โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การบุกฆ่าพระในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับบทเรียนในมุมก่อการร้ายศึกษา

The MATTER

อัพเดต 21 ม.ค. 2562 เวลา 04.03 น. • เผยแพร่ 21 ม.ค. 2562 เวลา 03.38 น. • Thinkers

ก่อนจะเริ่มพูดถึงเนื้อหาอะไรโดยละเอียด ผมขอเริ่มด้วยการแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดการบุกยิงวัดรัตนานุภาพ ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 จนมีผู้เสียชีวิตเป็นพระทั้งสิ้น 3 รูป (หนึ่งในนั้นคือ พระครูประโชติ เจ้าอาวาสวัด) และพระบาดเจ็บอีก 2 รูป ตัวผมเองขอร่วมประณามการกระทำในครั้งนี้ หรือครั้งไหนๆ ก็ตามในลักษณะเดียวกัน ทั้งยังเห็นด้วยว่าการพยายามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมายและตามกระบวนการยุติธรรมนั้นต้องเกิดขึ้นโดยเร็วและถี่ถ้วนที่สุด ไม่ว่าจะกับการก่อเหตุในครั้งไหนๆ ก็ตามที

ทั้งนี้ แม้ผมจะร่วมรู้สึกเสียใจไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยอย่างมาก กระนั้นผมเองก็ไม่คิดว่าการออกมาแต่เพียงประณามการกระทำ แสดงความเสียใจต่อผู้ที่สูญเสีย ใช้ทุกขุมกำลังจับตัวผู้ก่อเหตุขึ้นมา หรือกระทั่งมีความคิดเห็นที่เสนอให้ฆ่าพวกผู้ก่อเหตุให้เหี้ยนทั้งบางต่างๆ นานา เหตุการณ์อันน่าเศร้าได้เกิดขึ้นแล้ว (จริงๆ คือซ้ำแล้วซ้ำอีก) และมันก็ไม่ควรจะผ่านไปแล้วเหลือทิ้งไว้แต่ความเศร้าและโกรธแค้น แต่เหตุการณ์เหล่านี้ควรถูกนำกลับมาขบคิดและทบทวนอย่างจริงจังด้วย อย่างในกรณีล่าสุดนี้ คำถามพื้นฐานมากๆ เลยอาจจะเป็นว่า “ทำไมต้องมุ่งจู่โจมวัด หรือสังหารพระ?” เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้ตัวผมเองจะจบการศึกษาด้านก่อการร้ายศึกษา (critical terrorism studies) มา แต่ผมเองก็ต้องขอออกตัวอีกแรงๆ ไว้ก่อนว่าตัวผมเองนั้นไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญหรือกระทั่งมีความสนใจกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษอะไร ยังมีคนที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ระดับเจาะลึกมากกว่าผม ฉะนั้นมุมมองที่ผมอยากจะชวนมาคิดกันในวันนี้จึงเป็นมุมมองแบบก่อการร้ายศึกษาจากมุมกว้าง ที่พยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแบบที่ขอเพียงเราติดตามข่าวบ้าง รับรู้และสนใจเรื่องราวทางการเมืองบ้าง ไม่ต้องเป็นผู้ชำนาญการระดับรู้ลึกอะไรเกี่ยวกับพื้นที่นี้แบบคนที่ลงพื้นที่ทำวิจัยกันนานปี ก็สามารถนำเนื้อหาบทเรียนต่างๆ มาขบคิดต่อไปได้

ประการแรกเลยที่ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจกันก่อนก็คือ ต่อให้เราประณามผู้ก่อเหตุปานใด หรือโกรธแค้นผู้ก่อเหตุปานใดก็ตาม “พวกเขาไม่ได้แคร์” นะครับ ตรงกันข้าม พวกเขารู้อยู่แล้วว่าจะต้องโดนแบบนี้ และจงใจที่จะโดนแบบนี้เสียด้วยซ้ำ เพราะเมื่อเราประณามแล้ว เราโกรธแค้นแล้ว การกระทำของพวกเขาก็จะเป็นที่สนใจ และได้พื้นที่สื่อมากอย่างที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ผมคิดว่าหลายๆ ท่านเองก็ทราบดีอยู่แล้วว่า การก่อความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเกิดขึ้นตลอด แทบจะไม่มีเดือนไหนเลยที่ว่างเว้น อย่างไรก็ดีแม้จะมีเหตุการณ์อยู่เรื่อยๆ แต่ผมคิดว่าปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่าอย่างน้อยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ข่าวความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบไม่ได้รับความสนใจใดๆ เลย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ความสนใจที่เกิดขึ้นกับกรณีการบุกวัดและฆ่าพระภิกษุในครั้งนี้

