โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การบำบัดเยียวยาโรคจิตยุคกลาง กรณีเต้นรำเพ้อคลั่งที่ "ระบาด" ตามกันในยุโรป

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 16 ก.ย 2565 เวลา 18.20 น. • เผยแพร่ 16 ก.ย 2565 เวลา 18.12 น.
พฤติกรรมประหลาด (Dancing Mania) ผู้ป่วยจะเต้นเร่า ๆ ร้องรำทำเพลงอย่างสุดเหวี่ยงไร้การควบคุม
พฤติกรรมประหลาด (Dancing Mania) ผู้ป่วยจะเต้นเร่า ๆ ร้องรำทำเพลงอย่างสุดเหวี่ยงไร้การควบคุม

การบำบัดเยียวยาผู้ป่วยโรคจิตแบบฮิปโปเครติส ซึ่งกำลังดีมีเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์ แต่จำต้องสะดุดหยุดลงอย่างน่าเสียดาย โดยกลับคืนไปเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจแบบเดิม ๆ อีก

นับตั้งแต่ยุคโบราณเข้าสู่ยุคมืด (dark age) และผ่านเข้าสู่ยุคกลาง (middle age) ในห้วงปี ค.ศ. 500-1500 การบำบัดเยียวยาผู้ป่วยโรคจิต ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องเวทมนตร์คาถาและภูตผีปีศาจ คือเชื่อว่าผีทำให้ป่วย หรือเข้าสิงจนพฤติกรรมแปรปรวนไป ถ้าจะให้เป็นปกติดังเดิมก็ต้องไล่ผีออกด้วยวิธีการต่าง ๆ ตั้งแต่ใช้ความนุ่มนวล นอบน้อม จนถึงใช้การทรมานทารุณ อันชวนให้สลดสังเวชใจอย่างยิ่ง

ในช่วงปลายยุคกลาง มีพฤติกรรมแปรปรวนหรืออาการป่วยอันแปลกประหลาดเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เกิดเป็นรายบุคคล เกิดเป็นหมู่หรือกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มอุปาทาน (group hysteria) กล่าวคือ กลุ่มผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมเต้นรำสนุกสนานเกินพอดี ใกล้ ๆ ไปทางเพ้อคลั่ง และมีแนวโน้มระบาด ออกอาการกระโดดโลดเต้น ร้องครวญครางและชักกระตุกต่าง ๆ ซึ่งเคยมีรายงานมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 แล้ว โดยเริ่มต้นครั้งแรกที่ประเทศอิตาลี และกลับมาชุกชุมมากในศตวรรษที่ 13 พฤติกรรมประหลาดดังกล่าว รู้จักกันว่าทารานติสม์ (Tarantism) หรือดานซิงมาเนีย (Dancing Mania) ผู้ป่วยจะเต้นเร่า ๆ ร้องรำทำเพลงสุดเหวี่ยงและไร้การควบคุม และระบาดเข้าไปในประเทศเยอรมนีกับประเทศยุโรปเกือบทั้งหมด เรียกกันว่าเซ็นต์ ไวตัส ดานซ์ (St. Vitus’s Dance) มีลีลาการเต้นอันเร่าร้อน คล้าย ๆ กับการเต้นของชาวกรีกโบราณ เต้นถวายเทพเจ้าแห่งไวน์ไดโอนีซุส

พฤติกรรมประหลาดทำนองนั้น ในปัจจุบันพบในกลุ่มนักเรียนหญิง-วัยรุ่น และกลุ่มสาวโรงงาน ที่โรงเรียนและโรงงานอยู่ห่างไกลชุมชน หรือเป็นสังคมปิด ผู้ป่วยทั้งกลุ่มจะถูกครอบงำด้วยอารมณ์เครียดจัดไม่มีทางออก เมื่อคนใดคนหนึ่งหมดความอดทน คือความไม่สบายใจจะเปลี่ยนเป็นไม่สบายกายทันที – convert ผู้ป่วยจะล้มลงหวีดร้องหรือมีอาการเต้นเร่า ๆ ร้องครวญครางและร้องไห้ เพื่อนผู้ป่วยคนอื่น ๆ ก็จะเกิดอาการเดียวกันตาม ๆ กันไป ดุจปฏิกิริยาลูกโซ่ – chain reaction การเจ็บป่วยจึงกลายเป็นหมู่ใหญ่ มีความสับสนอลหม่านมาก

สำหรับในโรงเรียน หากมีครูพลศึกษาที่พอจะเข้าใจปรากฏการณ์ จะช่วยได้มากโดยพยายามแยกผู้ป่วยรายต้น ๆ ออกไปเสียก่อนเพื่อตัดตอนการเจ็บป่วยตาม ๆ กันมา ความวุ่นวายก็จะลดลงบ้าง ในโรงงานก็เช่นเดียวกัน หัวหน้างานหรือโฟร์แมนก็จะช่วยได้มาก ลักษณะพิเศษของผู้ป่วยไทยอย่างหนึ่งก็คือ มักเพิ่มความเชื่อแบบพื้นบ้านเข้าไปด้วย เช่น เชื่อเรื่องวิญญาณ ภูตผีปีศาจ เจ้าที่เจ้าทาง ศาลพระภูมิ เสาตะเคียน เป็นต้น เสริมการเจ็บป่วยเข้าไปด้วยแบบที่เรียกว่าเกิดอาการผีเข้าเจ้าทรง – dissociated behavior ผู้ป่วยสูญการครองสติ อาจเรียกว่าสติแตก ซึ่งทำให้บรรยากาศการเจ็บป่วยวุ่นวายมากขึ้น

