โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

การปลูก “แตงโมยักษ์ไต้หวัน” ในประเทศไทย

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 18 ม.ค. 2562 เวลา 21.00 น.
แตงโมยักษ์ 19มค

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการเกษตรที่ไต้หวันบ่อยครั้ง ระหว่างดูงานผลไม้ที่เสิร์ฟหลังอาหารทุกมื้อจะเป็น *“แตงโม” คณะผู้ร่วมดูงานทุกคนต่างให้ความเห็นตรงกันว่า แตงโม ที่ปลูกในไต้หวันมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อยมาก บางคนถึงกลับบอกว่าไม่เคยรับประทานแตงโมที่มีรสอร่อยเช่นนี้มาก่อน *

ผู้เขียนยังได้สังเกตต่อไปว่า แตงโมที่นำมาให้รับประทานนั้น จะเฉือนเป็นชิ้นติดเปลือก ซึ่งเมื่อสังเกตแล้วคาดจากสายตาว่าน่าจะเป็นแตงที่มีขนาดผลใหญ่มาก แตกต่างจากแตงโมที่นิยมปลูกในประเทศไทย ซึ่งมีขนาดของผลเล็กกว่า ระหว่างการเดินทางดูงานเกษตรที่ไต้หวันได้มีโอกาสแวะชมตลาดขายผลไม้ตามอำเภอต่างๆ ได้พบเห็นแตงโมมีวางขายเป็นจำนวนมากและมีขนาดของผลใหญ่มาก น้ำหนักผลเฉลี่ย 15-30 กิโลกรัม และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้เขียนให้ความสนใจที่จะหาซื้อเมล็ดแตงโมยักษ์ไต้หวันสายพันธุ์นี้มาทดลองปลูกในประเทศไทย

แตงโมยักษ์ไต้หวัน มีพื้นที่ปลูกมาก ที่จังหวัดอิ๋นหลิน

อิ๋นหลิน (Yunlin) เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของไต้หวันจังหวัดหนึ่ง พื้นที่อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะไต้หวัน แตงโมยักษ์มีพื้นที่ปลูกมากที่จังหวัดนี้คือ มีพื้นที่ปลูก ประมาณ 6,250 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยปีละประมาณ 16,000 ตัน โดยมีช่วงฤดูกาลปลูกจะอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนสิงหาคมของทุกปี สภาพพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมที่สุดคือ ดินร่วนปนทราย ลักษณะเด่นของแตงโมยักษ์ไต้หวันจัดเป็นแตงโมขนาดผลใหญ่ ถ้ามีการบำรุงรักษาที่ดีน้ำหนักผลจะมีน้ำหนักได้ถึง 30 กิโลกรัม รูปทรงผลรีคล้ายลูกรักบี้ เปลือกมีสีเขียวอ่อนและมีลายทั่วผล เนื้อมีสีแดงเข้ม การขายผลผลิตแตงโมยักษ์ในไต้หวันถ้าขายแบบยกผล จะมีราคาเฉลี่ย กิโลกรัมละ 20-30 บาท แต่ส่วนใหญ่พ่อค้าที่นำมาขายปลีก จะผ่าขายเป็นชิ้นๆ

นำเข้าเมล็ดแตงโมยักษ์ไต้หวัน

มาทดลองปลูกที่ประเทศไทย

ในที่สุดได้นำเข้าเมล็ดแตงโมยักษ์ไต้หวันมาทดลองปลูกที่ สวนคุณลี อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. 081-901-3760 โดยเริ่มต้นจากการเพาะกล้าด้วยการนำเมล็ดแตงโมมาแช่ในน้ำอุ่น นานประมาณ 30 นาที จากนั้นให้นำเอาเมล็ดมาบ่มในผ้าขาวบางที่เก็บความชื้น เก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ประมาณ 2-3 วัน เมล็ดจะเริ่มแทงรากออกมา นำเมล็ดไปเพาะในกระบะเพาะกล้า รดน้ำทุกวันจนต้นกล้ามีอายุได้ 10-13 วัน จึงย้ายต้นกล้าแตงโมยักษ์ลงปลูกในแปลง (มีข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการปลูกแตงโมในช่วงฤดูหนาว มีเกษตรกรบางรายหยอดเมล็ดลงปลูกในหลุมเลย จะพบว่า เมล็ดงอกช้ามากหรือไม่งอกเลย เนื่องจากถ้าอุณหภูมิของดินปลูกต่ำกว่า 15.5 องศาเซลเซียส เมล็ดแตงโมจะไม่งอกโดยธรรมชาติ แก้ปัญหาด้วยการหุ้มเมล็ด แช่เมล็ดแตงโมในน้ำอุ่น ทิ้งไว้ 1 วัน กับ 1 คืน แล้วเอาผ้าเปียกห่อวางไว้ในที่ร่ม จะช่วยทำให้เมล็ดแตงโมงอกได้เร็วขึ้น)