ส่วนต่างของความสนใจนี้เองที่เราต้องนำมาคิด ทั้งนี้ผมอยากจะย้ำแรงๆ แบบขีดเส้นใต้ซ้ำๆ เลยนะครับว่าผมไม่ได้ต้องการจะสื่อว่าผู้ก่อเหตุไม่ผิด และเป็นพวกเรานี่แหละที่ผิด ไม่ใช่แบบนั้นครับ ผู้ก่อเหตุคือผู้ที่กระทำความผิด และสมควรได้รับการลงโทษ อย่างไรก็ดีการประกอบสร้างเหตุการณ์ที่นำมาสู่จุดนี้ได้นั้น ผมคิดว่าตัวสังคมเราเองก็ปฏิเสธความเกี่ยวข้องไม่ได้เช่นกัน

ที่ผมบอกว่า ‘ส่วนต่างของความสนใจ’ นี้ต้องนำมาคิดก็เพราะว่า ผู้ก่อการร้ายไม่ว่าจะที่ใดในโลกก็ล้วนแต่ต้องการจะสื่อสารกึ่งเสนอข้อเรียกร้องที่ต้องการให้รัฐฟังและยอมรับตามครับ แต่พร้อมๆ กันไป สถานะของพวกเขานั้นก็เป็นศัตรูของรัฐด้วย

ฉะนั้นการเรียกร้องการสื่อสารของผู้ก่อการร้ายจึงต่างจากการที่ประชาชนในรัฐออกมาชุมนุมอยากเลือกตั้ง/อย่าเลื่อนเลือกตั้ง เพราะแม้นั่นจะเป็นการสื่อสารต่อรัฐเหมือนกัน เป็นการเรียกร้องต่อรัฐเหมือนกัน แต่โดยหลักการแล้วสถานะของประชาชนนั้น ‘ไม่ใช่ศัตรูของรัฐ’ แบบผู้ก่อการร้าย (แต่กับรัฐบาลทหารที่ไม่ได้แยแสประชาชนนัก ผมก็ไม่แน่ใจในหลักการข้อนี้มากนัก) เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ก่อการร้ายแล้ว วิธีการสื่อสารที่จะทำให้รัฐยอมตามพวกเขานั้นจึงแตกต่างออกไป

เมื่อพวกเขาต้องการจะส่งสาร ต้องการให้มีการฟังอย่างจริงจัง ต้องการให้มีความคืบหน้ากับตัวข้อเสนอของพวกเขา (ผ่านการใช้ความรุนแรงอย่างที่รู้กันนั่นแหละครับ) แต่ทั้งรัฐไทย และทั้งตัวสังคมไทยเองกลับนิ่งเฉย ไม่สนใจ ไม่แยแส กระทั่งชาชินกับ ‘ความรุนแรงแบบเดิมๆ’ การมุ่งหาวิธีการแบบใหม่ๆ ที่จะเรียกร้องหรือสร้างพื้นที่ความสนใจ (ที่เรามักจะเรียกกันว่า ‘การยกระดับความรุนแรง’) ก็มักจะเป็นสิ่งที่ตามมาครับ ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้มีมาโดยตลอดประวัติศาสตร์การก่อการร้ายของโลก ไม่ได้จำเพาะอยู่แต่ที่ไทย อย่างช่วง ทศวรรษ 1930s-ก่อนการยุติลงของสงครามเย็น การก่อการร้ายโดยมากแล้วก็มักจะลงมือกับพวกพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ต่างๆ อย่าง อนุสาวรีย์ สถานทูต ฯลฯ โดยไม่ได้สนว่าจะมีคนตายอะไรไหม มีหรือไม่ก็ได้ เพราะต้องการจะแสดงออกถึงตัวตน และกดดันข้อเรียกร้องของตน แต่เมื่อสังคมเริ่ม ‘ชาชิน’ กับวิธีดังกล่าว ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา การก่อการร้ายโดยเฉลี่ยก็ดูจะยกระดับขึ้น (จนถูกเรียกชื่อว่า ‘ยุคการก่อการร้ายใหม่’ หรือ new terrorism age) ที่มุ่งเน้นการ ‘ฆ่าคนเป็นจำนวนมาก’ ด้วย จากเดิมที่จะมีคนตายหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็นนัก

