โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กักตัวจนเฉาทำอย่างไรดี? 4 วิธีรับมือในช่วงเคอร์ฟิว

THE STANDARD

อัพเดต 02 เม.ย. 2563 เวลา 12.42 น. • เผยแพร่ 02 เม.ย. 2563 เวลา 12.42 น. • thestandard.co
กักตัวจนเฉาทำอย่างไรดี? 4 วิธีรับมือในช่วงเคอร์ฟิว
กักตัวจนเฉาทำอย่างไรดี? 4 วิธีรับมือในช่วงเคอร์ฟิว

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่มีมาตรการให้เราต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านและเว้นระยะห่างจากผู้คน (Social Distancing) ทำให้หลายคนรู้สึกเบื่อกับการเดินวนไปมาในบ้านตัวเอง นอนไถมือถืออยู่บนเตียง กดเข้าออกแอปพลิเคชันเดิมๆ จนไม่รู้จะดูอะไรแล้ว เพราะสุดท้ายก็มีแต่ข่าวการแพร่ระบาดเต็มไปหมดจนหดหู่

 

จนกระทั่งวันหนึ่งเราเริ่มไม่อยากลุกไปไหน ไม่อยากทำอะไร และกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนระแวงไปหมดทุกสิ่ง เพราะการอยู่ในบ้านเป็นเวลาหลายสัปดาห์ทำให้เราอาจเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตที่อันตรายโดยไม่รู้ตัว อย่างโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล ฯลฯ

 

ถึงแม้ในอนาคตการระบาดจะสิ้นสุดลง แต่โรคดังกล่าวยังสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและร่างกายในระยะยาวได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องหมั่นเช็กตัวเองอยู่ตลอดเวลา และรีบหาทางรับมือให้เร็วที่สุดก่อนจะสายเกินไป

 

มองหากิจกรรมที่ทำแล้วผ่อนคลาย

การอุดอู้อยู่ในบ้านเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ โดยเฉพาะกับคนที่มีกิจกรรมคลายเครียดอยู่ข้างนอกเสียส่วนใหญ่ เช่น เดินช้อปปิ้งที่ห้าง วิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ หรือปาร์ตี้กับเพื่อนๆ ที่สถานบันเทิง ซึ่งห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ นั้นคงไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของพวกเขาเท่าไรนัก

 

แต่ทำอย่างไรได้ ในเมื่อนี่คือมาตรการที่เราทุกคนต้องทำตาม เมื่อการอยู่เฉยๆ ในบ้านนั้นน่าเบื่อ ถ้าอย่างนั้นลองหันมาใช้เวลานี้ค้นพบกิจกรรมใหม่ๆ ดูสิ อาจจะเป็นกิจกรรมที่เราอยากทำ แต่ไม่เคยได้ทำ หรือไม่มีเวลาทำเพราะต้องออกไปข้างนอก ดีไม่ดีเราอาจจะเจองานอดิเรกใหม่ๆ ที่ชื่นชอบก็ได้ เช่น อ่านหนังสือ เขียนบล็อก ปลูกต้นไม้ จัดห้องนอน ประดิษฐ์ของแฮนด์เมด วาดภาพ หรือทำอาหาร

 

โดยทั้งหมดนี้เราอาจจะท้าทายตัวเองเล่นๆ เพื่อให้กิจกรรมนั้นไม่น่าเบื่อเร็วเกินไป อย่างการลองตั้งเป้าไว้ว่าวันนี้ฉันจะอ่านหนังสือให้ได้ 2 เล่ม วันพรุ่งนี้ฉันจะทำเมนูยากๆ ที่ไม่เคยทำ หรือวันมะรืนฉันจะออกกำลังกายท่าแพลงก์ให้ได้ 1 นาที แม้กิจกรรมที่เราได้ลงมือทำเองจะช่วยปลดปล่อยความเครียดและความเบื่อหน่ายในช่วงนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมที่จะล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสใบหน้าหรือหยิบขนมเข้าปากด้วยล่ะ

 

 

หมั่นออกกำลังกายให้หายเฉา

สำหรับใครที่ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย นี่ถือเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้หันกลับมาดูแลสุขภาพของตัวเอง เพราะทุกวันนี้มีคลิปสอนออกกำลังกายฟรีๆ มากมายบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ โดยที่เราไม่จำเป็นจะต้องก้าวขาออกไปยิมหรือฟิตเนส แถมไม่ต้องใช้อุปกรณ์อีกด้วย

 

การออกกำลังกายมีประโยชน์อย่างมากในช่วงนี้ เพราะช่วยทำให้เราตื่นตัวตลอดเวลา ลดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลจากการฝังตัวอยู่ในห้องเป็นเวลานานๆ แถมยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เราจำเป็นจะต้องพึ่งพาภูมิคุ้มกันมาช่วยต่อสู้กับโรคระบาดมากขึ้นกว่าเดิม

 

