โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การนอนหลับที่ดีในวัยทำงาน สำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพกาย-ใจ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 25 พ.ย. 2562 เวลา 06.46 น. • เผยแพร่ 15 ก.ค. 2562 เวลา 10.56 น.
การนอนหลับ สำคัญต่อสุขภาพวัยทำงาน

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย อ.พญ.กัลยา ปัญจพรผล

การนอนหลับเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในชีวิตไม่น้อยไปกว่าการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง เวลาหนึ่งในสามของชีวิตคนเราควรให้ความสำคัญกับการนอน สำหรับผู้ใหญ่แนะนำระยะเวลาในการนอนหลับ 7-9 ชั่วโมง

วัยทำงานโดยเฉพาะในสังคมเมืองที่เร่งรีบในการเดินทางและการเครียดจากการทำงาน เวลาพักผ่อนโดยเฉพาะระยะเวลาการหลับที่ไม่เพียงพอ และคุณภาพการหลับที่ไม่ดี ทำให้มีอาการง่วงในเวลากลางวัน เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคซึมเศร้า ส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันทำให้เกิดการเจ็บป่วยมากขึ้นกว่าปกติ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงาน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น การนอนหลับที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งสำหรับร่างกาย

สุขอนามัยนอนหลับ (sleep hygiene) ที่ดีเป็นแนวทางการปฏิบัติพื้นฐานในการนอนหลับที่ทำให้คุณภาพและระยะเวลาการนอนหลับดีขึ้น ทำให้สุขภาพทางกาย ใจ และคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคที่เกิดจากการนอนหลับต่าง ๆ ได้

แนวทางการปฏิบัติ sleep hygiene 10 ประการ สำหรับผู้ใหญ่ มีคำแนะนำในการปฏิบัติดังนี้

1.ควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน ทั้งวันทำงานปกติและวันหยุด

2.ไม่แนะนำให้งีบในเวลากลางวัน ถ้านอนกลางวันเป็นประจำ ไม่ควรงีบกลางวันเกิน 30 นาที และไม่ควรงีบหลังบ่าย 3 โมง

3.หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม อย่างน้อย

6 ชั่วโมงก่อนนอน

4.หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และการรับประทานอาหารมื้อหนัก อาหารเผ็ด หรืออาหารหวานอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน

5.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน

6.เตียงนอนควรเป็นเตียงที่นอนแล้วสบาย และห้องนอนควรมีอุณหภูมิที่เหมาะสม การระบายอากาศดี ไม่ควรมีแสงเล็ดลอดเข้ามา และไม่ควรมีเสียงดัง

7.การผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล นั่งสมาธิ หลีกเลี่ยงการโต้เถียง คุยโทรศัพท์ หรือดูภาพยนตร์ตื่นเต้นสยองขวัญ ก่อนนอน

8.ควรใช้ห้องนอนเพื่อการนอนและกิจกรรมทางเพศเท่านั้น อย่าใช้ห้องนอนและเตียงนอนเป็นที่ทำงาน เล่นคอมพิวเตอร์ แท็บเลต โทรศัพท์มือถือ ดูโทรทัศน์ และรับประทานอาหาร

9.หากนอนไม่หลับภายใน 30 นาที ไม่ควรกังวล ไม่ควรมองนาฬิกา ควรลุกจากที่นอน ทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบา ๆ แล้วกลับมานอนใหม่อีกครั้งเมื่อง่วง

10.รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน เนื่องจากแสงแดดเป็นตัวควบคุมนาฬิกาชีวิตที่สำคัญการปฏิบัติ sleep hygiene ที่แนะนำข้างต้น ควรทำติดต่อกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ท่านจะหลับได้ดี มีความตื่นตัวในเวลากลางวัน ทำงานได้ดีขึ้น และสุขภาพทางกาย ใจดีขึ้น

หมายเหตุ : อ.พญ.กัลยา ปัญจพรผล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0