กรณีการบุกวัด และสังหารพระภิกษุ โดยเฉพาะพระชื่อดังที่เป็นที่รักและเคารพในพื้นที่เองก็เช่นกัน ความเฉยชาของสังคมโดยรวมนี่แหละครับ ที่นำเรามาสู่จุดนี้ ผมไม่ได้เขียนแบบนี้เพื่อจะให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงของผู้ก่อเหตุ หรือผลักความผิดมาให้กับสังคมไทยอะไรทั้งสิ้นนะครับ “ไม่ ไม่ และไม่” เลย ผมยืนยันอย่างชัดเจนว่าพวกเขาผิด แต่ความผิดที่ว่านี้ไม่ใช่เราไม่มีส่วนเอี่ยวเลย อีกทั้งแม้ว่ามันจะเป็นการกระทำที่ผิดชัดๆ แน่นอน อย่างการก่อการร้าย ก็ไม่ได้แปลว่าเราควรจะเลิกทำความเข้าใจในเหตุผลเบื้องหลังของตัวการกระทำเสียเมื่อไหร่

ตรงกันข้าม ผมพูดเสมอเวลาอธิบายถึงหัวข้อเกี่ยวกับการก่อการร้ายครับว่า “ผู้ก่อการร้ายเข้าใจเรา มากกว่าที่เราเข้าใจตัวพวกเขา” พวกเขารู้ว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร รักอะไร นิยมอะไร และเราเกลียด หรือกลัวอะไรด้วย เขารู้ว่าอะไรที่จะสั่นคลอนเราได้ ทำให้เรารู้สึกไร้ซึ่งความมั่นคงได้ และความรู้สึกไร้ความมั่นคงนี้เองที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการทำลายรัฐทั้งองคาพยพ เพราะภารกิจหลักของรัฐชาติสมัยใหม่นั้นคือการประกันความมั่นคงให้กับประชากรของรัฐ พวกเขารู้ถึงสิ่งเหล่านี้ดี และใช้มันต่อรองกับรัฐ ในขณะที่เราแทบจะไม่รู้อะไรจริงๆ จังๆ เกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายเลยโดยเปรียบเทียบ ฉะนั้นเมื่อเรายิ่งไม่รู้จักพวกเขา เรายิ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้มาก แม้สิ่งที่เราต้องพยายามเข้าใจจะเป็นความรุนแรงที่เลวร้ายปานใดก็ตาม

พูดแบบง่ายๆ ก็คือ หยุดเฉยเมย หยุดเมินเฉย หยุดชาชินกับความรุนแรงไม่ว่าจะกรณีใดๆ ไม่ว่าจะกับพระภิกษุ อิหม่าม คนพุทธ คนมุสลิม หรือใครใดๆ ก็ตาม เราควรจะหยุดชาชินกับมันได้แล้ว ไม่เช่นนั้นความรุนแรงก็อาจจะถูกยกระดับอีก เหมือนอย่างเหตุการณ์ระเบิดที่ศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ เหตุการณ์ระเบิดในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ระเบิดรถไฟ ระเบิดโรงแรม ฯลฯ

นอกจากการต้องเลิกเมินเฉยแล้ว ยังต้องเรียกร้องให้ “หยุดการใช้วิธีเดิมๆ ในการแก้ปัญหานี้”

เราแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีการเดิมๆ มาเกือบจะ 2 ทศวรรษแล้ว ปัญหาไม่เพียงไม่ได้รับการแก้ไข แต่กลับหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เพราะพวกเขาไม่หยุดหรอกครับกับการมาโดนประณาม โกรธแค้น พวกเขาคือคนที่ลงมือปฏิบัติการโดยรู้ตัวอยู่แล้วว่าตัวเองอาจจะตายได้ ฉะนั้นเขาไม่หยุดด้วยคำก่นด่า ผู้ก่อการร้ายจะไม่หยุดตราบเท่าที่ข้อเรียกร้องของเขาจะได้รับการฟังอย่างตั้งใจและได้รับการตอบรับ ฉะนั้นหากคิดจะหยุด ‘การยกระดับความรุนแรง’ แบบกรณีที่เกิดขึ้นนี้ มีแต่เราต้องเรียกร้องให้รัฐบาลพูดคุย เจรจา และหาทางออกแบบที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝั่งครับ ไม่มีอะไรที่มีค่าหรือน้ำหนักมากกว่าชีวิตของประชาชนของคุณหรอก และอย่ามัวแต่คิดว่า “พวกนี้มันเป็นใคร ทำไมมามีอำนาจมาต่อรองหรือสั่งรัฐบาลได้” เพราะราคาที่ต้องจ่ายคือชีวิตคนจริงๆ และนั่นคือประการที่หนึ่งว่าทำไมจึงต้องเกิดการใช้ความรุนแรงกับวัดและพระภิกษุขึ้น (เป็นการพยายามทำความเข้าใจเหตุผลของผู้ก่อเหตุนะครับ ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยกับการกระทำใดๆ)

ประการที่สอง คือเรื่องอำนาจตามธรรมชาติของมนุษย์ที่เรียกว่าโฮโมเซเปียนส์อย่างเราๆ นี่แหละครับ มนุษย์โฮโมเซเปียนส์มีทักษะทางภาษาที่สำคัญมากอย่างหนึ่งที่สิ่งมีชีวิตร่วมโลกอื่นๆ ดูจะไม่มี กระทั่งมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันแต่ไม่ได้อยู่ในสายพันธุ์เราก็ไม่มี (อย่างน้อยก็ตามที่ Yuval Harari ผู้เขียนเรื่อง Sapiens ว่าไว้) นั่นคือความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อสื่อถึง ‘สิ่งซึ่งไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง’ ครับ มนุษย์เรารวมตัวกันได้ด้วยสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง ไม่ได้จับต้องได้นี่แหละครับ

ชาติ ศาสนา มิตรภาพ ความเป็นธรรม ประชาธิปไตย สายสัมพันธ์ ความรัก สิ่งเหล่านี้คือ ‘พลังทางภาษา’ ที่ใช้พูดถึงสิ่งซึ่งไม่มีตัวตนอยู่จริงได้ และกลายเป็น ‘สำนึกร่วมหมู่’ ของชุมชนนั้นๆ ขึ้นมา อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดสำนึกร่วมหมู่ขึ้น ก็มักจะเกิด “ความเป็นเรา (หมู่เรา/พวกเรา) และความเป็นอื่น (หมู่อื่น/พวกอื่น)” ขึ้นด้วยเสมอ ไม่เพียงเท่านั้น ภายใน ‘ความร่วมหมู่ที่จับต้องไม่ได้’ นี้เอง ก็มักจะมีสิ่งซึ่งจับต้องได้ที่ทำงานเป็นกลไกในการขับเคลื่อนสำนึกร่วมหมู่อยู่ด้วยเสมอ อาจจะในรูปเชิงสัญลักษณ์ หรือตัวแทนที่ทำหน้าที่ให้สิ่งซึ่งจับต้องไม่ได้ทำงานได้จริงๆ ขึ้นมาก็ได้

