โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

กสิกรเตือนรับมือเศรษฐกิจถดถอย เงินบาท”ไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัย”

Money2Know

เผยแพร่ 26 มิ.ย. 2562 เวลา 11.44 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
กสิกรเตือนรับมือเศรษฐกิจถดถอย เงินบาท”ไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัย”

กสิกรมองภาพรวมเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลงจากพิษสงครามการค้า เชื่อธนาคารกลางสหรัฐฯลดดอกเบี้ยนโยบายปลายเดือน ก.ค.นี้ หนุนเงินบาทแข็งขึ้นอีก แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะการส่งออกจึงไม่แนะนำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย คาดจบสิ้นปี 62 ค่าเงินบาทปิดที่ 31 บาท/ดอลลาร์ หั่นประมาณการจีดีพีเหลือ 3.1%

ธนาคารกสิกรไทย จัดงานสัมนา”จับตาเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ค่าเงินและภาวะเศรษฐกิจโลก” ภายในงานมีการจัดสัมนาหัวข้อ”ทิศทางค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ยปี 2562” โดยนางสาววรันธร ภู่ทอง ผู้ชำนาญการวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย และนายสรรค์ อรรถรังสรรค์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

นายสรรค์ กล่าวว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้แย่ลงไปจนถึงปลายปีนี้ ขณะที่จีดีพีเศรษฐกิจโลกเติบโต 3.7% ในปีที่แล้ว แต่ปีนี้คาดว่าจะเติบโตเพียง 3.3% เท่านั้น ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้อยู่ในเทนด์ขาลง นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มปรับแย่ลง ซึ่งภาพรวมทุกอย่างดูเหมือนชะลอตัวและแย่ตามกันไปเสียทั้งหมด ทำให้สิ่งที่จะตามมานั่นคือดอกเบี้ยจะต่ำลง และนักลงทุนจึงต้องเปรียบเทียบว่าดอกเบี้ยที่ไหนดีกว่ากัน และเศรษฐกิจภูมิภาคไหนดีที่สุด

คาดว่าในระยะ 4 ไตรมาสถัดจากนี้ตลาดเกิดใหม่จะขยายตัวดีกว่าตลาดสหรัฐฯ เงินทุนจึงจะไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่มากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับไทยก็เช่นเดียวกันเริ่มมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามามากขึ้น เนื่องจากไทยยังมีศักยภาพที่แข็งแรง ตลาดหุ้นไทย 3-4 ปีที่ผ่านมามีเงินไหลออกตลอด แต่ต้นปีที่ผ่านมาเริ่มมีเงินไหลกลับเข้ามาแล้ว จากเหตุผลทางการเมืองที่ดีขึ้น

ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯและจีน อยู่ในช่วงขาลงฉุดเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การบริโภคในประเทศ และการปล่อยสินเชื่อยังเป็นบวก แต่ความกังวลเริ่มเกิดขึ้นจากตัวเลขภาคการผลิตที่ลดลง สะท้อนว่าภาคการผลิตโลกจะชะลอตามสหรัฐฯไปด้วยเช่นเดียวกัน ปัญหาที่จะตามมาคือการจ้างงานชะลอตัวลง และถ้าหากภาวะสงครามการค้าส่งผลกระทบกับภาคการผลิตมากขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวไปอีก 1 ปีถัดจากนี้

นอกจากนี้สงครามการค้าที่กระทบภาคผลิตแล้ว ยังส่งผลกับการบริโภคในสหรัฐฯด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าจากจีน 25% สิ่งที่เห็นในปัจจุบันคือราคาสินค้าในสหรัฐฯปรับตัวขึ้น ในสินค้าประเภทเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภคภายในประเทศด้วยเช่นกัน

ส่วนเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน ขณะที่ตัวเลขปริมาณเงินในระบบของจีนก็ชะลอลงด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่าการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมีการชะลอตัวลง ซึ่งการส่งออกของจีน และการบริโภคก็แย่ด้วยเช่นกัน โดยรัฐบาลจีนไม่ได้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากเดิม ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจึงน่าเป็นห่วง เพราะจีนและสหรัฐฯ ต่างอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่พอกัน ทำให้ 1 ปีถัดจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งโลกมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยด้วยกันทั้งนั้น

