โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การขลิบ จำเป็นต้องให้ลูกทำหรือไม่?

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 21 ส.ค. 2562 เวลา 12.45 น. • Motherhood.co.th Blog
การขลิบ จำเป็นต้องให้ลูกทำหรือไม่?

การขลิบ จำเป็นต้องให้ลูกทำหรือไม่?

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสชมวิดีโอจาก BBC เกี่ยวกับชายคนหนึ่งผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจาก "การขลิบ" ที่พ่อแม่ของเขาตัดสินใจให้เขาทำตั้งแต่วัยเด็ก จนทุกวันนี้เขาได้รับผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจของเขาเป็นอย่างมาก ผู้คนในสังคมออนไลน์ต่างก็ออกมาวิพากย์วิจารณ์ถึงกรณีนี้ว่า การที่พ่อแม่ตัดสินใจให้แพทย์ทำการขลิบให้กับลูกชายตั้งแต่แรกเกิดหรือเมื่อยังเล็กเกินกว่าที่จะตัดสินใจเองได้นั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กหรือไม่ และจริงๆแล้วการขลิบนั้นจะทำให้เด็กได้ประโยชน์อย่างไร   หรือจำเป็นสำหรับเด็กกลุ่มไหน ลองหาคำตอบเพื่อชั่งใจได้ในบทความตอนนี้ค่ะ

ปัจจุบันพ่อแม่หลายๆคน เริ่มให้ความสนใจกับการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศของเด็กชาย เพราะมีความเชื่อว่าการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศจะช่วยให้ทำความสะอาดง่าย ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือถ่ายเทเชื้อ HPV (Human Papillomavirus) ได้ และยังลดโอกาสเป็นมะเร็งที่อวัยวะเพศด้วย

การขลิบนิยมทำให้ทารกในช่วงอายุ 1-10 วันหลังคลอด
การขลิบนิยมทำให้ทารกในช่วงอายุ 1-10 วันหลังคลอด

การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศคืออะไร?

การขลิบหนังหุ้มปลาย (Circumcision) คือ การผ่าตัดเอานังที่หุ้มส่วนปลายของอวัยวะเพศชายส่วนเกินออก (เอาออกเฉพาะส่วนที่ไม่ต้องการ) จะตัดออกมากน้อยเพียงใดขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ มักทำตั้งแต่ตอนที่เด็กมีอายุไม่เกิน 1 สัปดาห์ ซึ่งในอดีตการขลิบเกิดขึ้นเพื่อทำตามข้อบังคับทางศาสนา แต่ในปัจจุบันเรื่องปกติที่ทำกันทั่วโลกสำหรับเด็กผู้ชายแรกเกิดและสามารถทำได้ทุกวัย โดยการขลิบหนังหุ้มปลายนั้นนิยมทำเพราะเป็นการกระทำที่สืบต่อกันมา ทำเพื่อสุขอนามัย หรือเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต แต่สำหรับหลายๆคนอาจไม่เห็นถึงความจำเป็น และมองว่าการขลิบหนังหุ้มปลายอาจทำให้อวัยวะเพศชายเสียหายผิดรูปร่างไป

ขลิบหนังหุ้มปลายไปทำไม?

การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย อาจมีความจำเป็นทางการแพทย์ เช่น เมื่อหนังหุ้มปลายแน่นเกินไปที่จะดึงกลับ หรือสำหรับบางรายอาจแนะนำให้มีการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนั้นการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย ยังมีประโยชน์อีกหลายอย่าง ดังต่อไปนี้