อย่าง ‘รัฐ’ เอง ที่เป็นสำนึกร่วมหมู่ที่จับต้องอะไรไม่ได้ แต่รัฐผนึกคนเอาไว้ได้ ก็มักจะถือว่ามี ‘รัฐบาล’ ทำหน้าที่แทน แน่นอนครับว่า “รัฐบาล ไม่เท่ากับ รัฐ” แต่ก็ถูกมองในฐานะแกนกลางของชุมชนทางการเมืองที่เรียกว่ารัฐไป เพราะรัฐบาลทำหน้าที่เป็นกลไกให้สิ่งซึ่งจับต้องไม่ได้ ผูกคนไว้ด้วยกันเพื่อให้รัฐทำงานตามหน้าที่ของมันต่อไปได้ ศาสนาก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นศาสนสถาน สถาบันศาสนาต่างๆ หรือตัวผู้บวชเอง “ต่างไม่ได้เท่ากับ ‘ตัวศาสนา’ โดยตัวมันเอง” เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่ง แต่ไม่ได้เท่ากับตัวตนของศาสนานั้นๆ (ซึ่งคงเถียงกันไม่จบว่าคืออะไรบ้าง มีขนาดเท่าไหร่) อย่างไรก็ตาม ทุกศาสนาก็มีตัวกลางที่ทำหน้าที่แบบรัฐบาลในกรณีรัฐ คือ ทำให้ศาสนาดำเนินการ (operate) ต่อไปได้

เพราะฉะนั้นภายใต้การใช้ความรุนแรงที่มีการแบ่ง 'ความเป็นพวกเรา–พวกอื่น' อย่างชัดเจนแบบการก่อการร้าย และในหลายกรณีมักจะถูกผลักดันด้วยคำสอนหรือการตีความทางศาสนา หรือใช้ศาสนาในการเป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบสร้างความเป็นอื่นนั้น ตัวผู้บวชที่ทำหน้าที่หรือมีภาพของการเป็นกลไกสำคัญ กลไกศูนย์กลางของชุมชนที่เรียกว่าศาสนา ก็ย่อมตกเป็นเป้าหมายได้ง่ายที่สุดกรณีหนึ่ง

ทั้งนี้ผมไม่ได้พูดในเซนส์ที่ว่าศาสนาสอนให้คนใช้ความรุนแรงนะครับ แต่อย่างน้อยที่สุดที่จะต้องยอมรับ คือ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ หรืออิสลามก็ตาม มักมีกลุ่มคนที่ตีความคำสอนอันนำไปสู่การใช้ความรุนแรงอยู่จริง และมีคนที่เชื่อในการตีความแบบนั้น “โดยไม่เกี่ยวกับว่าตัวคุณเอง ตัวเราเองนั้นจะเห็นด้วยกับการตีความที่ว่าหรือไม่” การเห็นด้วยเห็นต่างของเรามันไม่สำคัญ ประเด็นอยู่ที่ว่ามีคนที่เชื่อและเห็นด้วยตามการตีความแบบนั้นอยู่ นั่นทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่าศาสนาเองเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงมากที่สุดปัจจัยหนึ่งของโลก

พุทธฆ่ามุสลิมในพม่า มุสลิมฆ่าพุทธในไทย คริสต์ฆ่ามุสลิมในตะวันออกกลาง มุสลิมไปฆ่าคริสต์อีกที่ในยุโรป แน่นอนว่ามีหลายกรณีที่การอ้างเรื่องศาสนานั้นไม่สมเหตุสมผลอย่างกรณี IRA ที่จะบอกว่าเป็นเรื่องคริสต์ฆ่าคริสต์นั้นก็ไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะเหตุผลหลักคือเรื่องการแบ่งแยกดินแดนและมีการนำความเป็นศาสนาเข้ามาโยงน้อยมาก ในกรณีแบบนี้ก็ต้องบอกว่าปัจจัยหลักคือเรื่องชาตินิยม เป็นต้น

การก่อการร้ายในหลายกรณีใช้คำสอนทางศาสนา หรือความเป็นอื่นทางศาสนามาเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ และในกรณีแบบนี้นักบวชก็เป็นเหยื่ออยู่หลายครั้ง อย่างในปี 2016 บาทหลวงที่โบสถ์ในเมืองนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ก็ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมด้วยการปาดคอ ทั้งยังใช้มีดแทงชายอายุ 86 ปีอีก 1 คนในโบสถ์ ผู้ก่อเหตุทั้งสองคนประกาศตัวว่าเป็นผู้สวามิภักดิ์กับ ISIS ซึ่งชัดเจนในเรื่องการใช้คำสอนทางศาสนามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการชักนำและสร้างความเป็นอื่น

