โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

การนอนหลับกลไกสำคัญพัฒนาสมองและการเรียนรู้

new18

อัพเดต 22 ก.พ. 2562 เวลา 12.08 น. • เผยแพร่ 22 ก.พ. 2562 เวลา 12.05 น. • new18
การนอนหลับกลไกสำคัญพัฒนาสมองและการเรียนรู้
การนอนหลับกลไกสำคัญพัฒนาสมองและการเรียนรู้

*การเติบโตและการพัฒนาของสมองพบว่าเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงสามปีแรกของชีวิต สมองของเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักเพียง 400 กรัม และจะเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็วเป็น 1,000 กรัมในวัยสามขวบ หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงจนถึงเป็นขนาดสูงสุดประมาณ 1,200 กรัมในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ไม่เพียงแต่ขนาดที่โตขึ้น สมองยังพัฒนาโดยการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการทำงานของสมองส่วนต่าง ๆ ให้ทำงานประสานกัน *

*ทารกแรกเกิดมีเซลล์สมองมากกว่า 80,000 ล้านเซลล์ เซลล์เหล่านี้ไม่มีการเพิ่มจำนวนอีกหลังเกิด แต่เกิดการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองในตำแหน่งต่าง ๆ ที่เรียกว่า synapse เกิดขึ้นมากมาย โดยแต่ละเซลล์มีการเชื่อมต่อมากถึง 40,000 จุด ซึ่งพบว่ามีการเชื่อมต่อเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งล้าน synapse ในทุกวินาที เพื่อให้สมองทำงานประสานกันได้ดีสอดคล้องไปกับการพัฒนาการของเด็กที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สมองยังมีการพัฒนาให้การส่งสัญญาณสมองในแต่ละการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วโดยการสร้างปลอกเยื่อหุ้มประสาทหรือที่เรียกว่าไมอีลิน (myelin) พบว่ากระบวนการที่สำคัญของการพัฒนาสมอง ทั้งการเกิด synapse และการสร้าง ไมอีลิน (myelin) นี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในขณะหลับ *

ในวัยที่พัฒนาการของเด็กเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากการนอนร้องไห้ดูดนม จนเป็นเด็กที่สามารถนั่ง พูด ยืน เดินได้นั้น เป็นช่วงเดียวกับที่เด็กในวัยสามปีแรกของชีวิตใช้เวลาในการนอนมากกว่าครึ่งของวัน ดังนั้น การนอนจึงไม่ใช่เพียงเป็นเวลาที่ร่างกายและจิตใจพักผ่อนเท่านั้น แต่เป็นเวลาที่สมองมีการทำงานมากมาย อันทำให้เกิดพัฒนาการในด้านต่าง ๆ

*ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของสมองมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ พันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อแม่ การเลี้ยงดู เช่น การได้รับสารอาหารที่เพียงพอ การได้รับการกระตุ้นหรือมีปฏิสัมพันธ์อย่างเหมาะสมกับวัย และการนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ มีการศึกษาพบว่าในทารกและเด็กเล็กที่นอนไม่เพียงพอมีขนาดสมองที่เล็กกว่าและมีระดับคะแนนพัฒนาการและความสามารถในการเรียนรู้ต่ำกว่าเด็กที่นอนเพียงพออย่างชัดเจน และยังมีการศึกษาพบว่าพัฒนาการทางด้านสติปัญญา สังคม และอารมณ์ในช่วงแรกของชีวิตนี้ ส่งผลในระยะยาวต่อความสามารถในการเรียนรู้เมื่อเข้าสู่วัยเรียนและวัยรุ่นอีกด้วย *

นอกจากนี้ การนอนยังมีผลต่อการจัดการความจำของสมอง โดยเฉพาะความรู้หรือประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ใหม่ในแต่ละวัน มีการศึกษาทั้งในวัยเด็กประถมและวัยรุ่นที่กำลังศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาให้ผลในแนวทางเดียวกัน พบว่าเมื่อให้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทั้งด้านความจำและความสามารถในการประยุกต์หรือปฏิบัติ โดยให้กลุ่มหนึ่งทำแบบทดสอบทันทีภายหลังการเรียนและทำแบบทดสอบซ้ำอีกครั้งหลังจากนอนหลับ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งทำแบบทดสอบหลังจากที่ได้นอนหลับพักก่อน พบว่าคะแนนจากแบบทดสอบจะดีขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากที่ได้นอนหลับ จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่าการนอนมีผลต่อการจัดการความจำของสมองโดยพบว่า ขณะที่ตื่น เด็กได้รับการกระตุ้นประสาทสัมผัสต่าง ๆ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากมาย เมื่อเด็กหลับสมองจะตัดการรับสัญญาณรบกวนอื่น ๆ จากสิ่งแวดล้อมภายนอกและสมองจะทำการจัดเก็บความรู้ที่ได้เรียนรู้ใหม่ไปยังสมองส่วนกลีบขมับและสมองกลีบหน้า เพื่อเก็บเป็นความทรงจำระยะสั้นและความทรงจำระยะยาวตามลำดับ รวมทั้ง การสร้างความสัมพันธ์จัดระเบียบความรู้ใหม่เข้ากับความรู้และประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ผ่านการสร้าง synapse ที่มากขึ้น ทำให้สามารถดึงความรู้ที่มีอยู่ประสานกันอย่างเป็นระบบ พร้อมนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยแต่ละระยะของการนอนก็มีความสัมพันธ์กับความจำและการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน เช่น หลับตื้นหรือหลับระยะที่สองมีความเกี่ยวข้องกับความจำด้านการเคลื่อนไหว ส่วนหลับลึกหรือระยะที่สามเกี่ยวข้องกับความจำภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ และความรู้เชิงนามธรรม เป็นต้น

*นอกจากการนอนไม่เพียงพอจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองในระยะยาวแล้ว ยังพบว่าอาจส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมอีกด้วย เนื่องจากในภาวะอดนอนนั้นมีการทำงานของสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า โดปามีนและเซอโรโทนิน ลดลง ทำให้ขาดสมาธิ หงุดหงิด ควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ และการอดนอนยังอาจส่งผลต่อระบบอื่น ๆของร่างกาย เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย และอ้วน เป็นต้น *

ดังนั้น เราควรส่งเสริมให้เด็กได้รับการนอนอย่างเหมาะสมทั้งจำนวนชั่วโมงนอนที่เพียงพอกับวัย และการนอนที่มีคุณภาพ โดยเริ่มต้นที่เข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาทุกวัน งดการดูทีวีหรือหน้าจออื่น ๆ ก่อนนอน หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมถึงทำกิจกรรมที่ตื่นเต้น หวาดกลัวก่อนเข้านอน จัดกิจวัตรก่อนนอนที่ผ่อนคลายเพื่อเป็นการเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมที่จะนอน จัดบรรยากาศห้องนอนให้เหมาะสมและใช้ห้องนอนสำหรับการนอนเท่านั้น โดยให้ห้องมีอุณหภูมิพอเหมาะ ไม่มีแสงสว่างหรือเสียงดังมากเกินไป เพื่อให้เด็กมีสุขอนามัยการนอนที่ดี สำหรับเด็กที่อาจจะมีปัญหารบกวนคุณภาพการนอน เช่น นอนกรน หายใจเฮือก หยุดหายใจขณะหลับ หรือมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาถึงแม้จะนอนพอแล้ว ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การดูแลที่เหมาะสมต่อไป

*ผศ. พญ.ลัลลิยา ธรรมประทานกุล *

*ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ *

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0