โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กักตัวเองอย่างไรให้หัวใจยังรู้สึกมีอิสระ - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 08 เม.ย. 2563 เวลา 09.44 น. • หมอเอิ้น พิยะดา

ช่วงนี้หมอมีโอกาสได้ Live พูดคุยกับแฟนเพจบ่อยขึ้นในเพจหมอเอิ้นพิยะดา Unlocking Happiness เพราะการที่เราต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน ทำให้เราต่างมีเวลาอยู่ในพื้นที่ของเรามากขึ้น  

และหันมาใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารทางไกลมากขึ้น

หมอพบว่ามีแฟนเพจหลายคนที่กำลังกักตัวเอง ( Self Quarantine ) จากการที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง หรือมีประวัติการได้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือการเริ่มมีอาการของไข้หวัด

กลุ่มคนที่กำลังกักตัวเอง สิ่งที่กำลังทำนั้นเป็นมากกว่าการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

เพราะหลักของ Self Quarantine คือ ขังตัวเองอย่างเข้มงวด หยุดเชื้อเพื่อคนในบ้านและชาติของเรา

ยิ่งอัตราการติดเชื้อของประเทศมากขึ้นเท่าไร จำนวนคนที่ต้องทำการกักตัวเอง Self Quarantine ยิ่งเพิ่มขึ้น และมีความสำคัญอย่างมาก ต่อการกดกราฟของการระบาดให้พุ่งทะยานลดลง

เริ่มแรกของการทำ Self Quarantine เราอาจจะคิดว่าแค่จำกัดพื้นที่ ไม่ออกไปไหนแค่14 วันแป๊ปเดียวเดี๋ยวก็ผ่านไป แต่พอทำจริงๆ ผ่านไปเพียง 3-4 วันหลายคนเริ่มรู้สึกเครียด กระวนกระวายจนต้องส่งข้อความมาปรึกษา เพราะธรรมชาติของเราทุกคนรักและหวงแหนความสุขและอิสระที่สุด

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมตัวที่ดีในการกักตัวเอง เพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อหยุดเชื้อ และเพื่อชาติ ได้อย่างมีความสุขและความภูมิใจ 

เรามาทำความเข้าใจ 3 เรื่องสำคัญต่อจิตใจในการทำ Self Quarantine

  • 1.ผลกระทบทางจิตใจในระหว่างที่เราทำการกักตัวเอง
  • 2.ปัญหาทางสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการกักตัวเอง
  • 3. เทคนิคในการลดผลกระทบทางจิตใจในระหว่างการกักตัวเอง 

ผลกระทบทางจิตใจในระหว่างที่เรากักตัวเอง

1. ความมั่นใจและความเป็นตัวของตัวเองลดน้อยลง 

ความรู้สึกนี้อาจเกิดขึ้นได้มากกับคนที่มีบุคลิกภาพแบบ extrovert คือคนที่ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์กับผู้คน ชอบการเข้าสังคม หรือคนที่อยู่ในบทบาทผู้บริหาร หรือหัวหน้างาน เพราะการใช้ชีวิตกับโลกภายนอกโดยปกติ เราจะมีพื้นที่หรืองานที่เราสามารถใช้ความสามารถของตัวเองได้อย่างเต็มที่ มีคนที่เราสั่งการได้อยู่รอบข้าง มีการสื่อสารสองทางระหว่างเรากับผู้คนมากมายผ่านทั้งทาง วัจนภาษาและอวจนภาษา

2.  รู้สึกกลัวการสูญเสียความสามารถ 

3. ขาดการเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับคนอื่น  

จากการมีเวลาอยู่กับความคิดที่ฟุ้งซ่านและต้องการแยกตัวเองจากคนรัก เพื่อน และสังคม

จากผลกระทบต่อจิตใจอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต

ปัญหาทางสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการกักตัวเอง

1. โรคประจำตัวเดิม เช่น ซึมเศร้า แพนิค วิตกกังวล เป็นต้น เพราะเป็นช่วงที่ต้องขาดการพบแพทย์แต่มีความเครียดมากขึ้น

