โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

การศึกษา/ ร.ร.-มหาวิทยาลัยเอกชน...หนีตาย ปรับกลยุทธ์-เปิดศึกชิง 'น.ร.-น.ศ.'

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 23 มิ.ย. 2561 เวลา 10.30 น.
ศึกษา

การศึกษา

ร.ร.-มหาวิทยาลัยเอกชน…หนีตาย

ปรับกลยุทธ์-เปิดศึกชิง ‘น.ร.-น.ศ.’

 

ปัญหาประชากรในวัยเรียนลดลง ได้ส่งผลกระทบต่อสถานศึกษาเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แต่ดูเหมือนปีนี้จะมองเห็นผลกระทบได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เพราะไม่ได้กระทบเพียงแค่สถานศึกษาเอกชนเท่านั้น แต่รวมถึงสถานศึกษาของรัฐ ทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น

เพียงแต่จะกระทบมาก หรือกระเทือนน้อยเท่านั้น

สาเหตุก็เนื่องจากจำนวนประชากรที่เกิดในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาลดน้อยลง เมื่อจำนวนเด็กเกิดน้อยลง เด็กที่เข้าสู่ระบบโรงเรียนจึงลดลงตามไปด้วย

จะเห็นจากตัวเลขในอดีต เมื่อครั้งยังมีเด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียนจำนวนมาก มีนักเรียนที่จบชั้น ม.6 มากกว่า 1 ล้านคน ทำให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และทบวงมหาวิทยาลัยในอดีต มีนโยบายให้ภาคเอกชนก่อตั้งโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาของรัฐที่ไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง

ทำให้โรงเรียนเอกชนและมหาวิทยาลัยเอกชนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในช่วงเวลานั้น

แต่เมื่อประชากรเด็กลดลง โรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจึงได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะสถานศึกษาขนาดไม่ใหญ่นัก ไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก หรือเพิ่งจัดตั้งได้ไม่นาน หรือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด

 

เริ่มจากโรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่ปัจจุบันจำนวนนักเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดกลางหรือขนาดเล็กที่ไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากนัก

การ “แย่งชิง” เด็กระหว่างโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชนจึงเกิดขึ้น

ในช่วงของการเปิดภาคเรียนที่ 1/2561 ที่ผ่านมา ยังเกิดปรากฏการณ์ที่ “นักเรียน” ในโรงเรียนเอกชนทยอย “ลาออก” ตั้งแต่วันแรกที่เปิดเรียน และยังคงลาออกไปเรื่อยๆ ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 3 ของการเปิดเรียน

ซึ่งสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ประเมินว่ามีนักเรียนหลายพันคนที่ลาออกเพื่อไปเข้าเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แทน

เนื่องมาจากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ให้โรงเรียนสังกัด สพฐ.ยืดหยุ่นจำนวนรับต่อห้องเรียน โดยโรงเรียนสามารถขยายจำนวนนักเรียนต่อห้องได้มากกว่า 40 คน หรืออาจขยายจำนวนห้องเรียนเพิ่มได้อีก

ทำให้วิกฤตนักเรียนในโรงเรียนเอกชนที่ว่าน้อยอยู่แล้วยิ่งน้อยลงไปอีก

 

“นายศุภเสฏฐ์ คณากูล” นายก ส.ปส.กช. กล่าวว่า โรงเรียนเอกชนสังกัด สช. ได้รับผลกระทบหนักมาก เพราะแม้จะเปิดภาคเรียนแล้ว แต่มีนักเรียนลาออกพร้อมกันถึง 50 คนในวันเดียว แค่ยอดรวมสัปดาห์แรก มีเด็กลาออกกว่า 4,000 คน

ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อการ “เลิกจ้าง” ครูในโรงเรียนเอกชนอีกด้วย

แต่ผลกระทบที่น่าจะรุนแรงที่สุดที่คาดการณ์คือ อาจถึงขั้นที่โรงเรียนเอกชนหลายแห่งต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กที่สู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากปัญหาเหล่านี้และเกิดศึก “ชิง” เด็ก ระหว่างโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชนแล้ว

สิ่งที่คาดไม่ถึงอีกประการคือ “ผู้บริหาร” โรงเรียน ถึงขั้น “ไม่มองหน้า” กัน

ทำให้บรรยากาศของความร่วมมือระหว่างโรงเรียนหดหาย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต

 

“นายณัฐวุฒิ ภารพบ” ผู้อำนวยการโรงเรียนอำมาตย์พิทยานุสรณ์ จ.นครศรีธรรมราช และนายกสมาคมการศึกษาเอกชนนครศรีธรรมราช ระบุว่า นักเรียนเอกชนถูกดูดไปจากโรงเรียนรัฐรอบด้าน จากนโยบายของ สพฐ. ผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนและผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐใน จ.นครศรีธรรมราช ไม่มองหน้ากันแล้ว เพราะมัวแต่แย่งเด็กกัน ทำให้ขาดความสามัคคีในหมู่คณะ บรรยากาศความร่วมมือระหว่างโรงเรียนก็เสียหาย

“รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อเรื่องนี้เลย โรงเรียนเอกชนเป็นผู้ถูกกระทำมาตลอด แต่ขออย่างเดียวคืออย่าลิดรอนสิทธิโรงเรียนเอกชนมากเกินไป”

ทั้งนี้ สิ่งที่โรงเรียนเอกชนเรียกร้องเพื่อให้ผู้บริหาร ศธ. และ สช. แก้ปัญหาเบื้องต้นคือ อยากให้รัฐอุดหนุนเงินรายหัวค่าอาหารกลางวัน 100% เต็ม จากเดิมที่อุดหนุน 100% แค่ 4 แสนคน และอุดหนุน 28% อยู่ 1.6 ล้านคน

โดยเชื่อว่าโรงเรียนเอกชนจะพยุงตัวเองได้และลดภาระของผู้ปกครอง เพราะบางส่วนไม่มีกำลังจ่าย

คงต้องติดตามว่าการพบปะกันของ ส.ปส.กช. และสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อรับฟังปัญหาที่โรงเรียนเอกชนกำลังเผชิญอยู่

จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร!!

 

ในระดับอุดมศึกษา ใช่ว่าจะไร้ปัญหานิสิตนักศึกษาลดลง หรือไม่มีการแย่งชิงนิสิตนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชน

ซึ่งปีนี้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ปรับเปลี่ยนระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษามาเป็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส

โดยรวบรวมระบบการคัดเลือกรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบรับตรง โควต้า การคัดเลือกนิสิตนักศึกษาของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) ระบบแอดมิสชั่นส์ เป็นต้น และจัดระเบียบใหม่ โดยแบ่งการคัดเลือกออกเป็น 5 รอบ

ซึ่งแต่ละรอบจะเปิดรับจำนวนมาก แต่จำนวนที่รับได้จริง กลับน้อยกว่าที่ประกาศไว้

ที่เห็นได้ชัดเจนคือทีแคส รอบที่ 3 ระบบรับตรงร่วม ที่ประกาศรับรวมกว่า 1 แสนที่นั่ง แต่มีผู้ยืนยันสิทธิทีแคสรอบ 3/1 และรอบ 3/2 รวม 5 หมื่นกว่าคนเท่านั้น

ขณะที่ทีแคสรอบที่ 4 ระบบแอดมิสชั่นส์ที่อยู่ระหว่างรับสมัคร มีจำนวนรับรวมกว่า 83,000 ที่นั่ง แต่มีผู้ลงทะเบียนสมัครเพียง 5 หมื่นกว่าราย ซึ่งไม่เต็มตามจำนวนที่ประกาศรับเช่นกัน

และคาดว่าทีแคสรอบสุดท้าย ในรอบที่ 5 สถาบันอุดมศึกษาน่าจะเปิดรับผู้ที่ยังไม่มีที่เรียนทั้งหมด แต่ถึงกระนั้นก็น่าจะยังมีที่นั่งว่างในมหาวิทยาลัยเหลืออีกจำนวนมาก

เพราะเดิมมีนักเรียนที่จบชั้น ม.6 มากกว่า 1 ล้านคน ทำให้เกิดการแย่งที่นั่งในมหาวิทยาลัย

แต่เมื่อประชากรเกิดน้อยลง ปัจจุบันมีนักเรียนที่จบชั้น ม.6 ลดลงเหลือประมาณ 5 แสนคนเท่านั้น

ทำให้จำนวนผู้ที่เข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาเหลือเพียง 3 แสนคน

สวนทางกับการขยายตัวของมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น

ปฏิบัติการ “แย่ง” นักเรียนและนิสิตนักศึกษาจึงเกิดขึ้น!!

ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งต้องปิดตัวหรือควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอด และดูเหมือนมหาวิทยาลัยรัฐเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

“นายพรชัย มงคลวนิช” อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ยอมรับว่าปัญหานักศึกษาลดลงเป็นเรื่องจริง วิธีที่ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนอยู่รอดได้คือต้องปรับหลักสูตรให้ทันสมัย หรือจะเพิ่มคุณค่าหลักสูตรอย่างไร เพราะนักศึกษาต้องการเรียนที่หลักสูตรที่แตกต่างกัน ดังนั้น จะปรับเพื่อสนองความต้องการของนักศึกษาอย่างไร

ซึ่งเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่มหาวิทยาลัยเอกชนต้องหา “ทางออก” เพราะหากปรับตัวไม่ได้ ก็มีแนวโน้มสูงว่าอาจต้องปิดตัวลงเช่นกัน!!

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0