โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

กองทุน SSF พิเศษ ไม่ซื้อ ไม่ได้แล้ว

SET ตลาดหลักทรัพย์ฯ

อัพเดต 28 มี.ค. 2563 เวลา 03.35 น. • เผยแพร่ 28 มี.ค. 2563 เวลา 03.35 น. • SET Education

จากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษี ผ่านกองทุน SSF พิเศษ (Super Saving Fund) ซึ่งหากมีเงินและสามารถลงทุนได้ 10 ปี มีความมั่นใจต่อตลาดหุ้นไทยในระยะยาว ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

         

มาดูกันว่าถ้าสนใจซื้อกองทุน SSF พิเศษ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง  

1. ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น

2. มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

3. ซื้อแล้วต้องถือไปไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ

4. ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 200,000 บาท (ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท) โดยไม่มีเพดานรายได้ และไม่คิดรวมกับกองทุน SSF ปกติ และกองทุนเกษียณอื่นๆ

 

ข้อ 1 – 3 คงไม่มีข้อสงสัย แต่ข้อ 4 อาจมีคำถามว่า เมื่อไม่รวมกับกองทุน SSF ปกติ และกองทุนเกษียณอื่นๆ แล้ว จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 200,000 บาท คำตอบคือ ใช่

         

จากเดิมที่ลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ได้แก่

1. กองทุน SSF ปกติ ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

2. กองทุน RMF ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

3. ประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

4. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (หรือ กบข., กอช., กองทุนเพื่อการเกษียณแบบอื่น) ลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน

 

โดยเมื่อรวมกันทั้ง 4 ข้อ ต้องอยู่ในวงเงินลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 500,000 บาท ดังนั้น ความน่าสนใจของกองทุน SSF พิเศษ คือ ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้อีกไม่เกิน 200,000 บาท แปลว่า จะได้สิทธิประโยชน์ภาษีประจำปี 2563 ได้สูงสุดถึง 700,000 บาท

         

“กองทุน SSF พิเศษนี้ ใครๆ ก็ซื้อได้ หมายความว่า ไม่ว่าจะมีฐานรายได้มากหรือน้อย รายได้ประจำหรือไม่ประจำ ถ้าต้องเสียภาษีและมีเงินเก็บก็สามารถแบ่งมาลงทุนได้ เพราะจะได้สิทธิด้านภาษีแบบเต็มๆ” สาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทิสโก้ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจซื้อกองทุน SSF พิเศษ สาห์รัชแนะนำว่า ควรถามตัวเองก่อนว่ามีเงินลงทุนในระยะยาวหรือไม่ เพราะกองทุนนี้ต้องถือลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ รวมถึงต้องรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง เพราะจะลงทุนในหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 65% และมองเห็นโอกาสการลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงมา

 

“นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแล้ว กองทุน SSF พิเศษ ถือเป็นช่องทางสะสมเงินลงทุนเพื่อเก็บออมไว้ใช้จ่ายในอนาคต”

 

เนื่องจากมีระยะเวลาจำกัดในการซื้อ สาห์รัชแนะนำให้ซื้อครั้งเดียว เช่น สนใจซื้อ 50,000 บาท ก็ซื้อ 50,000 บาท หรือสนใจซื้อ 200,000 บาท ก็ซื้อ 200,000 บาท “ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยได้ปรับฐานลงมาค่อนข้างต่ำ จึงสามารถลงทุนทั้งก้อนได้เลย”

 

จากประเด็นที่ต้องถือลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ที่อายุยังน้อย เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่วัยทำงาน อาจเลือกกองทุน SSF พิเศษ เป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่เส้นทางการลงทุน

 

“เนื่องด้วยภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ หากเน้นลงทุนในตราสารหนี้อาจไม่ตอบโจทย์ในเรื่องการออมในระยะยาว จึงควรแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงขึ้น เช่น หุ้น” สาห์รัช แนะนำ

 

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ว่าหากลงทุนหุ้นในระยะยาวก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดี “ถึงแม้ไม่มีกองทุน SSF พิเศษก็ควรแบ่งเงินไปลงทุนในหุ้น และยิ่งมีกองทุนนี้ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนการลงทุนต่ำ เพราะได้สิทธิพิเศษด้านภาษี ดังนั้น หุ้นจึงเป็นทางเลือกแรกๆ สำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินในระยะยาว” สาห์รัช อธิบาย

 

สำหรับการเลือกว่าจะซื้อกองทุน SSF พิเศษกองไหนนั้น สาห์รัช แนะนำว่า ควรรอดูรายละเอียดของกองทุน SSF พิเศษ ที่จะนำเสนอต่อผู้ลงทุน

 

“เมื่อหมดสิทธิพิเศษตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ผู้ลงทุนก็สามารถซื้อ SSF แบบปกติได้ต่อไป และเมื่อกองทุนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารเงินของผู้ลงทุนได้ดี” สาห์รัช กล่าวปิดท้าย

 

หมายเหตุ: บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

 

ฐิติเมธ โภคชัย

ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

อ่านบทความอื่นๆ ต่อได้ที่ >> https://setga.page.link/ds4rghK8pyNH5ZUZ6

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0