคืออะไร มีเพื่อตอบวัตถุประสงค์อะไร พอได้คำตอบปุ๊บ ก็ต้องกลับไปตอบอีกคำถามนึงคือ แล้วมันจะอยู่รอดได้ยังไง

 

เท่าที่ดูตอนนี้ a day มีอยู่สองเครื่องมือหลัก คือนิตยสาร a day อย่างที่เราคุ้นเคยกัน อีกอย่างก็คือเว็บไซต์ รวมถึงโซเชียลมีเดีย อยากให้ลงรายละเอียดนิดนึงว่า แต่ละอย่างมีไว้เพื่ออะไร ฟังก์ชั่นต่างกันยังไง

ถ้าจะตอบง่ายๆ ก็เพื่อรองรับเนื้อหา 2 แบบ อันไหนเหมาะกับนิตยสารก็ไปลงนิตยสาร อันไหนเหมาะกับออนไลน์ก็ลงออนไลน์ แต่สำหรับผมในฐานะคนที่ไม่ได้ดูแค่เนื้อหาอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการอยู่รอดด้วย ผมมองเป็น 2 มิติ คือพาร์ทของเนื้อหา กับพาร์ทที่เป็นธุรกิจด้วย

ในพาร์ทเนื้อหา ผมพบว่าฟังก์ชันของตัวนิตยสารมันเปลี่ยนไปจากยุคสมัยที่มันรุ่งเรือง ถามว่ายุคสมัยนั้นทำไมมันรุ่งเรือง ก็เพราะมันไม่มีสื่อที่ทำหน้าที่เดียวกับนิตยสารแบบเป๊ะๆ เราจะรู้ได้ไงว่าหนังอินดี้เรื่องใหม่ที่กำลังจะเข้าคืออะไร อัลบั้มเพลงอินดี้มีศิลปินใหม่หรือเพลงใหม่ออกมา เราจะรู้ได้จากไหน นี่คือฟังก์ชันหนึ่งของนิตยสาร a day ในสมัยก่อน คือรายงานเรื่องที่สื่อกระแสหลักไม่รายงาน

นอกจากการอ่านเนื้อหาหลักที่เป็นบทสัมภาษณ์ หรืออะไรก็ตาม เรายังใช้มันเพื่ออัพเดตตัวเองด้วย แต่ทุกวันนี้เป็นยังไงครับ เราอัพเดตเรื่องพวกนี้ผ่านเฟซบุ๊ก ผ่านโซเชียลมีเดีย หมายความว่าฟังก์ชันนี้มันใช้ไม่ได้แล้ว ฉะนั้นอะไรที่มัน current มากๆ หรือเป็นเรื่องอัพเดตต่างๆ ก็เอามันไปไว้ในออนไลน์ พูดง่ายๆ ว่าอะไรที่มันรับใช้ความเร็ว เราจับไปอยู่ในโลกออนไลน์ให้หมด

แต่อีกมุมหนึ่ง เราก็ค้นพบว่ามันมีเนื้อหาบางประเภทจริงๆ ที่ไม่สามารถอยู่ในออนไลน์ได้ ทุกวันนี้ถ้าเปิดนืตยสาร a day ดู จะไม่มีเรื่องที่เป็นเชิงอัพเดทแล้ว แต่จะพูดถึงเรื่องใหญ่ๆ เรื่องเดียวทั้งเล่ม ขณะเดียวกันเราก็อยากให้เนื้อหามันไร้กาลเวลา คำว่าไร้กาลเวลาในที่นี่ก็คือมันไม่หมดอายุภายในสัปดาห์ หรือเดือนสองเดือน ผมเชื่อว่าอีกประมาณห้าเดือน หกเดือน หรืออีกปีนึง กลับมาอ่าน a day เล่มที่ทำเรื่องไทเป ก็น่าจะยังใช้งานได้หรือมีประโยชน์อะไรบางอย่างกับผู้อ่านอยู่

การทำนิตยสารทุกวันนี้ผมทำด้วยความเชื่อว่าอยากให้มันมีอายุยาวขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบโจทย์ในมุมธุรกิจด้วย พูดง่ายๆ เวลาคนจะซื้อ เขาสามารถซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ แทนที่มันจะหมดอายุภายในเดือนเดียว ขายไม่หมดก็ต้องทำลาย แต่ถ้ามันมีอายุยาวขึ้น คุณจะอ่านเมื่อไหร่ ซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ ในแง่นึงผมพยายามทำให้ a day มันไร้กาลเวลาขึ้น

ส่วนวิธีเลือกเนื้อหาก็ง่ายๆ ครับ อะไรที่เรารู้สึกว่ามันจะอิ่ม เมื่อมาอยู่รวมกันในเล่มเดียวกัน ไม่สามารถเล่าภายในบทความเดียวให้มีอิมแพ็คได้ แต่จำเป็นต้องใช้ภาพถ่าย กราฟฟิก หรืองานเขียนหลายๆ ชิ้นมาประกอบกันในการเล่าเรื่อง

 