  • แก้ปัญหาหนังหุ้มปลายไม่เปิด ในเด็กที่มีปัญหาหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศตีบ เปิดได้ไม่เต็มที่ (Phimosis) โดยปกติแล้ว หัวองคชาติจะมีหนังหุ้มปลายหุ้มปิด หนังหุ้มปลายนี้จะค่อยๆแยกออกจากหัวองคชาติและรูดเปิดออกให้เห็นหัวองคชาติได้หมด เมื่ออายุประมาณ 5 ปี แต่ในเด็กที่ไม่ปกติ หนังหุ้มปลายจะติดแน่นรูดเปิดออกไม่ได้ เมื่ออายุ 11 ปีขึ้นไปก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำการขลิบ ไม่เช่นนั้นแล้วอาจส่งผลให้ปัสสาวะลำบาก เสี่ยงต่อการหมักหมมของเศษปัสสาวะหรือเชื้อโรค ซึ่งหากมีการติดเชื้อที่รุนแรง ก็อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาเกี่ยวกับไตในภายหลัง
  • ดูแลสุขอนามัยได้ง่าย ทำให้ง่ายในการทำความสะอาด เพราะบางคนมีปัญหาในการล้างทำความสะอาดขี้เปียก หากล้างไม่หมดจนเกิดการคั่งค้างจะก่อให้เกิดกลิ่นและการติดเชื้อได้
  • ลดความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชายที่ได้รับการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ มักจะมีความเสี่ยงน้อยลงของการติดโรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์บางชนิด เช่น โรคเริม
  • ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งองคชาต แม้ว่ามะเร็งอวัยวะเพศชายจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่จะเกิดขึ้นได้น้อยลงไปอีกในผู้ชายที่มีการขลิบหนังหุ้มปลาย นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีการขลิบหนังหุ้มปลาย ก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกน้อยกว่าปกติอีกด้วย
เชื่อกันว่าอวัยวะเพศที่ได้รับการขลิบจะดูแลทำความสะอาดง่ายกว่า
เชื่อกันว่าอวัยวะเพศที่ได้รับการขลิบจะดูแลทำความสะอาดง่ายกว่า

ข้อเสียของการขลิบ

ถึงแม้ว่าการขลิบอวัยวะเพศจะช่วยลดการสะสมของเชื้อโรค และลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมว่าการขลิบก็อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อหรือเสียเลือดมากระหว่างการทำได้เช่นกัน และยังก่อให้เกิดการอักเสบของแผลหลังผ่าตัด ที่มีตั้งแต่เล็กน้อยหรือลุกลามใหญ่โต รวมไปถึงการผ่าตัดที่ออกมาแล้วไม่สวย อาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจเมื่อเขาโตเป็นหนุ่ม หรือการตัดหนังออกมากไป ดังกรณีของชายในคลิปจาก BBC ที่ผู้เขียนรับชมมา ก็อาจทำให้เกิดการตึงรั้งเมื่ออวัยวะเพศแข็งตัว เป็นปัญหาในความสัมพันธ์ต่อได้ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักหลักการทำความสะอาดอวัยวะเพศที่ถูกต้อง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการสะสมของเชื้อโรคจะเป็นการดีที่สุด

ใครบ้างที่สมควรขลิบ?

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทางคณะแพทย์ทั่วโลกก็ยังมีความเห็นไม่ลงตัวสักทีในเรื่องนี้ แพทย์บางกลุ่มเห็นว่าสมควรทำ ในขณะที่บางกลุ่มว่าไม่สมควรทำในเด็กชายทุกคน แต่ในกรณีดังต่อไปนี้ แพทย์จะเห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องทำแน่นอน คือ

  • ปัสสาวะลำบาก พร้อมกับมีอาการโป่งพองของหนังหุ้มปลายขณะที่ปัสสาวะ
  • ในเด็กที่ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • มีการอักเสบเรื้อรังของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย
  • หนังหุ้มปลายยังไม่ยอมเปิดเมื่อย่างเข้าวัยรุ่น
  • หนังหุ้มปลายรัดลำองคชาต ทำให้ปวดและบวม

เด็กแบบไหนที่ไม่สมควรให้ขลิบ?

สำหรับเด็กในกลุ่มนี้ การจะพิจารณาขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ จะต้องได้รับการดูแลปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

  • มีภาวะที่ท่อปัสสาวะเปิดต่ำกว่าปกติ (Hypospadia) อาการคือ ท่อปัสสาวะเปิดผิดที่ ไม่เปิดที่ปลายอวัยวะเพศชาย
  • ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีอวัยวะเพศกำกวม (Intersex)
  • อวัยวะเพศชายหลบใน หรือไม่โผล่ออกมาจากเหนือหัวเหน่า
  • อวัยวะเพศคดงอ ไม่ตรง

การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายไม่เหมาะกับผู้ที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด และไม่เหมาะกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนดที่ยังต้องการการดูแลทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล

