โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

การบินไทย: ธนาคารมีสิทธิหักบัญชีหรือไม่ โดย วิโรจน์ พูนสุวรรณ คอลัมน์ กฎหมายธุรกิจ

MATICHON ONLINE

อัพเดต 04 มิ.ย. 2563 เวลา 01.10 น. • เผยแพร่ 04 มิ.ย. 2563 เวลา 01.10 น.
วิโรจน์ พูนสุวรรณ1

การบินไทย: ธนาคารมีสิทธิหักบัญชีหรือไม่ โดย วิโรจน์ พูนสุวรรณ คอลัมน์ กฎหมายธุรกิจ

หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ทำให้การบินไทยได้รับสิทธิในการพักชำระหนี้ในทันที

มีปัญหาในทางปฏิบัติว่า เงินสดที่การบินไทยมีอยู่ในบัญชีธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินเดือนที่ต้องจ่ายให้พนักงาน หรือบัญชีที่บรรดาลูกหนี้ชำระหนี้ให้การบินไทยโดยจ่ายเข้ามาในบัญชีธนาคารเหล่านั้น

ธนาคารมีสิทธิหักเอาเงินสดในบัญชีเหล่านั้น เพื่อนำมาชำระหนี้ของการบินไทย ที่มีอยู่กับธนาคารได้หรือไม่ สิทธิในการหักกลบลบหนี้ของธนาคารในช่วงพักชำระหนี้ เป็นเช่นไร

กฎหมายฟื้นฟุกิจการ เอื้อมไปไม่ถึง

ปัญหาในข้อนี้ กฎหมายฟื้นฟูกิจการ ไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจนคงต้องรอแก้ไขกฎหมาย ในรอบต่อไป

เมื่อกฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามเจ้าหนี้ หักบัญชีธนาคารของลูกหนี้ ก็เท่ากับเปิดทางสะดวกให้ธนาคารหักกลบลบหนี้ได้อย่างสบายใจ แม้การบินไทย จะแสดงเจตนาคัดค้าน และไม่เห็นด้วยสักเพียงใดก็ตาม

ที่กฎหมายฟื้นฟูกิจการ ห้ามไว้ชัด ๆ มีเพียงห้ามการบินไทย ชำระหนี้ ในฐานะลูกหนี้

แต่ในกรณีนี้ การบินไทยเถียงได้ว่าตนเองไม่ผิด เพราะการบินไทย ไม่ได้ชำระหนี้ ธนาคารเจ้าหนี้ต่างหาก ใช้สิทธิหักบัญชีเพื่อนำเงินไปชำระหนี้เอง ฟังดูเหมือนศรีธนญชัย แต่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างนั้นจริง ๆ จะเอาผิดการบินไทย ไม่ได้

จะให้ธนาคารรับผิดชอบ ก็ไม่ทราบว่าจะหากฎหมายข้อใดมาอ้างอิง

หักกลบลบหนี้ที่กฎหมายฟื้นฟูอนุญาต

โดยมากธนาคารมักจะอ้างสิทธิตามกฎหมายฟื้นฟู ที่ให้เจ้าหนี้หักกลบลบหนี้กับลูกหนี้ได้ ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ เป็นต้นไป

ฟังดูอาจจะ งง ๆ แต่จะเข้าใจได้ดีขึ้น ถ้าแยกข้อแตกต่างได้ว่า วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ (27 พฤษภาคม 2563) กับวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ (อาจจะในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 หรือหลังจากนั้น) เป็นคนละวันกัน

กฎหมายพูดถึงสิทธิหักกลบลบหนี้ของเจ้าหนี้เฉพาะหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่ไม่ได้เขียนอะไรไว้สำหรับช่วงเวลาพักการชำระหนี้ ก่อนหน้าที่จะถึงวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ

17 สิงหาคม วันชี้ชะตา การฟื้นฟูกิจการ

กฎหมายที่ให้สิทธิเจ้าหนี้หักกลบลบหนี้ ในข้อนี้มีวัตถุประสงค์ให้เจ้าหนี้นำสิทธิหักกลบลบหนี้มาใช้ นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นต้นไป ไม่ใช่ก่อนหน้านั้น

ซึ่งก็ต้องมารอดูวันไต่สวนนัดแรกในวันที่ 17 สิงหาคม ว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการในวันนั้นหรือไม่ และมีเจ้าหนี้รายใดคัดค้านการฟื้นฟู ก่อนถึงวันไต่สวนหรือไม่ ถ้าไม่มีศาลก็สั่งฟื้นฟูได้เลย ถ้ามีเจ้าหนี้คัดค้านก็ต้องไต่สวนกันหลายนัด

บทบัญญัติที่ให้สิทธิธนาคารหักกลบลบนหนี้ดังกล่าว ไม่ได้ครอบคลุมย้อนไปถึงห้วงเวลาสุญญากาศ ในช่วงพักชำระหนี้ ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ไปจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ

จึงพูดได้เต็มปากว่า กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจน ว่าธนาคารมีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้หรือไม่ ในช่วงพักชำระหนี้ การที่ธนาคารตีความเอาเอง ว่าตนมีสิทธิหักบัญชีการบินไทย เต็มที่ ก็มีความเสี่ยงที่ศาลจะไม่เห็นด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นศาลในคดีนี้ หรือศาลในคดีอื่น ที่การบินไทยอาจฟ้องเป็นคดีขึ้นมาใหม่

ระวัง หนังสือหักกลบลบหนี้!

