โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศาล รธน. : การตีความปมเลือกตั้ง 150 วัน?

SpringNews

เผยแพร่ 10 ม.ค. 2562 เวลา 07.31 น. • SpringNews
ศาล รธน. : การตีความปมเลือกตั้ง 150 วัน?

“ส่วนจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อความชัดเจนหรือไม่นั้น ยอมรับว่า เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำได้ แต่เมื่อยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง จึงยังไม่มีเหตุที่จะต้องส่งให้ศาลตีความ”

“อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต.รับว่าเป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะหาข้อยุติประเด็นกรอบเวลา 150 วัน ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ที่จะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด และที่ต้องรอการกำหนดวันเลือกตั้งก่อน ก็เพราะต้องให้มีเหตุที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยเสียก่อน

จู่ๆ คงมิอาจหยั่งรู้ล่วงหน้าได้ว่า จะมีการเลือกตั้งวันนั้น วันนี้ โดยที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง!?

เห็นใครต่อใครในรัฐบาลโยนให้ กกต.เคาะวันเลือกตั้งที่แน่นอน ก็ได้แต่เห็นใจ 7 กกต.เพราะการที่ กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้งได้ ต้องมี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งออกมาก่อน ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการ จากนั้น ถึงจะเป็นหน้าที่กกต.ไปกำหนดวันเลือกตั้งภายใต้กรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด

ฟังผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเปรียบเทียบการเลือกตั้งหนนี้ได้เห็นภาพชัดว่า เปรียบประชาชน พรรคการเมือง เสมือนคนนั่งล้อมวงรอรับประทานอาหารมื้อสำคัญ ที่ 7 กกต.ทำหน้าที่พ่อครัวปรุงอาหารเสิร์ฟขึ้นโต๊ะ ซึ่งรอแล้วรอเล่าอาหารก็ไม่มาเสียที บางคนใจร้อนก่นด่า 7 กกต.ตามประสาโมโหหิว แต่หารู้ไม่ว่า 7 พ่อครัวใหญ่ ก็รอรัฐบาล รอนายกฯ ลุงตู่ อยู่ว่าเมื่อไหร่จะไปจ่ายตลาดเสียที

เพราะสารพัดเมนูเด็ดที่จะเสิร์ฟขึ้นโต๊ะโดยฝีมือ 7 กกต.นั้น ยังรอวัตถุดิบจากคนจ่ายตลาดอยู่!?

เอาล่ะ ไม่ว่า พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง จะออกมาในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ ถ้าหากยังติดใจสงสัยเรื่องกรอบเวลา 150 วัน และคำว่า”ให้แล้วเสร็จ” แค่ไหนถึงจะเรียกว่าแล้วเสร็จ แค่หย่อนบัตร ปิดการลงคะแนน หรือต้องนับคะแนน ประกาศผล และต้องให้ได้ร้อยละ 95 เพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปสู่การเปิดสภานัดแรกด้วย เพราะนาทีนี้รัฐบาล-กกต.ยังมองต่างมุมกัน

รัฐบาลยึดตาม กรธ.ที่ยืนยันกรอบเวลา 150 วัน เพียงแค่การกำหนดวันเลือกตั้ง ดังรายละเอียดในเนื้อหา มาตรา 171 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล แต่ กกต.เล่นเกมเพลย์เซฟ ยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อน ต้องให้ครอบคลุมถึงการรับรองผล ร้อยละ 95 ด้วย

ประเด็นนี้จะไม่เป็นปัญหา หาก กกต.รวบเอาทุกอย่าง ทั้งการหย่อนบัตรลงคะแนน ไปจนถึงประกาศรับรองผล ร้อยละ 95 ไว้ในกรอบ 150 วัน แต่ถ้าหลุดกรอบออกไปแม้เพียงวันเดียว นั่นแหล่ะปัญหาใหญ่ ที่จะต้องใช้บริการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตาม รธน.มาตรา 210 (2)

แม้ศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมายให้ใคร?

แม้ศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่มีหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ?

แต่กรณีนี้เข้าเกณฑ์ตาม รธน.มาตรา 210(2) ที่จะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว เหลือองค์ประกอบสำคัญอีกเรื่องเดียวเท่านั้น คือ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ส่วนถ้ายื่นไปแล้วจะต้องใช้เวลากี่วันกี่คืนกว่าจะได้คำตอบ และระหว่างที่รอจะเจอ ”โรคแทรกซ้อน” มีปัญหาหลุดกรอบ ล้นกรอบตามมาอีกหรือเปล่า..อยู่ที่ดุลยพินิจศาลครับ!?

 

โดย บอน ณ บางแก้ว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0