*การเตรียมแปลงปลูกแตงโมยักษ์ *

ได้มีการเตรียมแปลงด้วยการขึ้นแปลงแบบคู่กัน โดยให้มีความกว้างของแปลง ประมาณ 1 เมตร สำหรับความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และความสะดวกในการจัดการ แปลงปลูกแตงโมแต่ละคู่จะให้ห่างกันประมาณ 7-10 เมตร เพื่อให้เป็นพื้นที่ให้เถาแตงโมได้เลื้อยและติดผล สภาพของดินปลูกถ้าเลือกสภาพดินได้ควรเป็นดินร่วนปนทรายจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีการระบายน้ำที่ดี จะต้องปรับสภาพค่าความเป็นกรด-ด่าง ให้มีค่า pH เฉลี่ยอยู่ที่ 6-6.5 ถ้าดินมีสภาพความเป็นกรดให้ใส่ปูนขาว เนื่องจากเป็นแตงโมที่มีขนาดของผลใหญ่มาก ระบบการให้น้ำจะต้องดีและมีประสิทธิภาพ จึงใช้ระบบน้ำหยด ต้นละ 1 หัว และแปลงปลูกจะคลุมแปลงด้วยพลาสติก โดยให้ด้านสีบรอนซ์อยู่ด้านบน ซึ่งจะมีส่วนช่วยไล่แมลงศัตรูแตงโมได้ระดับหนึ่ง ก่อนย้ายต้นกล้าลงปลูกควรจะรองก้นหลุมด้วยสาร สตาร์เกิล จี อัตรา 2 กรัม ต่อหลุม

การไว้เถา และการเด็ดตาข้างของการปลูกแตงโมยักษ์ไต้หวัน

ความจริงแล้วในการทดลองปลูกแตงโมยักษ์ไต้หวันนั้น ในการเตรียมแปลง, การปลูก และการบำรุงรักษาใช้วิธีการเดียวกับการปลูกแตงโมในบ้านเรา แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยและเทคนิคที่มีความแตกต่างกันบางประการเท่านั้น อาทิ ในแต่ละต้นหรือแต่ละหลุมปลูกจะปล่อยให้ผลแตงโมยักษ์ติดเพียงผลเดียวเท่านั้น ในขณะที่การปลูกแตงโมของเกษตรกรไทยจะปล่อยให้ติดหลายผล อย่างน้อย 2-3 ผล ต่อ 1 ต้น หลังจากที่ปลูกต้นกล้าแตงโมยักษ์ลงแปลง มีการแตกใบใหม่ออกมา 2-3 ใบ ให้เด็ดยอดแตงโมออกเพื่อให้แตกออกเป็น 2 ตา ซึ่ง 2 ตา ข้างต้นดังกล่าวจะเจริญเติบโตเป็นเถา 2 เถา และจะให้แตงโมติดผลเพียงเถาเดียวเท่านั้น ส่วนอีกเถาหนึ่งให้สังเคราะห์แสงเพื่อช่วยเลี้ยงผลเท่านั้น

ในการเด็ดตาข้าง จะเด็ดตาข้างตั้งแต่ตาข้างที่ 1-19 ของทั้งสองเถาและจัดการเถาให้เลื้อยไปในแนวทางเดียวกัน มีการจัดเถาให้เลื้อยไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เถาพันกันและง่ายต่อการจัดการ ตั้งแต่ตาข้างที่ 20 เป็นต้นไป ไม่จำเป็นจะต้องเด็ดทิ้ง มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ทุกข้อที่มีตาข้างจะมีรากแทงออกมา จึงควรเจาะพลาสติกเพื่อให้รากแทงลงไป ยิ่งมีจำนวนรากมากเท่าไร จะมีส่วนช่วยให้ผลแตงโมมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย

การผสมดอกมีส่วนสำคัญของการปลูกแตงโมยักษ์ ถ้าเป็นไปได้เมื่อผสมดอกจนติดผลแล้วควรเลือกผลที่ 3 หรือ 4 โดยนับจากการติดผลแรกจะดีที่สุด ช่วงเวลาในการผสมดอกคือ ช่วงเวลาเช้า 06.00-09.00 น.