2. การนอนผิดปกติ เพราะเราอาจเผลอนอนกลางวันเยอะ จนรู้สึกว่ารบกวนการนอนช่วงกลางคืน

3. สภาวะเครียดจากการปรับตัวไม่ได้

4. อารมณ์หงุดหงิดจากสภาวะหยุดสุราหรือบุหรี่

5. สภาวะเศร้าซึมจากความรู้สึกโดดเดี่ยว

แต่ปัญหาผลกระทบทางจิตใจที่เรารู้สึกสูญเสียความอิสระทางด้านร่างกายอาจลดลงได้  

หากเรามีเทคนิคในการลดผลกระทบทางจิตใจในระหว่างการกักตัวเอง 

1. สร้างตารางเวลาในแต่ละวันให้ตัวเอง 

ตอนที่เรายังใช้ชีวิตปกติ สิ่งแวดล้อมและบทบาทการทำงานเป็นสิ่งที่ช่วยกำหนดเวลา การตื่น การกิน การทำงาน การพักผ่อน การออกกำลังกาย การนอนให้กับเราอย่างอัตโนมัติ แต่เมื่อเรากักตัวเองอยู่คนเดียว

ในแต่ละวันทุกกิจกรรมจะผสมปนเป จนเราเริ่มรู้สึกขี้เกียจและค่อยๆสูญเสียการควบคุมกิจวัตรของตัวเอง

2. คงการขยับร่างกาย  

เพราะการที่เราลดการเคลื่อนไหวมากกว่า 2 อาทิตย์จะทำให้เราสูญเสียมวลของกล้ามเนื้อและระบบการเผาผลาญของร่างกายลดลง เสี่ยงต่อความอ้วนและปัญหาโรคหัวใจ

เราอาจหาโปรแกรมการออกกำลังกาย online ให้ร่างกายได้ขยับ

3.รักษาการเชื่อมโยงกับผู้คน 

 เช่น นัดทานอาหารพร้อมกันกับคนในบ้านทุกมื้อ แม้ว่าจะต้องทานแยกกัน วีดีโอคอลหรือโทรคุยกับเพื่อนและคนที่เรารักอย่างสม่ำเสมอแต่ไม่พร่ำเพรื่อจนเกินไป

4.เปิดรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้เป็นประจำและรับข่าวอย่างพอดีให้ตระหนักแต่ไม่ถึงกับตระหนก

5.เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เราสนใจ หรือจำเป็นต้องใช้หากได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ 

โดยผ่านหนังสือ หรือ online เพื่อไม่ให้จมกับความรู้สึกเบื่อ

6.แบ่งเวลาในการนั่งเงียบ ๆ อย่างสงบสัก 10 นาที  

แล้วจิตนาการถึงความผ่อนคลาย สถานที่ๆเราชอบ กิจกรรมที่เราอยากทำ สัมผัสถึงความรู้สึกดีและผ่อนคลายที่เกิดขึ้น

7.หาข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ หรือช่องทางในการปรึกษาสุขภาพจิตผ่านทาง online ล่วงหน้าเผื่อจำเป็นต้องใช้ในกรณีฉุกเฉิน

8.ถามตัวเองทุกวันว่า “ฉันกักขังตัวเองเพื่ออะไร”  

เพื่อให้เราไม่ลืมว่า สิ่งที่เราทำอยู่นั้นมีคุณค่าและความหมายแค่ไหน  

วันนี้หมอขอยกย่องคนที่ยอมเสียสละอิสรภาพทางด้านร่างกาย โดยการกักตัวเอง 14 วันทุกคน

เพราะทุกคนกำลังทำสิ่งเล็กที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่ยังเพื่อคนที่เรารัก เพื่อชาติและเพื่อโลกใบนี้

วันนี้เราอาจสูญเสียอิสระทางกายแต่เราอย่าเผลอให้ตัวเองสูญเสียอิสระทางใจไปพร้อมกัน

--

ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธใน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0