ในห้วงที่เซ็นต์ ไวตัส ดานซ์ ระบาดนั้นก็เกิดพฤติกรรมประหลาดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ผู้ป่วยมีความหลงผิดว่า ตนเป็นสัตว์ที่มีฤทธิ์ หรือดุร้าย เช่นสุนัขป่า กระทิงป่า เสือ และจระเข้ ผู้ป่วยจะปรับแต่งพฤติกรรมของตนให้คล้าย หรือเสมือนสัตว์เหล่านั้น ความหลงผิดว่าตัวเองแปลงร่างได้เช่นนี้ เรียกว่าไลแคนโทรพี – Lycanthropy ซึ่งมักจะปรากฏชุกชุมในชนบท ผู้ป่วยฝรั่งมักหลงผิดว่าตนเป็นสุนัขป่า ซึ่งเราจะเห็นเสมอ ๆ ว่ามีนวนิยายและภาพยนตร์สร้างเสริมเรื่องทำนองนี้เสมอ ๆ ถ้าเป็นแบบไทยก็มักเสริมด้วยความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถา หรือหลงผิดของใครสักคนขึ้นในชนบท อันเป็นฐานให้เกิดวรรณกรรมเรื่องไกรทองก็ได้

พระราชาแห่งอาณาจักรบาบิโลเนียเคยมีพระอาการหลงผิดเช่นนี้ ดังระบุไว้ในพระคัมภีร์ว่าพระองค์เป็นสัตว์ร้ายชนิดหนึ่ง “…พระองค์เปลี่ยนร่างจากมนุษย์โดยกินหญ้าแบบวัว ผิวหนังนั้นเปียกชุ่มด้วยหยาดน้ำค้างจากสวรรค์ ขนทั่วร่างเจริญดุจขนนกอินทรี และกงเล็บยาวดุจเหยี่ยว” พระราชาทรงเคลื่อนไหวโดยอาการคลานดุจสัตว์สี่เท้า พระเกศาและพระมัสสุนั้นขาวและยาวราวกับขนสิงโต ส่วนพระเนตรนั้นเบิกโพลงดุร้าย!

พฤติกรรมป่วยทางจิตเป็นหมู่ (mass madness) ปรากฏชุกชุมจนถึงศตวรรษที่ 17 ที่ชุกชุมสูงสุดอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 13-15และในห้วงเวลาดังกล่าว เกิดการตายอย่างประหลาดเรียกว่าตายดำ หรือ Black Death คร่าชีวิตชาวยุโรปไปเป็นจำนวนมาก ปรากฏการณ์เช่นนี้กระทบจิตใจผู้คนอย่างสาหัส เกิดการหวาดกลัวกันทั่วไป กว่าจะสงบลงได้ ใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปี

ในห้วงศตวรรษที่ 16แม่ชีเทเรซ่า (Teresa of Avila) แห่งสเปน เธอตั้งข้อสังเกตว่าบรรดาแม่ชีในสำนักของเธอเจ็บป่วยทางจิตขึ้นพร้อม ๆ กันทั่วสำนัก ซึ่งได้รับการวินิจฉัยจากเจ้าอธิการว่าแม่ชีเหล่านั้นถูกแม่มดเข้าสิง แต่แม่ชีเทเรซ่าค้านว่ามิใช่ถูกแม่มดเข้าสิง แต่ดูราวกับว่าพวกเธอป่วย – as if sick (comas enfermas) คำว่าป่วยคล้ายเป็นคำแปลกประหลาดมากในเวลานั้นกับอาการที่เห็นเช่นนี้ และมิใช่ป่วยทางกาย แต่เป็นป่วยทางใจยิ่งดูแปลกประหลาดกันไปใหญ่ อาการเหล่านั้นในปัจจุบันน่าจะวิฉัยว่าเป็นฮิสทีเรีย (Hysteria : Conversion Type) ปัจจุบันเรียกว่า อุปาทานกลุ่มซึ่งได้กล่าวถึงมาบ้างแล้ว

วัตรปฏิบัติของเหล่าแม่ชีที่เจ็บป่วยเหล่านั้น คงจะเคร่งครัดมาก ทำให้พวกเธอเครียดจัด จิตที่เจ็บป่วยเปลี่ยนเป็นกายที่เจ็บป่วย โดยวิถีการสับเปลี่ยนของกลไกทางจิตใจที่เรียกว่าคอนเวอร์ชั่น – Conversion คือเป็นการทำงานของจิตอย่างหนึ่งเพื่อลดทอนผ่อนคลายความไม่สบายใจออกไป การทำงานของจิตเช่นนั้นนักจิตวิเคราะห์เรียกว่า Ego Defense Mechanism

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0