โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กับดักในการตัดสินใจ มีอะไรบ้าง ?

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 30 พ.ค. 2563 เวลา 07.31 น. • เผยแพร่ 30 พ.ค. 2563 เวลา 07.31 น.
office-594132_960_720-2-728x485

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์

โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

 

“ปัญหา” เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอ ซึ่งเมื่อเจอปัญหาแล้วก็ต้องคิดหาทางแก้ปัญหานั้น ๆ

ที่สุดของการคิดแก้ปัญหาก็คือการ “ตัดสินใจ”

แต่หลายครั้งการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหามักจะมี “กับดัก” ที่ซ่อนอยู่โดยบางทีเราก็ไม่รู้ตัว

ลองมาดูกันไหมครับว่า ในการตัดสินใจจะมีกับดักอะไรซ่อนอยู่บ้าง

1.เข้าไปยึดติดข้อมูลก่อนหน้านี้ หรือ anchoring trap คำว่า “anchor” แปลว่า ทอดสมอ (เรือ)

แล้วความหมายของคำคำนี้คืออะไร ?

ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ โดยถามว่า…

“ประเทศอุซเบกิสถานมีประชากร 5 ล้านคนใช่หรือไม่ ? ท่านคิดว่าประเทศนี้มีประชากรเท่าไหร่ ?”

ตอบ…

ฮั่นแน่…อย่าเพิ่งเปิดกูเกิลนะครับ !

ผมเชื่อว่าหลายคนจะตอบว่ามีประชากรอยู่แถว ๆ 3-10 ล้านคน เพราะผมไปทอดสมอเอาไว้ที่ 5 ล้านคน ทำให้คนที่ไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับประชากรในประเทศนี้เลย ก็เลยเข้าไปติดกับดักข้อมูลแถว ๆ 5 ล้านคน

แต่อันที่จริงประเทศอุซเบกิสถานมีประชากรประมาณ 32 ล้านคนครับ

นี่จึงเป็นเรื่องที่ควรจะต้องระวังในการตัดสินใจในสถานการณ์ที่เราไม่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ ให้เราระวังคนที่จะให้ข้อมูลกับเราแบบ “ทอดสมอเรือ” เอาไว้แล้วจะทำให้เราไปยึดติดกับข้อมูล (หรือสมอเรือที่ทอดเอาไว้) ที่อาจจะไม่ถูกต้องทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด

ดังนั้น เราจำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมให้มากขึ้น และระวังการไปทอดสมอเรือนี้ให้กับทีมงานหรือคนอื่นด้วยนะครับ

2.ยึดติดเรื่องเดิม ๆ และไม่ชอบเปลี่ยนแปลง เราเคยทำหรือเคยตัดสินใจยังไงก็ยังเป็นอยู่อย่างงั้น เช่น เราเคยใช้เส้นทางจากที่ทำงานกลับบ้านเส้นทางไหนก็เส้นทางนั้น ถ้ามีใครมาบอกให้เราลองเปลี่ยนเส้นทางดูบ้างเผื่อจะทำให้กลับถึงบ้านได้เร็วขึ้น เราก็จะไม่ยอมเปลี่ยนโดยหาข้ออ้าง (ให้กับตัวเอง) ว่าเปลี่ยนไปก็เหมือนเดิมไม่ทำให้เร็วขึ้นหรอก กับดักตัวนี้ก็เป็นตัวที่สองที่มักทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด

