โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดสำหรับผู้ป่วยโควิด-19

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 01 มิ.ย. 2563 เวลา 12.51 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2563 เวลา 12.49 น.
26-2การฟื้นฟู

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย อ.นพ.เตชิต จิระวิชิตชัย

หมายเหตุ : อ.นพ.เตชิต จิระวิชิตชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยนั้นมีผลทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ Novel Coronavirus 2019 (SARS-CoV-2)

การจัดระดับความรุนแรงของผู้ป่วยโควิด-19 โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แบ่งผู้ป่วยเป็น 4 กลุ่ม 5 ความรุนแรง ได้แก่ 1.ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ 2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และไม่มีความเสี่ยงสำคัญ 3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีความเสี่ยงสำคัญ 4.ผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบ ซึ่งแบ่งเป็นแบบไม่รุนแรง และแบบรุนแรง

การออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายเหมาะสมกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง ยกเว้นผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบแบบรุนแรง หากไม่สามารถขจัดเสมหะเองได้ อาจต้องการการทำกายภาพ
บำบัดทรวงอกข้างเตียง โดยพิจารณาจากประโยชน์และความเสี่ยงอีกครั้ง

ในกรณีมีความเสี่ยงสำคัญ เช่น อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคปอด ไต หรือหัวใจเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคตับแข็ง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากการออกกำลังกายตามโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เดิมด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยตนเอง

เนื่องจากการเป็นโควิด-19 มักส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก อาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาหายใจลำบาก รวมถึงมีเสมหะมากขึ้น ผู้ป่วยจึงควรทำการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด เพื่อลดอาการเหนื่อยและหายใจลำบาก เพื่อเพิ่มความสามารถในการหายใจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยในการขับเสมหะ (ถ้ามี) และเพื่อป้องกันการเกิดภาวะปอดแฟบ

การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดสามารถทำได้ตามขั้นตอน ดังนี้

1.การจัดท่า (positioning) ผู้ป่วยอาจจัดท่าในท่านั่งหรือท่านอนศีรษะสูงโดยใช้เตียงปรับระดับที่ควบคุมผ่านทางพยาบาล หรือนักกายภาพบำบัดให้ศีรษะสูงขึ้น 30-60 องศา

2.การฝึกหายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ (deep-slow breathing) เพื่อให้ทรวงอกขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยท่านั่งหรือนอนศีรษะสูง 45-60 องศา โดยมีอัตราการหายใจ 12-15 ครั้งต่อนาที ทำ 10 ครั้งต่อรอบ ทำได้บ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ โดยพักประมาณ 30-60 วินาทีระหว่างรอบ

– ท่าแรก หายใจเข้าทางจมูก พร้อมยกแขนทั้งสองข้างขึ้นด้านหน้า และหายใจออกทางปากยาว ๆ พร้อมผ่อนแขนลง

– ท่าสอง หายใจเข้าทางจมูก พร้อมกางแขนออกด้านข้างทั้งสองข้าง และหายใจออกทางปากยาว ๆ พร้อมหุบแขนลง

3.active cycle of breathing technique เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการหายใจและระบายเสมหะออกมาง่ายขึ้น ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคั่งค้างของเสมหะเป็นเวลานาน ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ

3.1 การควบคุมการหายใจ (breathing control) โดยใช้ท่านั่งหรือนอนศีรษะสูง 45-60 องศา วางมือไว้บริเวณหน้าอกและช่วงท้องส่วนบนบริเวณใต้ลิ้นปี่

– หายใจเข้า ท้องป่องดันมือที่วางไว้ใต้ลิ้นปี่ขึ้น โดยมือที่วางบนอกยังคงนิ่ง

– หายใจออกช้า ๆ ทางปาก ท้องแฟบ (ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง)

3.2 การหายใจให้ทรวงอกขยาย (thoracic expansion breathing) โดยใช้ท่านั่งหรือนอนศีรษะสูง 45-60 องศา วางมือทั้งสองข้างบริเวณตำแหน่งชายโครงด้านข้างเพื่อรับรู้ว่าทรวงอกขยายออกและยุบตัว

– หายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ ให้ซี่โครงบานออก

– หายใจออกช้า ๆ ทางปาก ให้ซี่โครงหุบลง (ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง)

3.3 การหายใจออกอย่างแรง (huffing) โดยอยู่ในท่านั่งโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย หายใจเข้าลึกมากที่สุด กลั้นหายใจค้างไว้ประมาณ 1-3 วินาทีเปิดช่องปากและคอโดยห่อปาก แล้วหายใจออกอย่างแรงเสียงดัง “ฮัฟ” 1-3 ครั้งติดกันโดยไม่หายใจเข้า ร่วมกับการเกร็งหน้าท้องเพื่อช่วยขับเสมหะ

ขั้นตอนการทำ active cycle of breathing technique นี้ เริ่มต้นจาก 1.ควบคุมการหายใจเข้า-ออกปกติ 5-10 ครั้ง 2.หายใจให้ทรวงอกขยาย 3-4 ครั้ง 3.กลับมาควบคุมการหายใจเข้า-ออกปกติต่อ 4.ช่วงสุดท้ายค่อยหายใจออกอย่างแรง 1-2 ครั้ง

ทั้งนี้ การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยตนเองที่กล่าวมา ควรทำซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมง

ควรหยุดเมื่อใด ?

– ถ้าทำแล้วมีอาการเหนื่อย หายใจเร็วมากขึ้น

– มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ได้แก่ แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ ใจสั่น ปวดศีรษะ ตามัว เหงื่อออกมาก ซีด เขียว หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ

– กรณีมีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงสำคัญ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0