โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"กัญชา" เพื่อประโยชน์คนไทย

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 15 พ.ย. 2561 เวลา 06.11 น.
กัญชา-5-728x498

บทบรรณาธิการ

พืชกัญชา หรือ cannabis (ชื่อสกุล) ชนิดย่อย indicaที่มีสารประกอบ cannabinoid มากกว่า 60 ชนิด แต่ที่รู้จักกันดีก็คือ THC ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทกับ CBD ที่ช่วยยับยั้งการออกฤทธิ์ของ THC ได้กลายมาเป็นความหวังของผู้ป่วยในประเทศไทยขึ้นมาอีกครั้งเมื่อรัฐบาล “ยินยอม” ที่จะให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์

ด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…)พ.ศ. … เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเกิดจากการผลักดันของสถาบันการแพทย์ไทยกับเครือข่ายผู้ป่วย หลังจากที่ทราบข้อเท็จจริงจากงานวิจัยทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ในต่างประเทศมานานมากกว่า 10 ปีมาแล้วว่า สารประกอบ CBD มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคลมชัก-อัลไซเมอร์-พาร์กินสัน

ในขณะที่ THC สามารถรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน-ภาวะผอมหุ้มกระดูก ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการใช้เคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งและการระงับความปวด รวมทั้งเป็นสารทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายในประเทศที่ใช้ “น้ำมัน” ที่สกัดจากกัญชา (ช่อดอก-กะหลี่) มาบำบัดความเจ็บปวดนอกเหนือไปจากการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ในโรงพยาบาล จนอาจจะนับเนื่องเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบต่อมาในทางการแพทย์แผนโบราณก่อนที่พืชกัญชาจะถูกจัดให้เป็น “พืชที่ให้โทษร้ายแรงแก่ผู้สูบ” ตาม พ.ร.บ.กัญชามาตั้งแต่ปี 2477 จวบจนมาเป็น“ยาเสพติดให้โทษ” ประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง

ผลของการที่พืชกัญชาซึ่งถูกจัดให้เป็น “ยาเสพติด” ประเภทที่ 5 ทำให้การวิจัยและการรักษาโรคร้ายแรงในสถาบันทางการแพทย์ของไทยหยุดชะงักมาเป็นระยะเวลานานเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่พืชกัญชาจะว่าไปแล้วก็คือ“พืชล้มลุก” ที่คนไทยรู้จักกันดีและใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ก่อนปี 2477 แถมยังเป็นพันธุ์กัญชาที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงกว่าพันธุ์ที่ปลูกในต่างประเทศ หากจะเปิดให้มีการปลูกเสรีเพื่อส่งออกเชิงพาณิชย์ได้ด้วย

ทว่า กระบวนการทางกฎหมายที่จะนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ กลับเต็มไปด้วยข้อถกเถียงและความเห็นที่แตกต่างโดยฝ่ายหนึ่งยังพิจารณาจากพื้นฐานของการเป็นยาเสพติด ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ได้ และลุกลามไปจนกระทั่งเกิดกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญายอมรับ “คำขอ” จดสิทธิบัตรพืชกัญชา ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน

ประเด็นความเห็นและข้อวิตกกังวลเหล่านี้จึงควรที่รัฐบาลจะต้องนำมาพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนที่จะประกาศให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) เป็นกฎหมายเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและคนไทยเป็นสำคัญ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0