โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การจัดการเงินในช่วงวิกฤตโควิด-19 - โค้ชหนุ่ม The Money Coach

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 27 มี.ค. 2563 เวลา 07.43 น. • โค้ชหนุ่ม The Money Coach

ช่วงวิกฤตไวรัสโควิด นอกเหนือไปจากผลกระทบทางด้านสุขภาพและการดำรงชีวิตของคนไทยทุกคนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไปด้วย ก็คือ เรื่องเงินๆทองๆ ในกระเป๋าของพวกเราทุกคน และผลกระทบที่ว่านี้ถือว่าเป็นผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะเป็นผลกระทบที่เกิดจากการขาดหายไปของรายได้ (Income Shock) อันส่งผลต่อการจับจ่ายในชีวิตประจำวัน

บทความในวันนี้ผมขอนำเสนอแนวทางเบื้องต้นในการจัดการกับปัญหาการเงินในช่วงภาวะวิกฤต เผื่อให้คุณผู้อ่านได้ลองนำไปปรับใช้กันนะครับ

1. วางแผนการใช้จ่าย

สิ่งแรกที่เราควรทำ ก็คือ ลองทำงบรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือนต่อจากนี้ ลองดูสิว่าแต่ละเดือนเรามีภาระค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และต้องจ่ายให้กับอะไรบ้าง พอจะมีรายได้ผ่านเข้ามาบ้างหรือเปล่า หรือมีเงินสำรองที่พอจะตัดมาใช้จ่ายอุดหนุนในแต่ละเดือนได้บ้างหรือไม่

สิ่งสำคัญที่เราต้องตอบให้ได้หลังทำงบการเงิน ก็คือ ในแต่ละเดือนเรา “เหลือ” หรือ “ขาด” เงินสำหรับใช้จ่ายเท่าไหร่

ทั้งนี้งบดังกล่าวอาจทำแบบประมาณการล่วงหน้าไป 3-6 เดือน เพื่อให้เราเห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเงินตัวเอง จากนั้นจะได้เริ่มวางแผนจัดการการเงินกันครับ

2. ลดค่าใช้จ่ายและภาระผ่อนหนี้

เริ่มต้นจากค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ตรงนี้สมาชิกในบ้านอาจต้องช่วยกันหาทางลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง โดยปรึกษาหารือกันว่า จะจัดการค่าใช้จ่ายกินใช้กันอย่างไร ให้สามารถประหยัดกันได้มากที่สุด

ในส่วนของภาระหนี้ที่ต้องผ่อน ถ้าผ่อนเต็มจำนวนได้ ยังไหว ไม่กระทบสภาพคล่อง ก็ให้ดำเนินการผ่อนปกติต่อไป

แต่ในกรณีที่ผ่อนไม่ไหว ให้ติดต่อธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บ้าน หนี้รถยนต์ ปัจจุบันเปิดให้มีการติดต่อและเจรจาได้ทั้งหมด (*ควรรีบติดต่อก่อนพลาดผิดนัดชำระ จะเจรจาได้ง่ายกว่า)

ทั้งนี้แนวทางในการเจรจาเพื่อลดภาระผ่อนต่อเดือน อาจทำได้ดังนี้ 

  • ขอลดดอกเบี้ย
  • ขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย (พักเงินต้น)
  • ขอเลื่อนการชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 3-6 เดือน

ทั้งนี้การชำระเฉพาะดอกเบี้ย หรือเลื่อนการชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จะช่วยให้เราเก็บเงินสดไว้กับตัว หรือลดภาระจ่ายในระยะสั้นๆ ได้

(*หมายเหตุ กรณีเลื่อนชำระดอกเบี้ย และการขอเลื่อนผ่อนเงินต้นและดอกเบี้ย อาจยังมีการคิดดอกเบี้ยอยู่ ดังนั้นแนวทางนี้จึงเป็นแนวทางแก้ปัญหาชั่วคราวสำหรับคนขาดสภาพคล่อง ให้พอผ่านปัญหา โดยไม่เสียเครดิตไป)

3. หารายได้เพิ่ม

รายได้ช่องทางแรกที่ควรดำเนินการ ก็คือ การติดต่อเงินชดเชยรายได้ หรือเงินเยียวยา จากสิทธิต่างๆ ที่เราพึงมี เช่น 

ถ้าคุณเป็นพนักงานประจำ ที่นายจ้างหักเงินส่งประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือน​ (มาตรา 33) และถูกให้หยุดงานโดยไม่ได้เงิน หรือเลิกจ้าง จากผลกระทบของวิกฤตไวรัส ก็ให้ติดต่อของเงินชดเชยรายได้จากกองทุนประกันสังคม (www.sso.go.th)

แต่หากคุณเป็นคนทำงานอาชีพอิสระ เป็นพ่อค้าแม่ขาย ขับรถขนส่ง (วินมอเตอร์ไซต์ แท็กซี รถบรรทุกรับจ้าง ฯลฯ) ฟรีแลนซ์ทั้งหลาย ช่างตัดผม ไกด์อิสระ แรงงานรับจ้าง ฯลฯ

พูดง่ายๆ คือ ทุกอาชีพที่เป็นอาชีพอิสระ (รวมคนที่ส่งประกันสังคมมาตรา 39 และ 40) *และได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ก็ให้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาเป็นเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน) ผ่านทางเว็บไซต์​ www.เราไม่ทิ้งกัน.com (เริ่มเปิดลงทะเบียน วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 6 โมงเย็นเป็นต้นไป)

นอกจากนี้อาจจะลองศึกษา หาแนวทางทำอาชีพเสริม ซึ่งอาจยังทำไม่ได้ในช่วงวิกฤติ แต่ก็ให้เตรียมความพร้อมไว้ หลังวิกฤตเบาบางลง จะได้พร้อม ได้เริ่มสร้างอาชีพใหม่ที่เราศึกษามาแล้วเป็นอย่างดี

ในขณะที่หลายคนกำลังนั่งจมนั่งทุกข์กับปัญหา มีอีกหลายคนกำลังเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือต่อยอดจากความรู้เดิมๆ ที่มี เพื่อหาทางแก้ปัญหา และรอจังหวะที่จะเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ สร้างอาชีพที่ 2 หลังจากวิกฤตผ่านไป

ทั้ง 3 ข้อ ก็เป็นแนวทางเริ่มต้นสำหรับผู้ที่อยากจะจัดการเงินให้เข้าที่เข้าทางในช่วงวิกฤตินะครับ

จำไว้ว่า วันหนึ่งวิกฤติผ่านมา แล้วก็จะผ่านไป เหมือนที่วิกฤตอื่นๆ เคยเข้ามาในชีวิตคนไทย ทั้งปี 2540 และ 2551 วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ก็เช่นกัน ดังนั้นคนที่สู้ทุกทาง และพยายามแก้ปัญหาอย่างมีสติ ในวันหนึ่งก็จะผ่านปัญหาไปได้ครับ

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ ท่านที่กำลังเผชิญกับปัญหาอยู่ครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0