โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"กสิกรไทย" ผลัดใบ ชู 2 หญิงแกร่ง รับไม้ต่อ "บัณฑูร ล่ำซำ" นำทัพฝ่าวิกฤต

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 05 ส.ค. 2563 เวลา 10.52 น. • เผยแพร่ 08 เม.ย. 2563 เวลา 10.44 น.
“กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” และ “ขัตติยา อินทรวิชัย” ผู้บริหารหญิงคู่แรกของธนาคารกสิกรไทย
“กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” และ “ขัตติยา อินทรวิชัย” ผู้บริหารหญิงคู่แรกของธนาคารกสิกรไทย

ในที่สุดก็มาถึงยุคที่ธนาคารกสิกรไทย “ผลัดใบ” หลังจาก“บัณฑูร ล่ำซำ” โบกมือลาทั้งเก้าอี้ซีอีโอ และ ประธานกรรมการ โดยวางตัว “2 หญิงแกร่ง” รับไม้ต่อ คือ “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รักษาการประธานกรรมการ และ “ขัตติยา อินทรวิชัย” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นับได้ว่าเป็นผู้บริหารหญิงคู่แรกที่ขึ้นมากุมบังเหียนธนาคาร

ต้องเชื่อมั่นเพื่อก้าวผ่านวิกฤต

“เราจะต้องฝ่าฟันวิกฤตไปให้ได้ ภายใต้ 1.เชื่อมั่นในประเทศ 2.เชื่อมั่นในรัฐบาล และ 3.เชื่อมั่นในสาธารณสุข เพื่อให้ทุกอย่างจบโดยเร็ว ส่วนธุรกิจเรา (กสิกรไทย) บอร์ดบริหาร ประเมินว่า ธนาคารมีความแข็งแกร่งและมั่นใจว่าฝ่ายบริหารจะสามารถบริหารธุรกิจให้สามารถฝ่าวิกฤตไวรัสนี้ไปได้ และก้าวผ่าน digital disruption ไปอย่างเรียบร้อย” นี่เป็นวิสัยทัศน์ของรักษาการประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทยคนใหม่ที่กล่าวผ่าน “Facebook live her talk” เป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง

“กอบกาญจน์” ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยตอนนี้มีอัตราการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และเผชิญความยากลำบากจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทบทุกชนชั้น และมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนรัฐบาลต้องประกาศเคอร์ฟิว โดยในปีนี้คาดกันว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะหดตัว -5% โดยการลงทุนภาครัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนขยายตัวได้ 3.3% แต่จะต้องเริ่มโปรเจ็กต์ใหม่ทันที

ส่วนการลงทุนของเอกชนจะหดตัว -5% รวมถึงการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 18% ของ GDP ได้รับผลกระทบจากไวรัส คาดว่านักท่องเที่ยวจะหายไปประมาณ 50% หรือ 17 ล้านคน และกลับมาในช่วงไตรมาส 3-4

“การท่องเที่ยวมีความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชุมชน แต่สามารถใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสที่จะช่วยให้การท่องเที่ยวกลับมาเกิดขึ้นได้ โดยเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นรูปตัวยู (U) หรือตัววี (V) จะขึ้นกับการท่องเที่ยว ถ้าการท่องเที่ยวกลับมาเร็วก็จะเห็นเศรษฐกิจฟื้นเร็ว”

แบงก์กลไกสำคัญฟื้นเศรษฐกิจ

ด้านธุรกิจแบงก์นั้น “กอบกาญจน์” กล่าวว่า ปัจจุบันคลื่นดิสรัปชั่นเข้ามา ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค สะเทือนต่อธุรกิจธนาคารที่จะต้องปรับตัวเข้มข้นขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีความหมาย และทำให้ผู้บริโภคและลูกค้ามีคุณภาพ โดยลูกค้าต้องสามารถต่อยอดธุรกิจไปได้ ซึ่งธนาคารก็เร่งรัดช่วยลูกค้าหลายทาง และสนับสนุนมาตรการของภาครัฐ

“ธนาคารเป็นตัวจักรสำคัญ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ นอกจากจะฝ่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 จะต้องยืนหยัดด้วยความ

