โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

กองทุนเอฟทีเอช่วยต่อกรค้าเสรีปิดตัว “เกษตรกร-ธุรกิจ”ที่สู้ไม่ได้นอนรอวันเจ๊ง

Manager Online

อัพเดต 19 ส.ค. 2561 เวลา 14.30 น. • เผยแพร่ 19 ส.ค. 2561 เวลา 12.51 น. • MGR Online

เกษตรกร-ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้ามีสิทธิ์ตายเรียบ หลังสำนักงบประมาณหั่นงบกองทุนเอฟทีเอปี 62 ทิ้งจนเกลี้ยง อ้างเหตุผลเบิกจ่ายล่าช้า ทำให้ต้องปิดฉากกองทุนที่ดำเนินการมายาวนานกว่า 10 ปีทันที แถมไทยยังเดินหน้าเจรจาเอฟทีเออีกเพียบ ด้านกรมการค้าต่างประเทศแจงไม่ได้ล่าช้า แต่ตัวโครงการต้องใช้ระยะเวลาในการช่วยเหลือ ไม่ใช่โครงการแจกเงินแล้วจบ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณปี 2562 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนต.ค.2561-ก.ย.2562 กรมฯ ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการกองทุนเพื่อการปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุนเอฟทีเอ ที่กรมฯ ได้ของบประมาณไป 20 ล้านบาท เพราะสำนักงบประมาณได้ตัดงบส่วนนี้ไป โดยให้เหตุผลว่ามีการเบิกจ่ายล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้จากนี้ไป กรมฯ จะไม่มีเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีอีกต่อไป และส่งผลให้กองทุนเอฟทีเอ ที่จัดตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องปิดฉากตามไปด้วย

“การตัดงบประมาณดังกล่าว ส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2562 กรมฯ จะไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีของไทยกับประเทศต่างๆ ได้ ในขณะที่นโยบายของรัฐบาลพยายามเดิมหน้าจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะหากมีผู้ได้รับผลกระทบ ก็ไม่รู้จะช่วยเหลือยังไง”

ทั้งนี้ กรมฯ ได้ดำเนินโครงการกองทุนเอฟทีเอมานานถึง 10 ปี เริ่มจากได้รับงบประมาณเริ่มต้นที่ 100 ล้านบาท ถูกลดลงมาจนปีล่าสุด 2561 ได้รับงบประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีให้ปรับตัวรองรับผลกระทบได้ และให้สามารถอยู่รอดได้อย่างเข้มแข็งมาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือ ต้องเขียนโครงการเข้ามาว่าจะทำอะไร งบประมาณเท่าไร แล้วต้องศึกษาความเป็นไปได้ด้วย มีคณะกรรมการกองทุนฯ เป็นผู้พิจารณา ถ้าผ่านถึงจะอนุมัติงบประมาณให้ จากนั้นเป็นขั้นตอนของการให้ความช่วยเหลือ ต้องลงพื้นที่ไปช่วยปรับตัว ไปแนะนำ มีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ ซึ่งการช่วยเหลือจะมีขั้นตอนทำงาน ซึ่งอาจจะเกิดความล่าช้าจากจุดนี้ เพราะกว่าจะเริ่มโครงการต้องใช้เวลาพิจารณา และเมื่อทำโครงการแล้ว ก็ใช้เวลา ไม่ใช่แค่ไม่กี่เดือน บางโครงการใช้เวลาเป็นปี หรืออาจจะมีเฟส 1 เฟส 2 ต่อเนื่องอีกหลายปี ก็เลยจบโครงการได้ช้า เบิกเงินได้ช้า เพราะมันไม่ได้การแจกเงิน ที่ให้แล้วจบเลย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่กรมฯ ถูกตัดงบประมาณ และพอกระบวนการจัดทำงบประมาณจบ รัฐบาลได้เปิดช่องให้หน่วยงานต่างๆ ของบประมาณเพิ่มเติมได้ กรมฯ เลยเสนอของบกองทุนเอฟทีเอเข้าไปอีก 50 ล้านบาท แต่ก็ไปตกที่สำนักงบประมาณเช่นเคย ไม่ได้เข้าสู่ขั้นตอนแปรญัตติ ก็เลยไม่มีโอกาสได้ชี้แจง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0