โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กะเทาะปัญหา In-between generation วิกฤติวัยใกล้ฝั่งกับวัยกลางคน

HealthyLiving

อัพเดต 07 ธ.ค. 2561 เวลา 01.30 น. • เผยแพร่ 07 ธ.ค. 2561 เวลา 08.00 น. • Healthy Living
I’m-a-baby(boomer)_thumnail.jpg

The In-between generation หรือคนอยู่ในระหว่างกลางแยกเป็น 2 ความหมาย แบบแรก คือ ตลอดชีวิตอยู่ระหว่างสองรุ่นในช่วงที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และแบบที่สอง คือ คนที่ในช่วงชีวิตหนึ่งของตนเองอยู่ตรงกลาง ต้องดูแลคนสองรุ่นพร้อม ๆ กัน
ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ก็เหมือนเป็นคนน้ำกร่อย จะเป็นรุ่นเก่าก็ไม่ใช่ รุ่นใหม่ก็ไม่เชิง จะเป็นเด็กก็ไม่ใช่ ผู้สูงอายุก็ไม่ใช่ สำหรับคนจำนวนหนึ่ง ชีวิตไม่มั่นคงและเครียด 
เมื่อแบ่งคนตามไลฟ์สไตล์และประสบการณ์แวดล้อมด้านสังคมและเทคโนโลยี ตอนนี้เป็นรุ่น x y z รุ่นก่อนหน้าที่โด่งดังและเป็นกลุ่มเป็นก้อน คือ baby boomer พวกคาบลูกคาบดอกระหว่างที่อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ คนที่เกิดระหว่างสงคราม เกิดก่อนยุคเบบี้ บูม แต่ก็เกิดช้าเกินกว่าจะเป็นคนยุคก่อนสงครามที่ชีวิตเป็นอีกแบบ คนเหล่านี้คือคนสูงอายุในเมืองไทยในเวลาปัจจุบัน 
กลุ่มระหว่างสงครามคล้ายกลุ่มเบบี้ บูม ช่วงต้น ๆ คือ แต่งงานช้า มีลูกน้อย แต่ยังรักษาธรรมเนียมของการดูแลพ่อแม่ เป็นเวลาที่สังคมยังไม่ได้คิดถึงการเป็นสังคมสูงวัยมากนัก เมื่อตนเองเป็นคนสูงวัย แนวคิดและวิธีการอำนวยความสะดวกด้านการดูแลผู้สูงอายุโดยคนนอกครอบครัวยังเป็นสิ่งที่ใหม่มาก แทบไม่มีบริการให้เลือก รวมถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ เพื่อผู้สูงอายุก็ยังไม่มีเท่าที่มีเกิดขึ้นมาสมัยที่พวกเบบี้ บูม ระลอกใหญ่ก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ คนกลุ่มนี้จึงขาดทั้งทางเลือกด้านการใช้ชีวิต และโอกาสที่จะสร้างความแน่นอนทางด้านการเงินให้กับตนเอง
เมื่อคนใกล้รุ่นเบบี้ บูม ยังอยู่ในวัยทำงาน รัฐเริ่มพูดถึงการออมเพื่อการเกษียณอายุ เพื่อให้มีเงินของตนเองเลี้ยงตัวเอง เพราะรัฐคงดูไม่ไหว และครอบครัวก็ไม่ใหญ่พอจะช่วยกันดูแลได้ คนกลุ่มนี้ปัจจุบันก้าวเข้าสู่วัย 75 ขึ้นไป คนกลุ่มนี้จะมาก่อนกาลไปเพียงแค่ 2 - 3 ปี เสมอ ทำให้หลุดจากโครงการประกันสังคมสำหรับสูงอายุ ไม่สามารถได้รับสวัสดิการแบบบำนาญได้เพราะอายุเกิน