เข้มแข็ง และรองรับความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยธนาคารกสิกรไทยจะต้องเข้าไปอยู่ในใจคนไทย ซึ่งจะต้องทำให้แบรนด์เข้มแข็ง สามารถเทิร์นเป็น digital และ go (ก้าว) ไปสู่ regional (ภูมิภาค) เพื่อการเติบโตต่อไป”

ทุกคนผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

“เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ โดยไม่ใช่กสิกรไทยที่ผ่านไปได้คนเดียว แต่ทุกคนต้องผ่านไปได้ ทั้งลูกค้า ระบบการเงิน เพราะทุกคนมุ่งมั่นตอบโจทย์ลูกค้า และคณะกรรมการของธนาคารที่มีหลากหลาย และมีกลยุทธ์ที่หลากหลายด้วย” ซีอีโอคนใหม่ของธนาคารกสิกรไทยกล่าว

“ขัตติยา” บอกว่า ธุรกิจธนาคารปีนี้ต้องขับเคลื่อนภายใต้ความท้าทาย ทั้งภัยแล้ง ดิจิทัลดิสรัปชั่น และการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยธนาคารจะต้องดำเนินธุรกิจให้มีผลประกอบการที่ดี และสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ รวมถึงที่สำคัญจะต้องเป็นฟันเฟืองของประเทศในการทำให้ระบบการเงินดำเนินไปได้ด้วยดี พร้อมเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าให้เร็ว เข้าถึงลูกค้าและคนที่ลำบาก พร้อมช่วยภาครัฐเข้าถึงคนไทยให้มากที่สุด

“หากเทียบความท้าทายตอนนี้กับวิกฤตต้มยำกุ้ง จะเห็นว่าตอนนี้ค่าเงินบาทนิ่ง สำรองยังสูง มาตรการภาครัฐมาค่อนข้างเร็ว แต่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่วนเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอยู่แล้ว หนี้ครัวเรือนสูง เมื่อเจอไวรัสโควิด-19 ที่เป็นโจทย์ทั้งโลก และทุกบริษัทต้องเผชิญ ซึ่งแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในภาวะแบบนี้มีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในความสามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งธนาคารมีการติดตามอย่างใกล้ชิดทุกเดือน

สำหรับทิศทางธุรกิจของกสิกรไทย “ขัตติยา” ให้ภาพว่า แบงก์จะต้องเป็นองค์กรที่คล่องตัว และได้ยินลูกค้า สามารถมองดักทางไปข้างหน้าได้ว่าลูกค้าต้องการอะไร และสามารถตอบโจทย์ลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้”

โดยธนาคารแบ่งทีมงานเป็น 2 ทีม คือ ทีมที่ดูแลโจทย์ธุรกิจปัจจุบัน และทีมที่ดูแลโจทย์ในอนาคต ซึ่งต้องปล่อยสินเชื่ออย่างชาญฉลาด ผสมผสานช่องทางที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ ปล่อยกู้ให้กับลูกค้ากลุ่มที่ไม่เคยปล่อยมาก่อน และเดินหน้าควบคู่การลงทุนในภูมิภาค การใช้ data (ข้อมูล) อย่างรับผิดชอบ

“วิธีคิดของทั้งองค์กรเป็นเรื่องสำคัญมาก จะต้องมองไปข้างหน้าและดักทาง โดยโมเดลธุรกิจวันนี้อาจจะสำเร็จวันนี้ และอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในวันข้างหน้าหรือในอนาคต ดังนั้น ทุกอย่างจึงต้องเตรียมพร้อม”

พร้อมกันนี้ ซีอีโอหญิงคนใหม่ ย้ำด้วยว่า ไม่มีนโยบายการลดพนักงานแน่นอน แต่จะดูแลสุขภาพพนักงานทุกคน และดูแลลูกค้า ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

“บัณฑูร” อำลาเก้าอี้ประธาน KBANK สู่เส้นทางนักอนุรักษ์ มั่นใจระบบแบงก์แข็งแกร่งรองรับวิกฤตโควิด-19

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0