เวลาลูกค้าไปขอเงินกู้จากธนาคาร ธนาคารมักตั้งเงื่อนไขว่าก่อนให้เงินกู้ ลูกค้าต้องลงนามในหนังสือหักกลบลบหนี้ก่อน ลูกค้าก็ไม่เคยอ่าน ธนาคารให้เซ็นอะไรก็เซ็น

การบินไทย ก็ไม่มีข้อยกเว้น ต้องลงนามในหนังสือหักกลบลบหนี้ให้ไว้แก่ธนาคารเช่นกัน

หนังสือหักกลบลบหนี้ นี่แหละคือต้นตอปัญหาของ การบินไทย

หนังสือหักกลบลบหนี้ของแทบทุกธนาคารจะบอกว่า หากลูกหนี้เป็นหนี้ธนาคารไม่ว่าจะเป็นหนี้ชนิดใด ก็ตาม ธนาคารมีสิทธิหักบัญชีเงินสดของลูกหนี้ใด ๆ ที่มีอยู่กับธนาคารได้ทั้งสิ้น เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มีอยู่กับธนาคาร

เมื่อมีเงินสดหลงเข้ามาอยู่ในบัญชีของการบินไทย โดยการบินไทยจ่ายเงินเข้าไปเพื่อจ่ายต่อให้พนักงานเป็นเงินเดือน หรือลูกหนี้ของสายการบินโอนเงินชำระหนี้ให้การบินไทย ธนาคารจึงใช้สิทธิตามหนังสือหักกลบลบหนี้ หักบัญชีของการบินไทย นำเงินมาชำระหนี้ ที่การบินไทยเป็นหนี้ธนาคารเสีย

ข้อผิดพลาดของธนาคาร

แต่ธนาคารเองก็จะกระหยิ่มใจไม่ได้ เพราะกฎหมายฟื้นฟูกิจการอีกข้อหนึ่ง ก็บัญญัติไว้โดยแจ้งชัด ห้ามเจ้าหนี้มีประกัน บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

ลำพังหนังสือหักกลบลบหนี้ จะถือว่าเป็นหลักประกันตามกฎหมาย คงจะไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่ธนาคารใช้สิทธิหักกลบหนี้ ตามหนังสือฉบับนี้ จึงน่าจะทำได้ ไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย รอดตัวไป

จริงอยู่ในหลักการของการให้สินเชื่อ หนังสือหักกลบลบหนี้ ถือเป็นหลักประกัน แต่หลักประกันดังกล่าว ไม่ใช่หลักประกันทางกฎหมาย เหมือนจำนอง จำนำ เจ้าหนี้จึงไม่ถูกจำกัดสิทธิ

ทว่าเรื่องง่าย ๆ เช่นนี้ ก็ทำให้ธนาคารผิดพลาด ได้เช่นกัน หากหนังสือหักกลบลบนหนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจำนำเงินฝาก ที่ธนาคารจดทะเบียนหลักประกันไว้ กับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตาม พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558

สัญญาจำนำเงินฝากจดทะเบียน ดาบสองคม

ธนาคารสมัยใหม่ชอบที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับหลักประกันสินเชื่อ โดยนำสัญญาจำนำเงินฝาก ไปจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

เพื่อให้สัญญาดังกล่างมีผลเป็นหลักประกันทางกฎหมาย ให้สิทธิพิเศษแก่ ธนาคารในการบังคับหักกลบลบหนี้เอากับเงินฝาก ของลูกหนี้ ได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ในทำนองเดียวกับจำนอง หรือจำนำ โดยทั่วไป

บุริมสิทธิพิเศษของธนาคารนี่แหละ จะนำความเดือดร้อนมาให้ เพราะจะทำให้สัญญาจำนำเงินฝากจดทะเบียนกลายเป็นหลักประกันทางกฎหมาย ที่กฎหมายฟื้นฟูกิจการ ห้ามเจ้าหนี้บังคับชำระหนี้เอากับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้น

การบินไทย พลิกเกม จากแพ้ เป็นชนะ

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ หากการบินไทย ทำสัญญาจำนำเงินฝากกับธนาคารไว้ โดยมีหนังสือหักกลบลบหนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา และการบินไทยยอมให้ธนาคารหักบัญชีเงินฝากที่จำนำไว้ได้

แล้วธนาคารคิดไม่รอบด้าน นำสัญญาจำนำเงินฝากไปขึ้นทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ธนาคารย่อมหมดสิทธิหักกลบลบหนี้ในบัญชีเงินฝากของการบินไทยที่จำนำไว้ในทันที ที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ระยะเวลาพักการชำระหนี้ของการบินไทย เริ่มมีผลบังคับ

หากธนาคารดันทุรัง หักบัญชีเงินสดของการบินไทย โดยพลการ อันปราศจากคำอนุญาตจากศาล การหักบัญชีของธนาคารย่อมกระทำไปโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่มีผลบังคับ

ทางแก้ชั่วคราวของการบินไทย คือ ย้ายบัญชีเงินฝากไปธนาคารอื่น ที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ของบริษัท และอย่าเพิ่งไปเซ็นหนังสือหักกลบลบหนี้กับธนาคารใหม่

วิโรจน์ พูนสุวรรณ เป็นที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส และหัวหน้าโครงการพิเศษ สำนักกฎหมายบลูเมนทอล ริชเตอร์ แอนด์สุเมธ ติดต่อได้ที่ wirot@brslawyers.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0