การกำจัดวัชพืช…หลีกเลี่ยงการกำจัดวัชพืช และการเข้าไปย่ำในแปลงปลูกแตงโม ก่อนปลูกควรมีการฉีดยาคลุมวัชพืชให้ดี และหลีกเลี่ยงการเข้าไปขยับเถา เนื่องจากตาข้างของทุกเถาจะมีรากที่แทงออกมาช่วยในการหาอาหารส่งไปเลี้ยงผล หรือจะใส่ปุ๋ยช่วยบริเวณที่มีรากแทงออกมา ดังนั้น การเด็ดตาข้างจึงควรใช้มีดตัดที่ตาข้าง หรือเด็ดตอนที่ตาข้างเริ่มแตกออกมาจะดีที่สุด และไม่ควรยกเถาขึ้นโดยเด็ดขาด

 การให้น้ำและการให้ปุ๋ย

ในการให้น้ำแตงโมยักษ์ในช่วงการเจริญเติบโต ควรให้น้ำโดยให้มีความชื้นในแปลงอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ควรให้แปลงปลูกแห้ง หรือชื้นแฉะเกินไป การให้น้ำไม่สม่ำเสมอจะส่งผลทำให้ผลแตงโมแตกได้ โดยเฉพาะในช่วงที่แตงโมผสมติด ผลแตงโมจะตอบสนองต่อการให้น้ำได้ดี ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นตรวจสอบแปลงและการให้น้ำที่เหมาะสมทุกวัน

ก่อนการเก็บเกี่ยว ประมาณ 5-7 วัน ควรงดการให้น้ำหรือให้น้ำน้อยลง เพื่อให้แตงโมมีความหวานกรอบ อร่อย หลังจากปลูกแตงโมยักษ์ไปได้ 3-5 วัน สำรวจและปลูกซ่อมต้นที่ตายไป
การให้ปุ๋ยแตงโมยักษ์ มีดังนี้

อายุต้น 5-8 วัน หลังจากลงหลุมปลูกผสมปุ๋ยยูเรีย 20 กรัม สารเมทาแลกซิล 30 กรัม และสารรีเฟส (กระตุ้นการเจริญเติบโตของราก ทำให้รากสมบูรณ์ แข็งแรง ดูดซึมแร่ธาตุและสารอาหารได้ดีขึ้น และสามารถเคลื่อนย้ายสารอาหารให้แพร่กระจายทั่วทั้งต้นพืชได้รวดเร็ว) 30 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร (รดที่โคนต้นแตงโม ต้นละ 10-20 ซีซี) ช่วยเร่งการเจริญเติบโต รากแข็งแรง และป้องกันโรคทางดิน

อายุต้น 10-20 วัน ผสมปุ๋ยยูเรีย หรือ 15-0-0 (อัตรา 1 กรัม ต่อต้น) ทุกวัน โดยการผสมน้ำรดโคนต้น และบริเวณเถาที่ติดราก อายุต้น 20-30 วัน ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 16-16-16 (อัตรา 5-10 กรัม ต่อต้น) ร่วมกับปุ๋ยเกล็ด สูตร 21-21-21 อัตรา 3 กรัม ต่อต้น ผสมน้ำแล้วรดทางดินจะช่วยให้พืชนำไปใช้ได้เร็วขึ้น ช่วยให้การติดดอกและการผสมดอกดีขึ้น อายุต้นหลังการผสมดอก ประมาณ 45 วัน (ช่วงติดผลเท่าไข่ไก่-หัวเด็ก) ใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 อัตรา 10 กรัม ต่อต้น

อายุต้น 45-50 วัน (ผลเริ่มเข้าสีขนาด 5-8 กิโลกรัม) ช่วงนี้แตงโมต้องการใช้อาหารไปเพื่อเพิ่มขนาดของผลอย่างรวดเร็ว ควรให้ปุ๋ย สูตร 13-0-46 อัตรา 3 กรัม ต่อต้น+แคลเซียมไนเตรต อัตรา 1 กรัม ต่อต้น สลับกับปุ๋ย สูตร 0-0-50 อัตรา 3 กรัม ต่อต้น+แคลเซียมไนเตรต 1 กรัม ต่อต้น ผสมน้ำรดสลับกันทุกวัน

