โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

การงดและรื้อฟื้นเรือพระราชพิธีหลัง 2475: นัยของอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นนำ

THE STANDARD

อัพเดต 18 ต.ค. 2562 เวลา 11.19 น. • เผยแพร่ 18 ต.ค. 2562 เวลา 11.19 น. • thestandard.co
การงดและรื้อฟื้นเรือพระราชพิธีหลัง 2475: นัยของอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นนำ
การงดและรื้อฟื้นเรือพระราชพิธีหลัง 2475: นัยของอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นนำ

โจเอล ฟรานซิส เบอร์เดน (1999) นักประวัติศาสตร์ ได้อธิบายไว้ว่าพิธีกรรมไม่ได้มีเพียงแค่หน้าที่ของการทำให้สังคมเกิดความเป็นปึกแผ่นหรือเกิดสำนึกร่วมกัน ดังเช่นที่ เอมิล เดอร์คาม นักปรัชญา เคยได้กล่าวไว้เท่านั้น หากยังมีหน้าที่ช่วยให้กลุ่มที่มีอำนาจนำในสังคมยังคงสามารถรักษาสถานะอันสูงเด่นของตนเองไว้ได้ ความเชื่อ อุดมการณ์ และอำนาจอันชอบธรรมจะถูกสื่อสารผ่านพิธีกรรม เช่น การเชื่อว่ากษัตริย์เป็นองค์อวตารของเทพฮินดู การเป็นผู้มีบุญตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนา และอื่นๆ อำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างผ่านความเชื่อ (Ideology) นี้เองที่เป็นพลังอันสำคัญต่อการควบคุมคนในสังคม ดังนั้นเราสามารถมองได้ด้วยว่าแท้จริงแล้วพิธีกรรมเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบหนึ่งที่ช่วยสถาปนาอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นนำให้เกิดขึ้น 

 

ในงานของ ชาตรี ประกิตนนทการ (2552) และปราการ กลิ่นฟุ้ง (2556) หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 คณะราษฎรได้ระงับพระราชพิธีหลายอย่าง ทั้งนี้เพื่อลดทอนพระราชอำนาจและสถานภาพอันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ เช่น การยกเลิกพระราชพิธีแรกนาขวัญ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้ก็คือการยกเลิกพระราชพิธีแห่เรือ ซึ่งใช้ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน

 

เรือพระราชพิธี
เรือพระราชพิธี

 

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2509 หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และเลขาธิการพระราชวัง ได้บรรยายเรื่อง ‘พระราชพิธีประจำปีในรัชกาลปัจจุบัน’ ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยได้กล่าวถึงการหยุดไปของพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินทางชลมารค ความว่า 

 

“ตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองเป็นต้นมา เราไม่เคยได้เห็นกฐินขบวนพยุหยาตราทั้งทางบกและทางเรือ จนกระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่โรงเก็บเรือพระราชพิธีในคลองบางกอกน้อย ทอดพระเนตรเห็นเรืออยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงทรงมีพระราชดำริว่าถ้าจะโปรดให้มีการฟื้นฟูประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นก็ดูจะไม่เป็นการสิ้นเปลืองอะไรนัก เพราะคนใช้กำลังทหารเรือ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายทำขึ้นครั้งเดียวก็ใช้ได้นานปี 

 

ส่วนประโยชน์ที่จะพึงได้รับนั้นมีอยู่มากมายและหลายทางด้วยกัน เช่น เรือพระราชพิธีต่างๆ อันสวยงามและทรงคุณค่าในทางศิลปะอย่างยิ่งนั้นก็จะได้รับการดูแลรักษาและบูรณะซ่อมแซมให้ดีอยู่เสมอ เป็นการรักษาสมบัติอันมีค่าของชาติให้มีอายุยืนยาวออกไป 

 

ทั้งจะได้เป็นการฟื้นฟูขนบประเพณีอันดีที่บรรพชนของเราได้กระทำมาแล้วแต่ปางก่อนให้ดำรงอยู่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาติ เป็นการบำรุงขวัญและก่อให้เกิดความภาคภูมิใจของคนไทย ทั้งยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของชาติไทยที่มีมาแต่โบราณกาลให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวต่างประเทศอยู่ตลอดกาลด้วย 

 

