โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กับดักของการเปลี่ยนงาน - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 22 มี.ค. 2563 เวลา 17.05 น. • วินทร์ เลียววาริณ

มนุษย์จำนวนนับพันล้านคนในโลกไม่กล้าเปลี่ยนงาน ทนทำงานเก่าไปด้วยสองเหตุผลหลัก

หนึ่ง กลัวล้มเหลว

สอง เสียดายความรู้ที่เรียนมา

จุดน่ากลัวที่ทำให้หลายคนไม่กล้าเปลี่ยนงานคือ มีภาระทางครอบครัว เช่น มีลูกเมียต้องรับผิดชอบ หากเปลี่ยนงานแล้วไม่สำเร็จ ครอบครัวอาจเดือดร้อน ทำให้หลายคนไม่กล้าเสี่ยง

ความกลัวความล้มเหลวเป็นด่านใหญ่ที่สุด และมักลงท้ายด้วยการจมอยู่ที่เดิม

อาจหาเหตุผลมารองรับการอยู่ที่เดิมว่า “ทำงานที่ไหนก็เหมือนกัน”

นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก สัญชาตญาณแสวงหาความปลอดภัยฝังในยีนของทุกคน รอบคอบไว้ก่อนเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ต้องระวังอย่าข้ามจากความรอบคอบเป็นความกลัวความล้มเหลวมากเกินไป จนขยับตัวไม่ได้

อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่กล้าเปลี่ยนงานเพราะกลัวล้มเหลวนั้น อาจต้องทำความเข้าใจคำว่า ‘ล้มเหลว’ ใหม่

งานทุกงานมีความเสี่ยงทั้งนั้น ต่อให้บริษัทมั่นคงเพียงไร ก็มีความเสี่ยง

ทุกธุรกิจมีความเสี่ยง มากหรือน้อยเท่านั้น ทุกคนจึงควรประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ ๆ แม้จะทำงานในองค์กรมั่นคงหรือดำรงตำแหน่งสูงเพียงไร

ตำแหน่งที่ได้มาถูกขอคืนได้ทุกเมื่อเสมอ แม้แต่ตำแหน่งซีอีโอ

ต่อให้ธุรกิจไปได้ดีเยี่ยม วันหนึ่งเมื่อตื่นเช้า ก็อาจพบว่าฟ้าถล่มลงมาแล้ว วิกฤติเศรษฐกิจบ้านเราในปี พ.ศ. 2540 เป็นตัวอย่างว่า ฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ในชั่วพริบตา สิ่งที่มั่นคงที่สุดกลายเป็นความไม่มั่นคง

คนที่คิดจะเริ่มธุรกิจใหม่ หรือเริ่มต้นทางสายใหม่ที่ไม่เคยทำ ย่อมรู้สึกหวาดเสียว เพราะจากสถิติ ธุรกิจเปิดใหม่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ประสบความสำเร็จ 

เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าวางแผนดี รอบคอบ ก็ลดความเสี่ยงลง

…………..……………………………………………………………………………………

ส่วนการไม่กล้าเปลี่ยนงานเพราะเสียดายความรู้ที่เรียนมา เป็นกับดักใหญ่ของคนจำนวนมากเช่นกัน เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์มาก็ไม่กล้าเปลี่ยนไปเป็นหมอ เรียนหมอมาก็ไม่กล้าเปลี่ยนเป็นนักร้อง ฯลฯ 

บ่อยครั้งแรงกดดันมาจากครอบครัวหรือเพื่อน เช่น บอกที่บ้านว่าจะเปลี่ยนอาชีพเป็นคนละสาย ก็อาจได้รับคำตอบว่า “เปลี่ยนทำไม อาชีพนี้ก็ดีอยู่แล้ว” หรือ “เสียดายวิชาความรู้ที่เรียนมาหลายปี” หรือ“เสียของ”