3.ตัดสินใจในเรื่องเดิมแบบผิดซ้ำซาก เช่น เราซื้อมือถือมาใช้ได้ประมาณ 1 เดือนแล้วเกิดเสีย เราก็ส่งซ่อมเสียเวลาไป 2 สัปดาห์ พอเอากลับมาใช้งานได้สักแป๊บเดียวก็เสียต้องส่งซ่อมอีก เราก็ยังตัดสินใจส่งซ่อมซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่างนี้ 4-5 รอบ คำถามคือเราควรจะขายแล้วเปลี่ยนเครื่องใหม่ดีกว่าไหม ซึ่งหลายคนก็ยังคงตัดสินใจแบบเดิม ที่ผ่านมาคือส่งไปซ่อมต่อไป ข้อคิดคือ เมื่อเราตกลงไปในหลุม เราควรจะขุดหลุมให้ลึกลงไปเรื่อย ๆ หรือควรหาทางปีนขึ้นมาจากหลุมนั้น กับดักในเรื่องนี้เราจะเห็นได้จากคนที่ตัดสินใจผิดพลาดซ้ำซากและไม่หลุดจากปัญหานั้นสักทีครับ

4.ไปขอคำปรึกษาจากคนที่คิดเหมือนเรา มีคนอีกไม่น้อยที่ชอบฟังแต่คนที่คิดเหมือนเรา และไม่ชอบฟังคนที่คิดต่าง (หรือจะบอกว่าไม่ชอบฝ่ายค้านก็ได้มั้งครับ) ถ้าเป็นอย่างงี้แล้วล่ะก็แน่นอนว่าการตัดสินใจของเรามีโอกาสผิดพลาดได้เยอะ เพราะเราชอบฟังแต่คนที่อวยกับเรา การตัดสินใจแบบนี้มักพบในคนที่ไม่เปิดใจรับฟังคนเห็นต่าง แต่ชอบฟังพวกชเลียร์คอยเพ็ดทูลประเภท “ได้ครับพี่-ดีครับผม-เหมาะสมครับนาย-สบายครับทั่น” ซะเป็นส่วนใหญ่ ผู้บริหารประเภทนี้ตัดสินใจไปแล้วก็พังเพราะลูกน้องชเลียร์นี่ก็มีให้เห็นเยอะนะครับ

5.ติดกรอบความคิดเดิม เช่น เราเคยไปกินข้าวที่ร้านอาหาร A เมื่อ 5 ปีที่แล้วตอนที่ร้านนี้เพิ่งเปิดใหม่ ๆ ซึ่งร้านนี้บริการแย่มาก มีความไม่พร้อม อาหารก็ไม่เข้าที่ไม่อร่อย วันนี้พอเพื่อนมาชวนให้ไปกินข้าวที่ร้าน A อีกครั้งเราจะปฏิเสธและบอกว่าร้านนี้ไม่อร่อย บริการแย่ ซึ่งเดี๋ยวนี้ร้านนี้อาจจะไม่ได้เป็นเหมือนเมื่อ 5 ปีที่แล้วก็ได้นะครับ กับดักตัวนี้ก็มักเกิดจากคนที่ไม่ค่อยจะยอม update กับเรื่องใหม่ ๆ แต่ยังคงติดอยู่ในเรื่องเดิม ๆ หรือติดเรื่องเก่า ๆ อยู่ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดครับ

6.มโนไปเอง กับดักตัวนี้ก็มักจะทำให้การตัดสินใจผิดพลาดเพราะเจ้าตัวมักชอบคิดแบบมโนไปล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่เรื่องนั้นอาจไม่เป็นจริงก็ได้มักเกิดกับคนที่มั่นใจในตัวเองมากเกินไป หรือ เป็นคนที่ระวังตัวเองมากจนเกินไปก็จะมีผลทำให้การตัดสินใจผิดพลาดเอาได้ง่าย ๆ

กับดักที่ผมเล่าให้ฟังมาทั้งหมดนี้ มาจากบทความของฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว หลายปีแล้วแต่เห็นว่ามีประโยชน์และเป็นเรื่องสำคัญสำหรับตัวเราเองที่จะเอาไว้ทบทวนก่อนการตัดสินใจว่าเราไปติดกับดักต่าง ๆเหล่านี้บ้างหรือไม่ จะได้เตือนสติตัวเองและลดความผิดพลาดในการตัดสินใจให้ได้มากที่สุดครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0