สำหรับใครที่ไม่ถนัดการออกกำลังกายหนักๆ การฝึกสมาธิและการหายใจก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ เพราะการฝึกสมาธิจะช่วยชะลออัตราการเต้นของหัวใจและทำให้จิตใจปลอดโปร่ง เมื่อเราฝึกฝนเป็นประจำ มันจะช่วยยับยั้งผลกระทบของความเครียด และสนับสนุนระบบภูมิคุ้มกันของเรา

 

การฝึกลมหายใจสามารถทำได้ด้วยการนั่งสมาธิ หรือการออกกำลังกายที่มุ่งเน้นไปที่การหายใจเข้าและออก อย่าลืมกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพควบคู่ไปด้วย และอาบน้ำอุ่นๆ เพื่อช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี

 

 

อย่ากดดันจากการทำงานที่บ้าน

หลายบริษัทมีมาตรการ Work from Home โดยให้พนักงานนำงานกลับมาทำที่บ้านได้เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางบ่อยๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเหมาะกับการทำงานที่บ้าน เพราะบางคนอาจเจอกับอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้คิดหรือสร้างสรรค์งานไม่ออก แถมบาลานซ์ของชีวิตก็เริ่มพัง เพราะการทำงานที่บ้านทำให้เกิดความสับสนระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว

 

แต่ในเมื่องานก็ต้องทำ สุขภาพก็ต้องรักษา ถ้าอย่างนั้นลองพยายามหาบาลานซ์ให้เจอ แม้การขีดเส้นกั้นระหว่าง Work Life และ Home Life จะเป็นเรื่องยากกว่าเมื่อก่อน เพราะเวลานี้ทั้งสองสิ่งเกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน แต่เราสามารถขีดเส้นขึ้นมาใหม่ด้วยการแบ่งพื้นที่การทำงานภายในบ้านอีกที เช่น เลือกมุมที่สงบและมีแสงสว่างเพียงพอ จัดโต๊ะให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และกำหนดเวลาทำงานว่าควรทำกี่โมงถึงกี่โมง พอหมดเวลาก็วางทุกอย่างทิ้งแล้วออกมาใช้ชีวิตตามปกติ กินข้าวกับครอบครัว เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือออกกำลังกายให้สดชื่น

 

อีกปัญหาที่หลายคนกำลังเผชิญก็คือความกดดันที่เพิ่มขึ้น เพราะการทำงานที่บ้านทำให้เจ้านายอาจเข้าใจผิดว่าเราจะต้องทำงานตลอดเวลา หรือทำงานได้มากขึ้น แต่การพักเบรกไปทำนั่นทำนี่จะช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และประสิทธิภาพในการทำงานให้เราได้มากกว่าการนั่งอยู่บนโต๊ะตลอดเวลาเสียอีก เพราะฉะนั้นผ่อนคลายบ้าง เจ้านายไม่ได้นั่งอยู่ข้างๆ ลองแอบงีบสัก 20-30 นาทีแล้วตื่นมาทำงานต่อด้วยความรู้สึกเฟรชๆ ก็ย่อมได้

 

 

ลดการเสพข่าวสาร ลดอาการวิตกกังวล

เวลานี้ไม่ว่าจะในทีวีหรือหน้าฟีดโซเชียลมีเดียก็เต็มไปด้วยข่าวโรคระบาด การรับข่าวสารเยอะๆ ทำให้เราท่วมท้นไปด้วยความหวาดระแวงและวิตกกังวล โดยเฉพาะบางครั้งที่เราเผลอเชื่อข่าวลวงหรือ Fake News ไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งข่าวเหล่านั้นมักจะทำให้เราเกิดความตระหนกเกินเหตุ 

 

ดังนั้นลองหากิจกรรมอื่นๆ ทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจออกจากข่าว อาจจะเป็นการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง จัดบ้าน หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เราโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นข่าวสารก็ยังจำเป็นในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เราสามารถเตรียมตัวป้องกันและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง แต่ควรเลือกหาข่าวจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้การที่เราไม่โพสต์หรือแชร์ข่าวลงบนหน้าฟีดของตัวเองก็ช่วยให้เราโฟกัสกับข่าวนั้นๆ น้อยลงได้เช่นกัน

 

 

ลอร่า มาฟิส นักจิตวิทยาแนะนำว่า “เราควรมองหาข้อมูลที่น่าเชื่อและถูกต้อง จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงความรู้สึกท่วมท้นจากการรับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากๆ และนั่นจะทำให้เราวิตกกังวลน้อยลงอีกด้วย” 

 

หรือถ้าหากใครที่มีภาวะเครียดหรือซึมเศร้าจากการเก็บตัวอยู่บ้านนานๆ ก็ลองหาคนให้พูดคุยและระบาย หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ดูก็ไม่เสียหาย

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกักตัว เว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย หรือระวังการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น นั่นก็เพื่อความปลอดภัยของเราและคนรอบข้าง เพราะฉะนั้นจงขอบคุณตัวเองให้มากๆ สำหรับความพยายามทั้งหมดนี้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0