นี่เป็นสาเหตุที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการฟื้นฟูประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้น(หน้า 21-22) 

 

เรือพระราชพิธี
เรือพระราชพิธี

 

การเสด็จพระราชดำเนินไปที่โรงเก็บเรือนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2490 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่โรงเก็บเรือพระราชพิธีได้รับผลกระทบจากการทิ้งระเบิดเมื่อปี 2487 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ได้เล่าไว้ ความว่า 

 

“แต่เนื่องจากเรือพระราชพิธีของเราชำรุดเสียมากแล้ว และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถูกระเบิดเสียหาย ซ่อมไม่ได้หลายลำ ดังนั้นการจัดขบวนเสด็จพระราชดำเนินจึงจัดเพียงเท่าที่จะทำได้ จะเป็นพยุหยาตราใหญ่ก็ไม่ใช่ เพราะไม่มีเรือจะจัดเป็นขบวน 4 สายได้ จะเป็นขบวนพยุหยาตราน้อยก็ไม่ใช่อีก เพราะใช้เรือรูปสัตว์ ซึ่งเป็นเรือขบวนพยุหยาตราใหญ่มาสมทบเข้าในขบวนด้วย ด้วยเหตุนี้ในหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน สำนักพระราชวังจึงไม่เรียกว่าเป็นขบวนพยุหยาตราใหญ่หรือน้อยดังหมายกำหนดการครั้งก่อน แต่เรียกว่าขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเท่านั้น” (หน้า 22)

 

เรือที่โดนระเบิดจากสงครามในเวลานั้นมีหลายลำ ตัวอย่างเช่น เรือเอกไชยหลาวทอง และเรือกระบี่ปราบเมืองมาร ซึ่งต้องตัดส่วนหัวและท้ายเรือเก็บไว้ยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อปี 2491 กว่าจะสร้างขึ้นใหม่ก็ตกในปี 2508 และ 2510 ตามลำดับ 

 

เรือพระราชพิธี
เรือพระราชพิธี

 

การบูรณะเรือพระราชพิธีเหล่านี้ ทางสำนักพระราชวังและกองทัพเรือได้มอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการ หลังจากนั้นจำนวนเรือพระราชพิธีจึงค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนสามารถจัดริ้วขบวนได้ดังปัจจุบัน 

 

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ได้ให้ความเห็นว่า การรื้อฟื้นเรือพระราชพิธีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สถาบันกษัตริย์เริ่มกลับมามีอำนาจอีกครั้ง โดยเฉพาะนับจากสมัยรัฐบาลของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ถ้าไม่นับกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2500 แล้ว จะเห็นได้ว่าเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2502 ได้มีการจัดกระบวน (ขบวน) พยุหยาตราทางชลมารคเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามเป็นครั้งแรก ซึ่งตรงกับสมัยที่ จอมพล สฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นจึงได้มีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินอีกในปี 2504, 2505, 2507, 2508 และ 2510 แล้วจึงเว้นว่างไป 15 ปี และมาจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) ในโอกาสที่กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 200 ปี ทั้งนี้เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์เจ้า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2525 

 

เรือพระราชพิธี
เรือพระราชพิธี
เรือพระราชพิธี
เรือพระราชพิธี

 

มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะให้สังเกตด้วยในกระแสรับสั่งของรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อเรือพระราชพิธี กล่าวคือต้องเข้าใจว่าเดิมทีในสมัยโบราณ เรือพระราชพิธีนั้นเป็นสมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน ราชสำนัก หรืออาณาจักร ไม่ใช่เป็นของชาติ (Nation) ในความหมายที่หมายรวมถึงประชาชนที่มีสิทธิในการเข้าถึงมรดกทางวัฒนธรรมนี้ในรูปแบบของการเป็นเจ้าของ (Belonging) ซึ่งความคิดที่สมบัติของสถาบันกษัตริย์เริ่มกลายเป็นของสาธารณชนทั่วไปนี้ ผมคาดว่าคงเกิดขึ้นอย่างจริงจังหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 (แน่นอนว่าก่อนหน้านี้มีการสร้างให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชาติตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เองนับเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะทำวิจัยต่อ เพราะส่งผลทำให้เรือพระราชพิธีไม่ใช่เรื่องของสถาบันกษัตริย์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องของประชาชน กลายเป็นเรื่องของชาติไปด้วย 