ในช่วงวัยที่มีงาน มีเงินได้ บริษัทประกันชีวิตต่าง ๆ ก็ยังมีโครงการประกันแบบรับเงินเป็นบำนาญ ถ้ามีก็เบี้ยประกันแพงมาก และอาจจะต้องส่งเบี้ยจนถึงอายุเกือบ 70 ประกันสุขภาพไม่รับเพราะในเวลาที่อยากทำและสมควรทำ อายุจะเกิน บริษัทไม่รับประกัน การรับประกันแบบต่าง ๆ จะเฉียดคนกลุ่มนี้ก็ 2 -3 ปี เสมอ รุ่นที่เกิดช่วงสงครามจึงเป็นรุ่นที่ขาดความมั่นคงทั้งด้านการเงินและครอบครัว (ไม่นับกลุ่มข้าราชการที่มีบำนาญ)
ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิง ภาระยิ่งทับทวี เพราะแม้ในประเทศที่เจริญแล้วก็จะพบว่า คนที่สละเวลา สละอาชีพ และความสุขส่วนตัวเพื่อดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่ามักเป็นลูกสาว เป็นความเครียดที่น้อยคนจะรับรู้และเห็นใจ แต่เมื่อถึงคราวตนเองก้าวเข้าสู่วัยที่ต้องการคนดูแลอาจจะไม่มีใครดูแล และมักอายุยืนกว่าผู้ชายที่เป็นคู่สมรส 
ดิฉันอยู่ในสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว พวกเราคงอยู่บนสะพานพระราม 7 มักจะปรารภกันเองว่า ชีวิตช่วงต่อไปจะอยู่อย่างไร
ปัญหาที่คำนึงถึงมีทุกด้าน ทั้งด้านอาหาร สุขภาพ การใช้เวลาในแต่ละวัน การออกกำลัง การดูแลด้านอารมณ์ ที่พักอาศัย และการหาบริการที่จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว เมื่อต้องจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นนาน ๆ ครั้งในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำรั่ว ท่อตัน แอร์เสีย หกล้ม เดินไกลไม่ได้ ฯลฯ รวมทั้งการรับมือกับเรื่องแปลกใหม่ที่เกิดขึ้น 
เพื่อนคนหนึ่งเล่ามาจากสหรัฐอเมริกาว่า "มีกิจการให้ผู้เข้าพักได้เลี้ยงสัตว์และทำสวนใกล้เคียงกับการอยู่บ้าน แต่คิดค่าบริการค่อนข้างแพง”  “อีกทางหนึ่งคือผู้สูงอายุอยู่บ้านตัวเอง มีคนมาดูแล ทำอาหาร ทำบ้านให้ พาไปเดิน” แค่นี้ก็ดูจะน่าสบายพอประมาณ แต่แล้วเธอก็ตบท้ายว่า “ยังคิดไม่ออกว่าตัวเองจะทำยังไง เพราะเราสองคนสามีภรรยาอายุเท่ากัน แก่พร้อมกัน ไม่อยากเป็นปัญหาต่อลูก แต่คิดว่าคงจะให้คนมาดูแลที่บ้านมากกว่าไปอยู่ assisted living” 
ฟังเล่าเรื่องในสหรัฐอเมริกา นึกถึงบ้านสุธาวาสของมูลนิธิเอกชนแห่งหนึ่ง แต่เขาทำเป็นการกุศลแบบไม่คิดเงินสำหรับผู้หญิงชรา คนมีเงินยังได้แต่รอว่าจะมีใครคิดถึงบ้างไหม  
คุณหมอในโรงพยาบาลต่างจังหวัดเคยเล่าว่า การขาดโครงการที่เหมาะสมทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นผู้ป่วย เป็นภาระเพิ่มของโรงพยาบาล เพราะกลับไปไม่มีใครดูแล บางคนกลับไปได้ไม่นานก็ป่วยกลับมาใหม่บางคนหาเหตุป่วยไข้เพื่อเข้าพักในโรงพยาบาล เข้าแล้วก็ไม่ยอมออก 
เพื่อน ๆ ที่มีเงิน มีบ้าน บอกปัญหาของสาวโสดตัวคนเดียวว่า “พยายามใช้ชีวิตแบบไม่เรียกร้องอะไร ไม่เคร่งครัด ทำตัวให้เบาสบาย หิวก็กิน ง่วงก็นอน หมั่นเอาใจใส่สุขภาพร่างกาย และใกล้หมอไว้ พยายามทำตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” “อายุมาก ชีวิตอยู่ยาก ตัวช่วยหายากมาก ไม่อยากมีอายุยืนมาก ๆ เลย เชื่อว่าโรคภัยมันต้องถามหาแน่นอน คงต้องขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่เราทำไว้แล้วละ”    