อายุต้น 53 วัน-เก็บเกี่ยว ใส่ปุ๋ย สูตร 0-0-50 อัตรา 5 กรัม ต่อต้น ผสมน้ำรดแตงโมก่อนเก็บเกี่ยว รวม 3 ครั้ง หลังจากนั้นควรงดการให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยว 5-7 วัน

 ปลูกแตงโมยักษ์ในไทย : ตลาดอยู่ที่ไหน

จริงอยู่พฤติกรรมในการบริโภคแตงโมของคนไทยมักจะคุ้นเคยกับแตงโมที่มีขนาดผลไม่ใหญ่มากนัก มีน้ำหนักผลเฉลี่ย 3-5 กิโลกรัม เท่านั้น ในขณะที่ผู้บริโภคตามเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่ ฯลฯ หรือเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา, ภูเก็ต ฯลฯ พ่อค้าซื้อแตงโมยักษ์ไปแบ่งผ่าเป็นชิ้นๆ ขายเหมือนกับที่ไต้หวัน จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งทางการตลาดในอนาคต ความจริงแล้วตามโรงแรมหรือการจัดงานเลี้ยงตามสถานที่ต่างๆ มีความต้องการแตงโมที่มีขนาดของผลใหญ่ ขอเพียงแต่แตงโมมีรสชาติหวานกรอบและอร่อยเป็นอันใช้ได้ ทางสวนคุณลีได้นำผลผลิตแตงโมยักษ์บางส่วนมาทดลองคั้นน้ำแยกกาก เพื่อทำเป็นน้ำแตงโมสด 100% (ตามห้องอาหารโรงแรมใหญ่ๆ ในกรุงเทพมหานคร จะมีน้ำแตงโมสดบริการแขกที่มาใช้บริการ)

ผลปรากฏว่าแตงโมยักษ์ที่มีน้ำหนักผลประมาณ 15 กิโลกรัม เมื่อทำเป็นน้ำแตงโมสด 100% บรรจุขวดละ 200 ซีซี ได้จำนวน 50 ขวด เป็นอย่างน้อย และนำมาจำหน่ายถึงผู้บริโภค ในราคาขวดละ 10 บาท นั่นแสดงให้เห็นว่าแตงโมยักษ์ผลหนึ่งจะทำรายได้ถึงผลละ 400-500 บาท

จากการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตแตงโมยักษ์ไต้หวันมานานเกือบ 10 ปี ปลูกที่สวนคุณลี อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ซึ่งปลูกในสภาพไร่พื้นราบและมีอุณหภูมิเหมือนกับพื้นที่ที่ปลูกแตงโมทั่วไป

สรุปข้อมูลว่า สามารถปลูกและให้ผลผลิตมีขนาดผลใหญ่ได้เหมือนกับที่ปลูกในไต้หวัน ในเรื่องของรสชาติ โดยเฉพาะการปลูกในช่วงฤดูฝนปริมาณน้ำฝนอาจจะมีผลต่อรสชาติบ้าง แต่หากคุมปุ๋ยให้ดีก็จะไม่มีปัญหาเรื่องของรสชาติ แต่ผลผลิตที่ปลูกในรุ่นถัดมาคือ ช่วงปลายฝนต้นหนาวตลอดไปถึงช่วงหน้าแล้ง ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้และเป็นช่วงหมดฝน รสชาติของผลผลิตมีความหวานและกรอบมาก

ในเรื่องของโรคและแมลงแตงโมยักษ์เหมือนกับการปลูกแตงโมทั่วไป สิ่งที่จะต้องระวังเป็นพิเศษคือ โรคเถาเหี่ยว ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม ซึ่งโรคนี้เป็นปัญหาหลักของการปลูกแตงโมในบ้านเรา โรคนี้จะระบาดมากในช่วงแตงโมออกดอก, การปลูกแตงโมซ้ำที่เดิม และสภาพดินเป็นกรดจัด และเรื่องของเพลี้ยไฟที่มักจะทำลายยอดแตงโมเสียหาย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0