โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"การบินไทย" ยกเลิกรับลูกเรือ พร้อมคืนเงินค่าสมัคร

TNN ช่อง16

อัพเดต 14 พ.ย. 2562 เวลา 03.35 น. • เผยแพร่ 14 พ.ย. 2562 เวลา 03.35 น. • TNN Thailand
“การบินไทย” ยกเลิกรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 200 อัตรา พร้อมคืนเงินค่าสมัคร หลัง รมว.คมนาคม ตั้งข้อสังเกตุมีจำนวนลูกเรือมากเกินกว่าจำนวนเครื่องบิน

วันนี้ (14 พ.ย.62) นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายใน1-2 วันนี้ การบินไทยจะออกจดหมายอย่างเป็นทางการเรื่อง ยกเลิกรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน จำนวน 200 อัตรา ซึ่งกรณีที่ได้ทำการสมัครไว้แล้ว บริษัทฯ จะมีการคืนเงินค่าสมัครให้ เนื่องจากถือเป็นการยกเลิกจากการบินไทย

ทั้งนี้ การบินไทยได้ประกาศรับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (ลูกเรือ) รุ่นใหม่ (TQV 2019) จำนวน 200 อัตรา มีเป้าหมายเพื่อรองรับการบริการและขยายเส้นทางบิน ซึ่งกรณีที่ต้องมีการยกเลิกการรับสมัครดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตั้งข้อสังเกตว่า การบินไทยมีจำนวนลูกเรือมากเกินกว่าจำนวนเครื่องบิน และได้เสนอแนะให้ การบินไทยอบรม ลูกเรือ ให้มีความรู้ในการทำงานบนเครื่องบินที่มากกว่า 1 รุ่น เพื่อทำให้พนักงาน 1 คนสามารถให้บริการบนเครื่องบินได้หลายรุ่นนั้น

นายสุเมธ ยอมรับว่า การบินไทยจะต้องพิจารณาหาทางเลือกใหม่ๆ ซึ่งได้มีผู้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหากรณีขาดแคลนลูกเรือ ในกรณีที่ไม่สามารถรับเพิ่มได้ ควรใช้รูปแบบอื่นๆ เช่น เป็นพนักงานบริการบนเครื่องบิน เช่น Service Crew ซึ่งจะไม่มีข้อจำกัดทำให้มีความยืดหยุ่นมากกว่า ลูกเรือ ( Cabin Crew ) ซึ่งจะต้องมีทักษะ มาตรฐานในด้าน Safety Security ต้องผ่านการฝึกอบรม ความปลอดภัยการบิน แต่ในขณะเดียวกัน จะต้องพิจารณาเรื่องจำนวนลูกเรือบนเครื่องบินแต่ละประเภทไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานกำหนด และ การบินไทยเป็นแบบพรีเมี่ยม การให้บริการ Full Service ต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย

“ข้อมูลเรื่องลูกเรือที่ออกมานั้น บางคนก็ให้ความเห็นโดยรู้ไม่จริง ซึ่งมีผู้รู้จริงไม่มาก ผมขอให้มีการสรุปภายในเป็นทางการ และจะอธิบายความหมายของลูกเรือให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งในระยะสั้นยังไม่มีผลกระทบด้านลูกเรือ แต่ในระยะยาวจะต้องหาวิธีการอื่นๆ เพื่อให้การบริหารจัดการลูกเรือมีความยืดหยุ่น” นายสุเมธ กล่าว

ส่วนกรณีที่ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การบินไทยทบทวนการขายเครื่องบิน ซึ่งเห็นว่าเครื่องบิน แอร์บัส A 340-600 จำนวน 6 ลำ สภาพเครื่องบินยังใหม่สามารถใช้งานได้อีก ดังนั้น จึงให้การบินไทยพิจารณาปรับปรุงภายในและนำมาใช้งานต่อนั้น ขณะที่การเจรจาขายเครื่องบิน ยังติดเรื่องสัญญาขายที่ผู้ซื้อต้องการให้มีการซ่อมก่อนส่งมอบ

นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ขณะนี้การเจรจาขายเครื่องบินกับผู้ซื้อยังไม่ได้ข้อยุติ และคาดว่าจะต้องมีการพิจารณาทบทวนการขายกันใหม่

ขณะเดียวกันในสถานการณ์สายการบินต่างประเทศ อย่าง "เซาท์แอฟริกัน แอร์เวย์ส" (SAA) เตรียมปรับลดพนักงานมากกว่า 900 อัตรา ส่วนหนึ่งในมาตรการปรับโครงสร้างเพื่อยับยั้งการขาดทุนอย่างมโหฬาร ตามคำแถลงของสายการบินแห่งชาติของแอฟริกาใต้ในวันอังคาร(12พ.ย.)

สายการบินเอสเอเอ ระบุว่า ทางบริษัทได้เริ่มปรึกษาหารือกับพนักงานกว่า 5,000 คนของพวกเขาแล้วและอยู่ระหว่างพูดคุยกับสหภาพแรงงานทั้งหลาย

ในการแถลงสรุปกับสื่อมวลชนในวันอังคาร (12พ.ย.) สายการบินเซาท์แอฟริกัน แอร์เวย์ส ระบุว่า แผนปรับโครงสร้างจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมปีหน้า และน่าจะช่วยบริษัทประหยัดงบประมาณได้ 700 ล้านแรนด์ (47 ล้านดอลลาร์หรือราว 1,420 ล้านบาท)

"ถ้ามองไปที่พนักงาน 944 คนโดยประมาณที่อาจตกงาน มันขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการปรับโครงสร้างจะจบลงอย่างไร มันอาจช่วยประหยัดเงินให้บริษัทราว 700 ล้านแรนด์" มาร์ติน เคมป์ ผู้บริหารของแอร์เชฟส์ บริษัทลูกของเซาท์แอฟริกันแอร์เวย์ส กล่าว

อย่างไรก็ตาม เซาท์แอฟริกันแอร์เวย์สไม่เคยมีผลประกอบการรายปีมีกำไรมาตั้งแต่ปี 2011 และกำลังดิ้นรนเติมเต็มช่องว่างของการระดมทุน 21,700 ล้านแรนด์ ในการจัดหาฝูงบินมาทดแทนฝูงบินอันเก่าเก็บของสายการบิน

เจ้าหน้าที่แอฟริกาใต้ได้พยายามเสาะหานักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นของสายการบินแห่งนี้ แต่จนถึงปัจจุบันความพยายามของพวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้แล้วแผนขายหุ้นให้แก่นักลงทุนเอกชนยังถูกต่อต้านจากสหภาพแรงงานต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนการหาเสียงของซีริล รามาโฟซา ในปี 2017 จนเขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในที่สุด

ก่อนหน้านี้ทางสหภาพแรงงานทั้งหลายก็เคยปฏิเสธแผนของประธานาธิบดีรามาโฟซา ในการแยกบริษัทและปรับลดพนักงานของ "เอสคอม" รัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปโภคพลังงานมาแล้ว ในขณะที่บริษัทแห่งนี้จะเริ่มดำเนินปฏิรูปโครงสร้างเช่นกันในปี 2020

ทั้งนี้คาดหมายว่าแผนเกี่ยวกับสายการบินเอสเอเอก็คงเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกัน ท่ามกลางตัวเลขคนว่างงานในประเทศที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1%

เซาท์แอฟริกันแอร์เวย์สเป็นหนึ่งในหลายสายการบินทั่วโลกที่ประสบปัญหาขาดทุนมโหฬารท่ามกลางการแข่งขันระดับสูงและภาวะเศรษฐกิจซบเซา รวมถึงปัจจัยอื่นๆต่างๆนานา ในนั้นรวมถึงการบินไทย สายการบินแห่งชาติของไทยที่พบว่าผลประกอบการไตรมาส 2 ขาดทุนกว่า 6,878 ล้านบาท

ทางการบินไทยใช้มาตรการขอความร่วมมือตามความสมัครใจเฉพาะในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงให้แสดงสปิริตช่วยองค์กรผ่านวิกฤตขาดทุน ด้วยการลดค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการการลดค่าใช้จ่าย แต่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดพนักงาน

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0