โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

การรัฐประหารตนเองเป็นไปได้หรือไม่? - ประจักษ์ ก้องกีรติ

THINK TODAY

เผยแพร่ 09 ก.ค. 2562 เวลา 11.00 น.

ภายใต้สภาวะฝุ่นตลบเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล โผคณะรัฐมนตรี และความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ก็มีกระแสข่าวพาดหัวเรื่องการรัฐประหารแทรกซ้อนเข้ามาอย่างร้อนแรง

ประเด็นเรื่องการรัฐประหารร้อนแรงขึ้นมาเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกสารถึงสาธารณชน ระบุถึงความไม่สบายใจกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้งในฝากฝั่งพรรคร่วม

รัฐบาล โดยระบุตอนหนึ่งในสารดังกล่าวว่า หวังว่าทุกอย่างจะเดินหน้าและความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลจะจบลงโดยเรียบร้อย “…เพื่อมิให้การดำเนินการทางการเมืองกลับไปเป็นปัญหาเช่นเดิม จนต้องเกิดการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ที่ทุกคนไม่ต้องการขึ้นมาอีก”  

ประโยคดังกล่าวนี้เองที่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เพราะคำว่า “การแก้ปัญหาแบบเดิมๆ” ดังกล่าวถูกนักสังเกตการณ์และสื่อถอดรหัสความหมายว่าหมายถึงการรัฐประหารยึดอำนาจนั่นเอง จนทำให้เกิดการวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าประเทศเพิ่งมีการเลือกตั้งได้ไม่นาน หลังจากว่างเว้นไม่มีการเลือกตั้งถึง 5 ปี 

และนายกฯ เองก็เพิ่งได้รับตำแหน่ง การออกมาพูดขู่ในทำนองนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีนัก โดยเฉพาะต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นใจของต่างชาติในประเด็นเสถียรภาพและทิศทางของประเทศ 

คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้ามีการรัฐประหารเกิดขึ้น จะเป็นการรัฐประหารล้มรัฐบาลของใคร และยึดอำนาจจากใคร? ในเมื่อพล.อ.ประยุทธ์เองเป็นผู้มีอำนาจและเป็นผู้นำฝ่ายบริหารอยู่ในปัจจุบัน หากวิเคราะห์ตามสถานการณ์ปัจจุบัน สมมติว่าหากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น การรัฐประหารดังกล่าวจะเข้าข่าย “การรัฐประหารตนเอง” คือ ล้ม

รัฐบาลของตนเองและยึดอำนาจจากตนเอง เพื่อรื้อกระดานและจัดระเบียบอำนาจการเมืองเสียใหม่ โดยพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นผู้ครองอำนาจรัฐอยู่ แต่สภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ ที่อยู่ในสนามการเมืองปัจจุบันอาจจะอันตรธานหายไป หลายคนฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่าไม่น่าเป็นไปได้ และเป็นเรื่องที่ฟังดูพิกลโดยแท้ 

แต่ความพิกลทางการเมืองในลักษณะ “การรัฐประหารตนเอง” เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเมืองไทย  

ในปี พ.ศ. 2514 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน จอมพลถนอม กิตติขจร นายกฯ ณ เวลานั้น ซึ่งควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และหัวหน้าพรรคสหประชาไทยอยู่ด้วย ได้ตั้งตนเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ตัดสินใจทำการรัฐประหาร ล้มรัฐบาลที่ตนเองเป็นผู้นำ! โดยเมื่อยึดอำนาจสำเร็จได้ออกคำสั่งคณะปฏิวัติหลายฉบับ 

ที่สำคัญที่สุดคือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 (ที่คณะกรรมการที่ตั้งโดยรัฐบาลทหารของจอมพลถนอมเป็นผู้ร่างขึ้นเอง) ยกเลิกพรรคการเมือง ยุบสภาผู้แทนราษฎร สั่งให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง และห้ามประชาชนชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป 