พ่อแม่ต้องดูแลรักษาแผลให้ลูกหลังรับการขลิบอย่างดี
พ่อแม่ต้องดูแลรักษาแผลให้ลูกหลังรับการขลิบอย่างดี

ขั้นตอนการขลิบหนังหุ้มปลายในทารก

การขลิบหนังหุ้มปลายในทารกแรกเกิดมักทำตั้งแต่ที่โรงพยาบาล เมื่อทารกอายุได้ 1 วัน จนถึง 10 วัน ซึ่งแพทย์จะอธิบายประโยชน์และความเสี่ยงในการขลิบหนังหุ้มปลาย และให้การกินนมก่อนทำการขลิบ

ขั้นตอนแรกของการขลิบหนังหุ้มปลาย จะให้เด็กนอนและรัดแขนขาเอาไว้ แพทย์จะทำความสะอาดอวัยวะเพศและบริเวณโดยรอบแล้วจึงฉีดยาชาที่ฐานของอวัยวะเพศหรืออาจใช้เป็นแบบทา จากนั้นจึงยืดหนังหุ้มปลายด้วยที่หนีบแบบ แล้วจึงเอาหนังหุ้มปลายออก หลังจากนั้นแพทย์จะใช้ครีมทาไว้ที่อวัยวะเพศ เช่น ปิโตรเลี่ยม เจลลี่ (Petroleum Jelly) และพันด้วยผ้าพันแผล โดยขั้นตอนนี้จะกินเวลาประมาณ 10 นาที

การดูแลเบื้องต้นหลังการขลิบ

โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ในการฟื้นตัว ระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถทำความสะอาดให้ลูกได้ตามปกติ แต่ควรเปลี่ยนผ้าพันแผลทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอ้อม พร้อมกับทาปิโตรเลี่ยม เจลลี่ที่ปลายอวัยวะเพศเพื่อไม่ให้ติดผ้าอ้อม ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยครั้งและใส่แบบหลวมๆ เมื่อแผลหายเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็สามารถล้างทำความสะอาดด้วยสบู่และน้ำในขณะอาบน้ำได้ปกติ

หลังขลิบมาและแผลยังไม่หายสนิท อย่าใส่ผ้าอ้อมรัดแน่นเกินไป
หลังขลิบมาและแผลยังไม่หายสนิท อย่าใส่ผ้าอ้อมรัดแน่นเกินไป

พ่อแม่ควรตัดสินใจอย่างไร?

เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับพ่อแม่อยู่เหมือนกัน จึงเป็นการยากที่จะตัดสินใจในสิ่งที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ถ้าคุณพ่อคุณแม่ถามเพื่อนๆรอบตัว หรือปรึกษาแพทย์ที่มีความเห็นโน้มเอียงไปในความเชื่อทางใดทางหนึ่ง ก็จะได้รับการแนะนำให้ตัดสินใจไปในทางนั้นๆ

ทางฝั่งอเมริกาเองก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้เช่นกัน The American Academy of Pediatrics ได้แนะนำไว้ว่า"การขลิบหนังหุ้มปลายในทารกเพศชายมีทั้งผลดีและผลเสีย การทำก็ควรจะให้พ่อแม่ได้รับทราบถึงข้อดีและข้อเสีย และให้ความยินยอม" ทั้งที่สมัยหนึ่งเคยแนะนำว่าไม่จำเป็น ทำให้เด็กอเมริกันสมัยหนึ่งผ่านการขลิบเป็นส่วนมาก ในสมัยต่อมากลับไม่นิยมทำกัน จนมาถึงปัจจุบัน ที่ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ใครอยากทำก็ทำ ใครไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ

เนื่องจากบ้านเรารับแนวความคิดและข้อมูลวิชาการมาจากตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นคำแนะนำที่พ่อแม่มักจะได้รับจากแพทย์ ก็เป็นไปตามแต่แพทย์แต่ละท่านจะมีความเห็นว่าอย่างไร ส่วนการตัดสินใจขั้นสุดท้ายก็เป็นของคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง แต่อยากฝากไว้ว่าควรศึกษาถึงผลดีและผลเสียให้มากๆ ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรที่อาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยไปจนเขาโต

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0