โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การบินไทยตั้ง ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ขึ้นแท่นหนึ่งใน 4 กรรมการบริษัทฯ คนใหม่

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 26 พ.ค. 2563 เวลา 10.50 น. • BLT Bangkok
การบินไทยตั้ง ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ขึ้นแท่นหนึ่งใน 4 กรรมการบริษัทฯ คนใหม่

เป็นอีกความเคลื่อนไหวล่าสุดของ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ในการเดินหน้าเพื่อแก้วิกฤตของบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงมืดหม่นที่สุด กับการออกหนังสือรายงานกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เกี่ยวกับการตั้งกรรมการบริษัทใหม่4 คน ซึ่งมีการดึง ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี) กลับมาอีกครั้งด้วย

4 บอร์ดใหม่การบินไทย

บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ได้ออกหนังสือรายงาน กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เรื่องการแต่งตั้ง กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) โดยผลการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งพิเศษที่10-1/2563 ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทฯ ใหม่4 คน โดยมีผลตั้งแต่วันที่25 พฤษภาคม2563 ดังนี้

  • แต่งตั้ง นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ แทน นายปิติพันธ์ เทพปฎิมากรณ์
  • แต่งตั้ง นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ แทน นายพินิจ พัวพันธ์
  • แต่งตั้ง นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ แทน นางปราถนา มงคลกุล
  • แต่งตั้ง นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ แทน นางสาวศิริกุล เลากัยกุล

ความน่าสนใจของการดึง ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กลับมาสู่การบริหารงานการบินไทยอีกครั้ง

สปอตไลท์คนหนึ่งที่เชื่อว่าหลังจากนี้ น่าจะเป็นที่จับตามองอย่างมาก หลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งใน4 ของคณะกรรมการคนใหม่ ของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) อย่าง ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ซึ่งเป็นคนทำงานที่น่าจะได้รับการยอมรับที่สุดคนหนึ่ง ในหลายองค์กรที่เขาได้มีโอกาสเข้าไปบริหารงาน ซึ่งหากจะเล่าให้เห็นภาพถึงความสามารถของเขาสำหรับคนทั่วไป คงจะบอกได้ว่า ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ คือคนที่มีส่วนสำคัญในบทบาทต่าง ๆ ที่เขาเคยเข้าไปบริหารงานอาทิเช่น

ในฐานะอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สพช.)

  • ผู้อยู่เบื้องหลังการกำหนดราคาน้ำมันลอยตัว
  • การใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
  • การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้เอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพื่อลดการผูดขาดการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฝผ.) และสนับสนุนให้เกิดพลังงานทางเลือกหลายรูปแบบ

หรือจะในส่วนการทำงานที่สังคมน่าจะให้ความสนใจที่สุดในเวลานี้อย่างในฐานะ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(DD) บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) โดยหลังการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2552 เพื่อมาสมัครคัดเลือกเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้เมื่อวันที่18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 และกลายเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทยคนที่15

โดยช่วงเวลาที่เข้ามาบริหารนั้น นับเป็นช่วงที่การบินไทยกำลังเผชิญกับภาวะขาดทุนสะสม และมีสถานะทางการเงินที่ลำบาก นับเป็นรัฐวิสาหกิจที่กำลังประสบปัญหาล้วงลูกจากนักการเมือง การคอร์รัปชัน ฯลฯ โดยทางดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ก็ได้ออกนโยบายต่าง ๆ อย่างการลดค่าใช้จ่าย ปรับลดเงินเดือนพนักงาน ปลดพนักงาน ตัดงบประมาณส่วนที่ไม่จำเป็นของบริษัทออกอย่างมหาศาล และปรับปรุงภาพลักษณ์ของบริษัทให้ดีขึ้น จนทำให้ในปี พ.ศ. 2552 การบินไทยสามารถกลับมาทำกำไรได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี โดยมีตัวเลขอยู่ที่7,343.58 ล้านบาท และทำกำไรเพิ่มขึ้นในปีต่อมา และมีการวางนโยบายประกันความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2554 การบินไทยก็ได้รับการจัดอันดับจากสกายแทรกซ์ ให้เป็นสายการบินอันดับ5 ของโลก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่การบินไทยติด1 ใน5 สายการบินที่ดีที่สุด

แต่แล้วในวันที่21 พฤษภาคม2555 คณะกรรมการบริหารบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ได้มีมติเลิกจ้าง ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ จากการเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(DD) ของบริษัทฯโดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับบอร์ดผู้บริหารของบิรษัทฯ

จนมาล่าสุดในความสัมพันธ์ที่มีทั้งรอยยิ้ม และความเจ็บปวดของ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กับ การบินไทย ก็โคจรกลับมาอยู่ในเส้นทางที่บรรจบกันอีกครั้ง หลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) อีกครั้ง เมื่อวันที่25 พฤษภาคม2563 ซึ่งทิศทางการดำเนินงานของการบินไทยจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อีกทั้งกรรมการใหม่อีก3 ท่าน ตลอดจนบุคลากรอื่น ๆ ในหน่วยงาน จะสามารถสร้างปาฎิหารย์ให้ การบินไทย กลับมาบินได้อีกครั้งอย่างสง่างามหรือไม่ ล้วนเป็นคำถามที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะคอยติดตามกันอย่างใกล้ชิด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0