อย่างไรก็ดี หลายคนอาจจะรู้สึกว่ากรณีของไทยนั้นก็ควรจะแตกต่างออกไปสิ เพราะแกนกลางหลักของข้อเรียกร้องคือการแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่เรื่องศาสนา ซึ่งก็คงเป็นเช่นนั้นจริง แต่คำถามคือ เขามองว่าการแยกดินแดนนั้นคือการแยกดินแดนระหว่างใครกับใคร? เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับ ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาใดก็ตาม คือ ผู้ก่อเหตุในไทยโดยมาก (แบบมากๆ) แล้วเป็นคนมุสลิม (ทั้งนี้ไม่ได้ยกขึ้นมาเพื่อจะดิสเครดิตคนมุสลิมใดๆ) เพราะฉะนั้นจึงเป็นการง่ายมากครับในกรณีแบบนี้ที่จะใช้ “ความต่างทางศาสนามาเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกและสร้างความเป็นอื่น ร่วมไปกับการแบ่งแยกดินแดนด้วย”

หากการแบ่งแยกดินแดนถูกมองว่าฝั่งนั้นคือดินแดนของคนพุทธ ฝั่งนี้คือดินแดนของคนมุสลิม หรือการมองว่าผู้ปกครองคนพุทธ เอารัดเอาเปรียบรังแกคนมุสลิมที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เช่นนี้เป็นตัวอย่าง ก็สามารถสร้างความเป็นอื่นโดยใช้ฐานคิดทางศาสนาได้โดยง่ายแล้ว แม้แกนกลางของข้อเรียกร้องหลักจะเป็นเรื่องการแบ่งแยกดินแดนก็ตามที เพราะฉะนั้นพระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของความเป็นพุทธในพื้นที่ เป็นพุทธยิ่งกว่าใครไหนๆ จึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ชัดเจนและมีแนวโน้มที่จะถูกเลือกเป็นเหยื่อมากที่สุดนั่นเอง

ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาที่ของวิธีคิดในลักษณะนี้คือการทำลายความเป็นอื่นของศาสนาให้มากที่สุด และไม่ใช่ในระดับพื้นที่นั้นๆ เป็นการเฉพาะด้วย แต่ต้องทำในสเกลระดับประเทศ

ผมคิดว่าสังคมไทยปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าการพัฒนาต่างๆ ความเจริญต่างๆ งบประมาณในการเสริมความก้าวหน้ากระจุกตัวมาก โดยเฉพาะกับ ‘เมืองพุทธ’ ทั้งหลาย หากมองจากสายตาของคนที่รู้สึกว่าตนเองกำลังโดนเอารัดเอาเปรียบและแยกพวกอยู่ การพัฒนาเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เทียบกับพื้นที่อื่นๆ นั้นยังด้อยกว่ามาก งบประมาณเดียวที่ลงไปยังพื้นที่นี้ คือ งบประมาณที่ลงไปเพื่อตอบโต้ เพื่อปราบปราม ซึ่งนั่นยิ่งจะสร้างความเป็นอื่นและความเป็นศัตรูให้ดุดันยิ่งขึ้นไป

หากจะลดความเป็นอื่น การตั้งใจพัฒนาความเป็นเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เท่าทันพื้นที่อื่นๆ ถือว่าสำคัญครับ เพื่อให้คนในพื้นที่ ไม่ว่าจะฝั่งไหนฝ่ายไหนได้รับรู้ว่า “เราไม่ใช่พวกอื่นของกันและกัน เราต่างเป็นพวกเดียวกัน และพวกเขาได้รับการแยแส ดูแลอยู่โดยไม่ต่างจากใครในพื้นที่ไหนๆ” ด้วย

ประการที่สาม ผมอยากจะพูดถึงแต่เพียงสั้นๆ ครับว่าการเลือก ‘เหยื่อ’ แบบพระภิกษุสงฆ์ หรือครูในโรงเรียน หรือบุกโรงพยาบาลที่กลายเป็นกระแสและได้พื้นที่ความสนใจมากกว่า (อันนำมาซึ่งการเลือกลงมือกับคนกลุ่มนี้ ดังอธิบายไว้เป็น ‘ประการแรก’) เพราะเรื่องของ estimation หรือการอยู่ในกรอบการคาดคะเน