โดยตั้งให้มีกองบัญชาการคณะปฏิวัติ นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทหารและพลเรือน และเป็นผู้รักษาสถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร  

จอมพลถนอมอ้างว่าที่ต้องยึดอำนาจเพราะประเทศมีสถานการณ์วุ่นวาย และการดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญและรัฐสภาไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องรวบอำนาจเพื่อแก้ไขสถานการณ์โดยเฉียบพลันและเด็ดขาด 

การรัฐประหารตนเองครั้งนี้ นำไปสู่กระแสความไม่พอใจของประชาชนอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ผิดหวังกับภาวะถดถอยทางการเมือง และภาวะที่ประเทศต้องกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมของกองทัพโดยปราศจากสิทธิเสรีภาพและรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง 

หลังจากนักศึกษาประชาชนพอมีความหวังอยู่บ้างจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ซึ่งใช้เวลาร่างอยู่นานถึง 10 ปี)และการเปิดให้มีการเลือกตั้งในปี 2512 การที่อยู่ดีๆ พื้นที่ทางการเมืองที่กำลังเริ่มเปิดขึ้นมาบ้างถูกปิดลงอีกครั้ง รัฐสภาที่ประชาชนเพิ่งเลือกมาถูกยุบเลิก และความหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปในทางที่ดีขึ้นถูกดับลงเสียสนิท 

ทำให้เกิดความผิดหวังอย่างรุนแรง และการรัฐประหารตนเองในปี 2514 นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้นักศึกษาและประชาชนรวมกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย จนนำไปสู่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ ในอีก 2 ปีให้หลัง ที่ประชาชนเรือนแสนลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร และคณะปฏิวัติ จนต้องสูญเสียอำนาจและออกนอกประเทศไปในท้ายที่สุด 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้จอมพลถนอม ยึดอำนาจจากตนเอง ก็เพราะคุมสถานการณ์ในสภาไม่อยู่ โดยเฉพาะบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอมเอง เพราะสมาชิกพรรคและผู้แทนราษฎรฝั่งรัฐบาลแย่งชิงตำแหน่งและเรียกร้องผลประโยชน์ต่างๆ กันอย่างดุเดือด 

นายกฯ ถนอมซึ่งขณะนั้นเพิ่งเปลี่ยนสถานะจากผู้นำรัฐบาลทหารมาเป็นผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง (โดยพรรคสหประชาไทยที่กองทัพสนับสนุนชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1) ไม่คุ้นชินกับการบริหารจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในสภา ไม่คุ้นชินกับการทำงานกับพรรคการเมืองและผู้แทนราษฎร เพราะต้องคอยตอบคำถามและ

ถูกซักฟอกจากฝ่ายค้าน และไม่พอใจสภาวะที่ตนเองมีอำนาจจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ใช้อำนาจไม่ถนัดมือตามใจชอบเหมือนสมัยเป็นนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหารที่มีมาตรา 17 ที่ให้อำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ และแต่งตั้งสมาชิกสภาเองกับมือทั้งหมด สามารถชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ได้ 

สรุปได้ว่า การรัฐประหารตนเองเกิดขึ้นเพราะจอมพลถนอมไม่ชอบการถูกตรวจสอบและอภิปรายคัดค้านในสภา เป็นสาเหตุสำคัญ จึงกระทำการยึดอำนาจจากนายกฯ ถนอม (ที่เป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง) กลับไปเป็นจอมพลถนอม (ที่เป็นนายกฯ จากการรัฐประหาร) อีกครั้งหนึ่ง 

ฉะนั้น หากถามว่าสิ่งที่เรียกว่า “การรัฐประหารตนเอง” มีอยู่จริงและเป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้ และเคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกหรือไม่ คำถามนี้คงไม่มีใครสามารถตอบได้อย่างแน่ชัดและมั่นใจ  

แต่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่คงภาวนาขอให้ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0