โดยเฉพาะเมื่ออาชีพนั้นกำลังให้รายได้ดี

แต่ชีวิตคือความเปลี่ยนแปลงและความเปลี่ยนแปลงเป็นองค์ประกอบของชีวิต

‘ความล้มเหลว’ ไม่ได้หมายถึงรายได้น้อยลง เพราะหากมีความสุขกับการทำงาน ก็คือความสำเร็จแล้ว

คนเราควรแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา และถ้าเราสนุกกับความรู้ใหม่ ๆ นั้นจนอยากใช้มันประกอบอาชีพ ก็ย่อมดีกว่าทนทำงานเดิมที่ตัวเองไม่ค่อยชอบไปจนตาย

ประเด็นจึงไม่ใช่เสียดายความรู้ แต่คือเราอยากเปลี่ยนแปลงจริงหรือเปล่า อยากเดินตามฝันมากพอหรือเปล่า

คนจำนวนมากไม่ได้เกิดในทางสายใหม่ ก็เพราะอยากไม่มากพอ

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูกเช่นกัน

มันเป็นแค่การเลือกของเรา

……………………………………………………………………………………..

ผมทำงานเป็นสถาปนิกในต่างประเทศอยู่หลายปี เมื่อกลับมาเมืองไทย เป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำพอดี ไม่มีงานออกแบบอาคารให้ทำเลย บริษัทสถาปนิกหลายแห่งปิดตัว จึงจำต้องเปลี่ยนงานแบบพลิกฝ่ามือ ไปทำงานสายโฆษณาซึ่งไม่มีประสบการณ์เลย

ความเสี่ยงล้มเหลวค่อนข้างสูง

ก็วางแผนให้รัดกุมที่สุด แล้วกระโจนเข้าไป

การเปลี่ยนงานพลิกหน้ามือเป็นหลังมือแบบนี้จำต้องวางแผน ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทางเดินดุ่ม ๆ เข้าไปของานทำ ก็สร้างตัวอย่างผลงานขึ้นมา และเข้าวงการไปได้

ทำงานโฆษณากว่าสิบหกปี ก็พลิกฝ่ามืออีกครั้ง ตัดสินใจเป็นนักเขียนอาชีพที่ใคร ๆ ก็รู้ว่ามีความเสี่ยงสูง และเป็นการตัดสินใจที่ยากสองเท่า เพราะมีลูกเมียต้องรับผิดชอบ มีค่าเล่าเรียนลูก ค่าผ่อนบ้าน ฯลฯ 

ก็วางแผนให้รัดกุมที่สุด แล้วกระโจนเข้าไป

ขลุกขลักอยู่บ้าง ลำบากอยู่ไม่น้อย แต่ก็ผ่านไปได้

สำหรับคนที่คิดเปลี่ยนสายอาชีพแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เทคนิคหนึ่งที่ทำได้คือค่อย ๆ เปลี่ยน 

ยกตัวอย่างเช่นมีอาชีพประจำอย่างหนึ่ง แต่อยากเปลี่ยนเป็นนักเขียนอาชีพ ก็ไม่จำเป็นต้องเลิกงานเก่าทันที สามารถ ‘จับปลาสองมือ’ ไปก่อนได้ แค่จัดสรรเวลาให้ดี

งานบางสายอาจจะจับปลาสองมือยากหน่อย แต่ถ้ารักงานนั้นจริงและวางแผนดี ก็หาทางได้

คำถามคือ เรารู้อย่างไรว่าเมื่อไรควรจะเปลี่ยนงาน แม้ว่าจะยังไม่อยากเปลี่ยนงาน ?

การเปลี่ยนงานควรดูที่ภาพรวมมากกว่า เช่น งานใหม่จะช่วยให้เราไปถึงจุดหมายสุดท้ายอย่างมั่นคงกว่าหรือไม่ 

ถ้ามองแบบนี้ก็จะตัดสินใจง่ายขึ้น

บางครั้งเราก็ต้องมองภาพกว้าง เพื่อที่จะเห็นภาพแคบ

……………………………………………………………………………………..

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0