โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ส่องผลงานหุ้นใหญ่ SET50 ในวันที่กำไรโตมากกว่า 100%

Wealthy Thai

อัพเดต 09 ส.ค. 2566 เวลา 01.52 น. • เผยแพร่ 27 ส.ค. 2564 เวลา 08.46 น. • This’s Alano

สิ้นสุดการรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2564 ไปแล้ว แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยกดดัน แต่ก็ยังมีหลายๆบริษัทที่รายงานกำไรสุทธิเติบโตอย่างโดดเด่น ดังนั้นครั้งนี้ทีมข่าว Wealthy Thai ได้รวบรวมข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่รายงานกำไรสุทธิงวด ไตรมาส 2/2564ของหุ้นกลุ่ม SET50 ที่มีอัตราการเติบโตมากกว่า 100%ขึ้นไปมาฝากนักลงทุน
ก่อนอื่นต้องบอกนักลงทุนก่อนว่า เมื่อช่วงไตรมาส 2/2563 จะเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้ใช้มาตรการ lockdownตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม ไปจนถึงเดือนเมษายน 2563 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงนั้นต้องชะลอตัว ขณะที่ช่วงไตรมาส 2/2564 ยังไม่มีการ lockdownแม้ตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูง
สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 ที่มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 2/2564 เติบโตมากกว่า 100%ขึ้นไป เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งไม่รวมหุ้นกลุ่มธนาคาร และหุ้นที่มีการเติบโตจากผลขาดทุนในช่วงไตรมาส 2/63โดยจะมีหุ้นในพอร์ตของนักลงทุนหรือไม่ และปัจจัยอะไรสนับสนุนให้เติบโตขนาดนี้ Wealthy Thai ได้รวบรวมข้อมูลมาฝากนักลงทุนแล้ว

จากตารางดังกล่าวพบว่า IVLและ PTTGCมีอัตราการเติบโตในระดับค่อนข้างสูงที่มากกว่า 1,000% โดย IVL ได้รับแรงสนับสนุนจาก มาร์จิ้นของ PET, MEG และ MTBE ที่ฟื้นตัวในทิศทางที่ดี ประกอบกับยังมีกำไรจากสต็อกอีกราว 1.7 พันล้านบาทด้วย ขณะที่ PTTGC ได้รับแรงหนุนจาก spread ผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็น HDPE, LLDPE, LDPE, PP ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีการรับรู้รายการพิเศษ จากการขายหุ้นสามัญของ GPSC สัดส่วน 12.73% รวม 11,834 ล้านบาท
ถัดมาหุ้นในกลุ่มเดียวกันอย่าง OR และบริษัทแม่อย่าง PTT ที่โชว์ฟอร์มได้อย่างโดดเด่นเช่นเดียวกัน โดย OR ได้รับแรงหนุนจากทั้ง 3 ธุรกิจที่มีรายได้จากการขายปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจน้ำมันที่โต 41.8% ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่ม Non-Oil ก็ยังโต 14.9% จากการขยายเครือข่ายร้านอาหารและรายได้ร้านสะดวกซื้อที่เพิ่มขึ้น และธุรกิจต่างประเทศมีรายได้โต 52.9% ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แต่กำไรขั้นต้นกลุ่มนี้ลดลง เพราะกัมพูชา มีปริมาณขายลดลง สำหรับสปป.ลาว ลดลงจากกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่ลดลงเนื่องจากรัฐบาล สปป. ลาวปรับราคาน้ำมันไม่สะท้อนกับต้นทุนราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วน PTT เองเมื่อบริษัทย่อยมีการเติบโตตัว PTT ก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วยเช่นกัน
ต่อมา KCEกำไรที่เพิ่มขึ้นในระดับสูงนั้น มาจากฐานต่ำในไตรมาส 2/63 ที่เป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ในขณะที่มีกําไรจากการดําเนินงาน จํานวน 558.6 ล้านบาท (ไม่รวมผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ) เพิ่มขึ้น 29.77%จากไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 330.52% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน
มาถึง 2 แม่ลูกที่ติดโผอย่าง STGT-STA นั้น ต้องยอมรับว่าช่วงโควิด-19 เป็นแรงผลักดันการเติบโตของบริษัทอย่างชัดเจน โดยการเติบโตของ STGTได้รับแรงหนุนจาก ความต้องการใช้ถุงมือยางในตลาดโลกที่มีอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จากไวรัสกลายพันธุ์ และใช้เพื่อการฉีดวัคซีน
ส่วน STA ได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้ยางธรรมชาติในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออกยานยนต์ที่เติบโตอย่างโดดเด่นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรปและจีน ส่งผลให้มีดีมานด์เพื่อใช้ในการผลิตยางล้อเป็นจำนวนมาก และผู้ผลิตยางล้อชั้นนำเกือบทุกรายล้วนเป็นลูกค้าของบริษัทฯ รวมถึงอุตสาหกรรมถุงมือยางที่มีความต้องการใช้สินค้าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในหลายประเทศยังไม่คลี่คลายจากไวรัสกลายพันธุ์ รวมถึงดีมานด์ถุงมือยางทางการแพทย์เพื่อใช้ฉีดวัคซีน
ขณะที่ 2 หุ้นโรงพยาบาลอย่าง BHและ BDMSโดย BH รับแรงหนุนจากรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยและชาว ต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับ BDMS ที่ผู้ป่วยทั้งไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่ารักษาพยาบาล และรายได้จากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากการระบาดระลอกที่ 3 อีกด้วย
ขณะที่ CPN, BJC, COM7 เมื่อช่วงไตรมาส 2/2563 ได้รับผลกระทบจากมาตรการ lockdownทำให้ไตรมาสนี้มีอัตราการเติบโตอย่างโดดเด่น อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 2/64 CPN มีรายได้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ มาจากรายได้จำหน่ายสินทรัพย์ 2,667 ล้านบาท จากการให้เช่าทรัพย์สินแก่กองทรัสต์ CPNREIT 2 แห่ง โดยรายการดังกล่าวมีการบันทึกค่าใช้จ่ายภาษี 533 ล้านบาท รวมถึงบริษัทได้รับการยกเว้นค่าเช่าโรงแรมฮิลตันพัทยา 115 ล้านบาท
ด้าน BJCแม้รายได้รวมจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.9% เพราะยอดขายธุรกิจค้าปลีกที่ยังได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 รวมถึงฐานเปรียบเทียบจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ได้ประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคกลับมาใช้จ่ายมากขึ้นหลังจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่รายได้ของกลุ่มธุรกิจอื่นๆที่ยังเติบโตกว่า 17.4%เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นๆในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เนื่องจากการให้ส่วนลดค่าเช่าและการงดเว้นค่าเช่าที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
และสุดท้าย COM7 ที่ยังอยู่ในกระแสความสนใจจากนักลงทุนเสมอมา โดยช่วงไตรมาส 2/64 ยอดขายในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์เติบโต โดยเฉพาะ iPhone ยังขายดีทั้งในรุ่นปัจจุบันและรุ่นก่อนหน้า รวมถึง iPad , สมาร์ทโฟนแบรนด์ชั้นนำต่างๆ และสินค้ากลุ่ม Work from Home ยังมีดีมานด์เข้ามาต่อเนื่อง ขณะที่ช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้นทั้งจากสาขาเดิมและสาขาใหม่ รวมทั้งช่องทางออนไลน์เสริมทัพความแข็งแกร่ง ขณะที่ไตรมาส 2 ปีที่แล้ว ยอดขายได้รับผลกระทบจากการปิดสาขาชั่วคราว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0