ที่จะเขียนนี่ไม่ได้จะแช่งหรือประสงค์ร้ายอะไรนะครับ แต่เวลาที่เราได้ยินข่าวทหารเสียชีวิต หรือตำรวจเสียชีสิตในหน้าที่ต่างๆ แม้เราจะโศกเศร้าเสียใจไปกับการสูญเสียด้วย แต่พร้อมๆ กันไปเราอาจจะไม่ได้รู้สึกแปลกประหลาดใจหรือเซอร์ไพร์สมากนัก เพราะในระดับหนึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าอาชีพกลุ่มนี้มีความเสี่ยง ต้องเอาชีวิตไปผจญกับอันตราย ฉะนั้นแม้เราจะไม่ได้ปรารถนาให้เจ้าหน้าที่คนใดๆ เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ แต่พร้อมๆ กันไปเราก็มีการ ‘เผื่อใจ’ ไว้อยู่แล้ว ด้วยตัวบทบาทของอาชีพที่พวกเขาทำ เพราะฉะนั้นการเสียชีวิตของบุคลากรด้านความมั่นคงเหล่านี้ แม้จะนำมาซึ่งความเสียใจ แต่ก็ไม่ได้เกิดกระแสความสนใจ เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อะไรขึ้นมา (เกิดบ่อยๆ กลายเป็นชินอีกต่างหากประเทศนี้)

แต่การฆ่าคนที่อยู่นอกกรอบการประมาณการ นอกพื้นที่การเผื่อใจของเราไว้ต่างหากครับ ที่จะทำให้เรารู้สึกตกใจ หวาดกลัว เพราะหากผู้ก่อเหตุเลือกฆ่าพระ ฆ่าครู บุกโรงพยาบาล หรือระเบิดรถไฟขึ้นมาแล้ว จะเป็นใครก็มีโอกาสโดนได้ แม้แต่คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้เข้าปะทะก็ยังไม่รอดที่จะตกเป็นเหยื่อ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่พยายามตัดขาดตัวเองจากทางโลก ก็ยังอยู่ในข่ายความเสี่ยง ความรู้สึกแบบนี้แหละครับที่สั่นคลอนเรา “ความเหนือความคาดการณ์ ความคาดไม่ถึง ความไม่ได้ทำใจไว้” นั่นคืออีกเหตุผลหนึ่งครับที่พระได้กลายมาเป็น ‘ตัวเลือกของการก่อความรุนแรง’ ในวิธีคิดเรื่องการก่อการร้าย

กับประเด็นนี้ ผมคงจะบอกอะไรไม่ได้มากไปกว่า การย้ำให้เข้าใจว่า การก่อการร้ายต่างจากการก่อสงคราม ที่ส่งทหารไปฆ่ากันและอาจจะเห็นแต่ความตายตามหน้าที่ แต่ในการก่อการร้ายนั้น คือ วิธีคิดที่ทำให้มองทุกคนในรัฐเป็นเหยื่อครับ ทั้งผู้ที่ถูกฆ่าและไม่ได้ถูกฆ่า และอย่างที่ได้บอกไปตั้งแต่ต้น ว่า “ผู้ก่อการร้ายเข้าใจพวกเรา มากกว่าที่เราเข้าใจพวกเขา” เสมอนะครับ ฉะนั้นแล้วก็คงต้องระวังตัวกันตามสภาพไป

สุดท้าย ผมก็คงได้แต่ย้ำว่า เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการจัดการเรื่องการก่อการร้ายได้แล้ว การส่งกองกำลังและใช้ความรุนแรงแก้ปัญหานั้นไม่ตอบโจทย์อะไร และทุกวันทุกนาทีที่คะยั้นคะยอจะใช้แต่วิธีการเดิม มันมีราคาที่แพงมากต้องแลกเปลี่ยนอยู่ อย่าดักดานไม่ยอมเจรจาและเปลี่ยนท่าทีเลย คุณเปลี่ยนใจเปลี่ยนความคิดผู้ก่อการร้ายด้วยกระสุนปืนไม่ได้หรอกครับ ถ้าพวกเขากลัวตายคงไม่หยิบเอาเสื้อกั๊กติดระเบิดมาใส่ไว้กับตัวหรอก

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0