พอทำเนื้อหาเต็มๆ แบบนี้ มันอยู่ได้นาน อ่านได้ยาวก็จริง แต่สังเกตว่าแทบไม่มีโฆษณาเลย ซึ่งต่างจาก a day ในยุคหนึ่งพอสมควร คำถามคือในทางธุรกิจ มันอยู่ได้ไง

ถ้าพูดอย่างรวบรัด โครงสร้างนิตยสารไทยสมัยก่อนมันไปฝากไว้กับโฆษณา เวลาเราอ่านพวกนิตยสารผู้หญิง หรือ a day สมัยก่อนก็ตาม ที่มีโฆษณาเยอะๆ สิ่งนี้แหละคือสิ่งที่มาทดแทนส่วนต่าง มาหล่อเลี้ยงรายได้ บางเล่มต้นทุน 150-160 บาท เขาขาย 100 เดียว คุณจะอยู่ได้ยังไงถ้าไม่มีโฆษณา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้คือ เมื่อพฤติกรรมผู้อ่านเปลี่ยน พฤติกรรมการซื้อโฆษณาก็เปลี่ยน เงินมันถูกย้ายไปโลกออนไลน์ แทบไม่มีใครมาซื้อ ad ลงนิตยสารแล้ว

ในเมื่อคนลงโฆษณากับนิตยสารลดลง เราจะหาเงินหล่อเลี้ยงจากไหน ยังไง นี่เป็นที่มาของการที่เราพยายามเพิ่มช่องทางอื่นๆ หาเครื่องมือใหม่ในการเล่าเรื่อง รวมถึงการขายโษณา เว็บไซต์ a day จึงเกิดขึ้น เพจ a day จึงเกิดขึ้น ช่องยูทูป a day จึงเกิดขึ้น เพราะเรารู้ว่าเม็ดเงินมันไปอยู่ตรงนั้น

ทีนี้พอทำไปสักระยะ มันก็กลับไปตอบคำถามว่าทำไมจึงยังต้องมีนิตยสารอยู่ ในฟังก์ชันนึงเราอยากใช้แม็กกาซีนในการเปิดประเด็นบางอย่าง เช่มเล่ม working culture ที่พูดถึงวัฒนธรรมองค์กรทั้งหลาย นอกจากตัวมันเองจะเป็นเนื้อหาที่คนอ่านได้ประโยชน์จากมันแล้ว สุดท้ายแล้วไอ้คำว่า working culture มันจะกลายเป็นอะไรบางอย่างที่เราเอาไปต่อยอดทางธุรกิจได้ อาจกลายเป็นรายการ podcast ก็ได้ หรือกลายเป็นรายการในยูทูปก็ได้ แต่ถ้าเราไม่มีตัวนิตยสาร ถ้าอยู่ดีๆ จะเปิดประเด็นอะไรบางอย่าง พลังมันอาจจะน้อยกว่า

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมค้นพบเมื่อไม่นานนี้คือ ออนไลน์มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างคัดสรรเฉพาะที่สิ่งเราอยากอ่านเท่านั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราเลื่อนหน้าฟีดส์ แล้วคุณเจอบทความที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ชอบ คุณจะข้ามไปเลยถูกไหม ในแง่นึงมันคือการเลือกสิ่งที่เราชอบ แล้วก็เห็นอยู่มุมเดียว

แต่เวลาเราอ่านนิตยสาร ในฐานะคนทำ เราไม่เล่ามันมุมเดียวอยู่แล้ว เวลาจะเล่าเรื่องนึงเราก็ต้องเล่าหลายๆ มุม ไม่ว่ามุมบวก มุมลบ มุมแย่ มุมดี เมื่อคุณซื้อนิตยสารไปอ่าน มันเหมือนบังคับกลายๆ ว่าเรามีทั้งก้อนนี้ ซึ่งถูกจัดระเบียบโดยการวางโครงเรื่องหรืออะไรก็ตามโดยคนทำ ทำให้เราได้รับรู้ความหลากหลายไปโดยไม่รู้ตัว

 

ถัดจากนี้ คุณวางแผนจะนำพา a day ไปในทิศทางไหน

ผมว่า a day มีแบรนดิ้งชัดเจนอยู่แล้วว่ามันพูดเรื่องอะไร พูดง่ายๆ คือสนใจวงการสร้างสรรค์และนำเสนอเรื่องเล่าที่เป็นแรงบันดาลใจ สิ่งที่ผมและทีมอยากเพิ่มเข้ามาคือ เรามองมันเป็น hub เป็นศูนย์รวมของวงการสร้างสรรค์ และศูนย์รวมของคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นสิ่งที่ a day ทำมาตลอดในยุคที่เราเติบโตมา

เวลาเรานึกอะไรไม่ออก หรืออยากหาอะไรบางอย่างที่เป็นที่พึ่งของเรา อย่างผมเองก็นึกถึง a day พอถึงวันนี้เราได้เข้ามาทำ เราก็อยากกลับไปทำหน้าที่นั้นอีกรอบหนึ่ง คือเมื่อมีคำถามอะไรบางอย่าง เมื่ออยากหาอะไรบางอย่าง ก็มาหาที่ a day แล้วมันจะมีคำตอบนั้นให้เขา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0