โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

การบินไทยแร้งลง! ‘ไพศาล’งงมีใบสั่งคนสำคัญให้การบินไทยว่าจ้างสำนักกฎหมาย

The Bangkok Insight

อัพเดต 03 มิ.ย. 2563 เวลา 03.44 น. • เผยแพร่ 03 มิ.ย. 2563 เวลา 03.39 น. • The Bangkok Insight
การบินไทยแร้งลง! ‘ไพศาล’งงมีใบสั่งคนสำคัญให้การบินไทยว่าจ้างสำนักกฎหมาย

การบินไทยแร้งลง "ไพศาล" โพสต์ข้อความ ระบุมีใบสั่งจากคนสำคัญให้การบินไทยว่าจ้าง สำนักกฎหมายเพิ่มเติม เป็นสำนักกฎหมายคนดัง ทำให้สำนักงานกฎหมายฝรั่งไม่พอใจ

นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol  ระบุว่าหรือว่า แร้งกำลังลงที่การบินไทย?

การบินไทยแร้งลง
การบินไทยแร้งลง

สำนักงานกฎหมายฝรั่งที่ได้งาน กฎหมายในการฟื้นฟู การบินไทยได้เปิดเผยว่า มีใบสั่งจากคนสำคัญให้การบินไทยว่าจ้าง สำนักกฎหมายเพิ่มเติม เป็นสำนักกฎหมายคนดัง ชนิดลือลั่นสนั่นประเทศไทย ซึ่งสำนักงานฝรั่งไม่พอใจเห็นว่าจะทำให้การฟื้นฟูประสบปัญหา จึงขู่ว่าถ้ามีการจ้างสำนักกฎหมายเพิ่มเติม สำนักงานกฎหมายฝรั่งก็จะถอนตัว!! อย่างนี้ก็วุ่นแน่ ก็ได้แต่ พิจารณาธรรมอย่างหนึ่งว่า ค่าจ้างเรื่องนี้ ซึ่งยังเป็นข่าวคลุมเครือว่ากี่พันล้านบาทนั้น มีจำนวนมหาศาลมาก เข้าทำนองที่ไหนมีน้ำตาลที่นั่นก็ย่อมมีมดเป็นธรรมดา
แต่เรื่องนี้คะเนว่าท่านประธานพีระพันธ์ของผม คงไม่ยอมหรอกครับ!!!

https://www.facebook.com/Paisal.Fanpage/photos/a.481669931931684/2904257573006229/?type=3&theater

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่วันนี้ 27 พฤษภาคม 2563 ศาลล้มละลายกลาง ถนนเเจ้งวัฒนะ มีคำสั่งคดีดำ ฟฟ 10/2563 รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้บริษัทได้รับการพักชำระหนี้ทันที (automatic stay) เเละศาลฯ ได้นัดไต่สวนวันที่ 17 สิงหาคม 2563 เวลา 9.00 น. โดยให้ประกาศคำสั่งรับคำร้องขอและวันเวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ห่างกันไม่เกิน 7 วัน

นอกจากนี้ ให้การบินไทยส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อเจ้าหนี้ และแก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท หรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรมบังคับคดี และให้ส่งให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 90/9 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483

จ้าง"อีวายฯ"ร่วมทำแผนฟื้นฟูการบินไทย

ขณะเดียวกันให้ประกาศวันเวลานัดไต่สวน โดยวิธีลงโฆษณาทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอีกทางหนึ่ง แต่ หากเจ้าหนี้ของการบินไทยประสงค์คัดค้าน ให้ยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่า 3 วัน มิฉะนั้นถือว่าไม่คัดค้าน 

ทั้งนี้บริษัทได้เสนอให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการ (บอร์ด) ของการบินไทยเป็นผู้ทำแผน

โดยหากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว ผู้ทำแผนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลจะมีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทต่อไป

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมทั้งบริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางของการบินไทย ในประเทศต่างๆ หรือการขนส่งสินค้าไปรษณียภัณฑ์ จะดำเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูองค์กรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

เมื่อเร็วๆนี้ คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการทั้ง 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ บริษัทอีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ทำแผนฯร่วม บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ที่ปรึกษากฎหมายอย่างเป็นทางการ และ บล.ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน จะเข้าพบคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  เพื่อชี้แจงแผนฟื้นฟูกิจการ และสถานะของการบินไทย  รับทราบแนวทางการทำงาน และกำหนดการบริหารแผนฯทั้งกลุ่มเจ้าหนี้ การจัดโครงสร้างองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นฟูธุรกิจ ก่อนหน้านี้ได้มีการแต่งตั้ง บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งได้ยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลในประเทศและในต่างประเทศ

ทบทวนสิทธิการบินของการบินไทยใหม่

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มอบหมายให้กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปทบทวนสิทธิการบินของการบินไทย และศึกษาความเหมาะสม หากจะมีการเจรจาสิทธิการบินระหว่างประเทศหลังจากนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา การบินไทยได้รับสิทธิพิเศษในการเจรจาสิทธิการบินระหว่างประเทศ เนื่องจากมีฐานะเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจและสายการบินแห่งชาติ โดยการบินไทยจะทำหน้าที่เป็นเลขาคณะเจรจาสิทธิการบินระหว่างประเทศ พร้อมทั้งได้รับสิทธิ์ในการเลือกตารางบินก่อนสายการบินอื่น

แต่ขณะนี้เนื่องจากการบินไทยเปลี่ยนจากองค์กรรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทเอกชนแล้ว ดังนั้น การบินไทยจึงไม่สามารถได้รับสิทธิพิเศษ โดยจะต้องมีการแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่แต่งตั้งให้การบินไทยเป็นเลขาคณะเจรจาสิทธิการบิน เพื่อให้การบินไทยหลุดพ้นจากคณะเจรจา และหลังจากนี้ ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการรับจัดสรรตารางบินอย่างเหมาะสมและเท่าเทียมเหมือนสายการบินอื่น

อย่างไรก็ตาม สิทธิการบินเดิมที่การบินไทยได้รับจัดสรรไปก่อนหน้านี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากถือเป็นสิทธิ์ของการบินไทยที่จะสามารถพิจารณาทำการบินตามตารางบินที่เคยได้รับได้ แต่หากการบินไทยทบทวนแผนฟื้นฟูธุรกิจ และพบว่าต้องปรับเปลี่ยนรายละเอียดของตารางบิน ต้องการปรับลดความถี่ หรือคืนสิทธิการบิน ก็สามารถดำเนินการได้

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT) ศึกษาความเหมาะสมกรณีมีการเจรจาสิทธิการบินระหว่างประเทศแล้วว่า จะต้องจัดสรรตารางบินให้เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกสายการบินอย่างไร

นอกจากนี้ กระทรวงฯ เตรียมเรียกประชุมหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการบินไทย เป็นคู่สัญญา เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เพื่อพิจารณารายละเอียดสัญญาที่ทำร่วมกับการบินไทย หากพบว่ามีข้อเสนอพิเศษภายใต้เงื่อนไขหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น ค่าจอดอากาศยานในราคาพิเศษ ที่ไม่เท่าเทียมกับสายการบินอื่น อาจต้องนำมาทบทวนสิทธิ์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0