เล่ามาให้ผู้อ่านในวัยที่ยังห่างฝั่งได้เห็นความคิดคำนึงของคนวัยไม้ใกล้ฝั่ง คนที่เมื่อพยายามคิดดูแลตนเองทุกวิถีทางที่คิดได้ และพยายามเสนอแนะนโยบายต่าง ๆ แล้ว อนาคตในวันท้าย ๆ จะเป็นเช่นไร ก็ได้แต่ทำใจแบบไทย ๆ ว่า “แล้วแต่บุญกรรม” 
คนแบบที่สองจำนวนไม่น้อยมี midlife crisis เครียดจัดในการจัดการกับชีวิตตนเองและชีวิตรอบตน ถึงขนาดแอบนั่งร้องไห้คนเดียวก็มี เพราะไม่รู้ว่าชีวิตตนทำไมหนักหนาขนาดนี้ และชีวิตที่เคยสดใสหล่นหายไปตรงไหน   
ลักษณะร่วมของคนวัยสี่สิบเศษคือ ด้านหนึ่งมีลูกที่กำลังโต ลูกต้องการทั้งเงินและเวลา แต่ถ้าจะหาเงินก็ไม่มีเวลากับลูก ถ้ามีเวลาก็อาจจะไม่มีเงินมากเท่าที่ต้องการ คนที่แต่งงานตอนอายุ 25 ลูกเป็นวัยรุ่น ถ้าแต่งงานอายุ 30 ลูกยังไม่ถึงสิบขวบ อีกด้านหนึ่งเพ่อแม่อยู่ในวัย 65 ขึ้นไป เป็นวัยที่ลูกเริ่มกังวลกับสุขภาพของพ่อแม่ ตนเองซึ่งอยู่ตรงกลางจึงกำลังถูกประกบด้วยคนที่ล้วนต้องการเวลาจากตน
ในด้านการงานเล่า วัยสี่สิบเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตการทำงาน เป็นช่วงก่อร่างสร้างตัว ชีวิตการงานจะรุ่งหรือไม่ จะไปทางไหนจากนี้จนเกษียณ เป็นตอนที่ต้องให้เวลากับงาน และยังต้องเริ่มคิดถึงการเงินในวัยเกษียณ ทั้งหมดประดังเข้ามาเป็นความกดดันรอบด้าน ใครไม่มีด้านหนึ่งด้านใดก็นับว่าแรงกดดันของวัยน้อยลง (เช่นไม่มีลูก ไม่มีกังวลเรื่องลูกตอนนี้ แต่อาจจะต้องกังวลกับชีวิตโดดเดี่ยวในวัยชรา แต่ก็ไม่แน่ว่าคนที่มีลูกจะไม่เจอสภาวะโดดเดี่ยว)    
ในวัยที่เป็น พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อาของคนในวัยสี่สิบ ขอบอกลูก ๆ หลาน ๆ ในกลุ่มนี้ว่า “พวกเราเคยผ่านมาแล้ว แล้วมันก็จะผ่านไป ไม่ต้องเครียดนะลูก จำไว้ว่าคนที่เป็นพ่อแม่ไม่ได้ต้องการอะไรมาก ขอให้ลูกมีอารมณ์ดี มีความสุขก็ดีใจแล้ว พวกเรายังพอมีเพื่อนไปเที่ยวด้วยกันได้ ไปมีตติ้งกันเองได้ อาจต้องพึ่งให้พาไปไหนมาไหนเป็นบางเวลาเท่านั้น ขอแค่ไต่ถามทุกข์สุขบ้าง มาเยี่ยมเยียนบ้าง อ้อ เอาเรื่องแปลก ๆ ใหม่ ๆ มาเล่ามาสอนให้พวกเราได้ฝึกสมองบ้างนะ"    

เพิ่มช่องทางการรับข่าวสารและข้อมูลดี ๆ ผ่าน Line Official AZAYfan ที่จะช่วยทำให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ได้ที่ 

เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน

                  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0