 

ดังนั้นการขยายพระราชพิธีให้ใหญ่โตในเชิงพื้นที่ (Space) ที่ไม่ใช่พื้นที่เชิงกายภาพ แต่เป็นพื้นที่ทางสังคม หมายถึงขยายเป็นเรื่องของทั้งชาติทั้งสังคมนี้ นับเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้ทำให้นึกถึงแนวคิดสำคัญเรื่องหนึ่งคือ ‘ประเพณีประดิษฐ์’ (Invented Tradition) การประดิษฐ์ที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงของที่ทำขึ้นมาใหม่ และไม่ใช่ว่าพระราชพิธีแห่เรือเป็นของใหม่นะครับ อย่าเข้าใจผิด เป็นของเก่าที่มีรากเหง้ามาอย่างยาวนานแน่นอน 

 

แต่หมายถึงประเพณีหรือพิธีบางอย่างที่ถูกอธิบายใหม่และทำให้กลายเป็นประเพณีระดับชาติ (National Tradition) โดยมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน เช่น ทำให้คนในชาติรู้สึกถึงการมีรากร่วมกันผ่านประเพณีสักอย่างหนึ่ง การสร้างรากร่วมกันนี้มีประโยชน์มากต่อการสร้างความรู้สึกผูกพันต่อกันของคนในชาติ และการจะทำให้รู้สึกถึงการมีรากร่วมกันได้ก็จำเป็นต้องมีการค้นคว้าและเขียนประวัติศาสตร์ให้กับประเพณี ตัวอย่างเช่น ในเอกสารของทางการให้น้ำหนักว่าประวัติที่แน่ชัดของเรือพระราชพิธีเริ่มต้นในสมัยสุโขทัย ดังปรากฏเรื่องกระบวนเรือรับเสด็จหลานพ่อขุนผาเมืองและในหนังสือนางนพมาศ เป็นต้น เหตุที่ต้องเริ่มจากสมัยสุโขทัยก็เพราะสุโขทัยเป็นรัฐในอุดมคติที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นไทยนั่นเอง 

 

เรือพระราชพิธี
เรือพระราชพิธี

 

ดังนั้นเรือพระราชพิธีจึงไม่ได้เป็นเพียงเรือที่ใช้สำหรับในงานบุญ อันได้แก่ การถวายผ้าพระกฐิน หรือในสมัยอยุธยานั้นมีการใช้เป็นเรือไปเสด็จนมัสการพระพุทธบาท หรือหน้าที่อื่นอีก เช่น เป็นเรือรบ (?) และใช้ในงานพระราชพิธีอื่นๆ เท่านั้น

 

หากผมอยากจะชวนให้มองถึงนัยที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสมัยหลัง การเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ และการเคลื่อนความหมายจากพระราชพิธีของกษัตริย์มาสู่การเป็นรัฐพิธีในระดับชาติ ซึ่งเราต้องพินิจเรือพระราชพิธีให้ซับซ้อนขึ้นไปอีกชั้น 

 

ภาพเปิด: shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • กรมศิลปากร. 2558. เรือพระราชพิธี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 
  • ชาตรี ประกิตนนทการ. 2552. ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร: สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์. กรุงเทพฯ: มติชน. 
  • ปราการ กลิ่นฟุ้ง. 2556. “ให้ชาวนาเป็นผู้แรกนา: ข้อเสนอปรับเปลี่ยนพิธีแรกนาขวัญในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรยุคต้น,” ประชาไท, Available at: prachatai.com/journal/2013/05/46660
  • รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. 2558. “เรือส่งวิญญาณ เรือพระราชพิธี จากอดีตถึงปัจจุบัน,” ใน ลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมน้ำร่วมราก. กรุงเทพฯ: สพฐ. 
  • Burden, Joel Francis. 1999. Rituals of Royalty: Prescription, Politics and Practice in English Coronation and Royal Funeral Rituals c. 1327 to c. 1485. A Doctoral thesis in Philosophy in Medieval Studies, University of York, Centre for Medieval Studies, December 1999. 
  • Eric Hobsbawm & Terence Ranger, ed. 1983. The Invention of Tradition. Cambridge University Press.
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0