แต่อินเดีย เป็นประเทศที่จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะอินเดียมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากในประเทศเป็นหลัก และมีประชากรมาก ทำให้การบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจไทยตัวเลขส่งออกเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หดตัวต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการส่งออกไปยังจีน และการส่งออกไปยังอาเซียนที่เชื่อมโยงกับจีน แต่การส่งออกไปสหรัฐฯยังเป็นบวก เช่นการส่งออกสินค้าทดแทนจากจีนที่มีสัญญานดี แต่สงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ จะทำให้ไทยได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะอยู่ในวัฎจักรการส่งออกไปยัง 2 ประเทศสำคัญที่ทำสงครามการค้ากัน

ปรับประมาณการเติบโตของจีดีพีไทยปี 62 เหลือ 3.1%

ขณะที่ตัวเลขการท่องเที่ยวภายในประเทศไทย 5 เดือนที่ผ่านมา หดตัวไปแล้ว 3 เดือน เป็นผลมาจากนักท่องเที่ยวจีนหดตัว 4 เดือนติดต่อกัน ซึ่ง 5 ประเทศหลักที่นักท่องเที่ยวจีนออกไปเทียวมีจำนวนเป็นบวกด้วยกันทั้หมด ยกเว้นไทยประเทศเดียวที่ติดลบ เป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น แต่การบริโภคในประเทศไทยเริ่มดีขึ้นมาทดแทนการส่งออก และการท่องเที่ยว เป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

โดยเฉพาะภาคการเกษตรเริ่มกลับมาเป็นบวกในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ประเด็นที่ยังต้องจับตามองคือเสถียรภาพการเงินในประเทศ เช่นการปล่อนสินเชื่อในอุตสาหกรรมอสังหาฯ เริ่มสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ครัวเรือนของไทยมีอัตราที่ปรับตัวสูงขึ้นจาก 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในระยะยาวปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นเดียวกัน ภาพรวมแล้วเศรษฐกิจไทยถือว่ายังไม่ดีนักจึงปรับประมาณการณ์จีดีพีจากเดิมโต 3.7% เหลือ 3.1%

ด้านนางสาววรันธร กล่าวต่อว่า ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)รอบล่าสุด มีมติเอกฉันทน์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มองเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง จึงได้ปรับลดจีดีพีปี 62 เหลือ 3.3% ทำให้กสิกรฯปรับลดจีดีพีตามด้วยเช่นกัน ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงจากผลกระทบสงครามการค้า แต่ที่ผ่านมาเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นมาแล้ว 1-2 เดือน ซึ่งความเสี่ยงในเรื่องเงินบาทแข็งตัวในปัจจุบันมาจากการเกร็งกำไร และต้องจับตาความผันผวนในระยะต่อไป

ด้านการเงินโลกตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังอ่อนแอลง ผลที่ตามมาจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้น และส่งผลดีกับตลาดหุ้นทั่วโลกด้วย ซึ่งธนาคารกลางอื่นๆ ออกมาแสดงจุดยืนผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเทศต่างๆลดลง

ธนาคารกลางสหรัฐฯส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยนโยบายทำเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงหนุนเงินบาทแข็งขึ้น

ในขณะที่อัตราการแลกเปลี่ยนก็ตอบรับประเด็นเฟดลดดอกเบี้ยลงด้วยเช่นกัน ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง และค่าเงินสกุลต่างๆแข็งค่าขึ้นมา ด้านเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในเดือนที่ผ่านมา ส่วนเงินหยวนที่โดนผลกระทบสงครามการค้ายังไม่แข็งขึ้นมากนัก ขณะที่ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯและยูโรโซนเริ่มอ่อนแอจากภาวะสงครามการค้า

แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดหลังมีความเสี่ยงสงครามการค้ารุนแรง เฟดมีท่าทีลดดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะ 1 ปีข้างหน้า ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเป็นอย่างมาก ส่วนฝั่งยุโรปมองภาพสอดคล้องกับสหรัฐฯ มีเทนด์ผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น สิ่งที่ฝั่งยุโรปทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจคือการปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ และให้ธนาคารปล่อยกู้ให้เอกชนต่อ

เชื่อว่ามาตรการนี้ของยุโรปไม่น่าส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวมากเท่าไร เนื่องจากอิตาลี่ยังคงมีหนี้สูงเมื่อเทียบกับจีดีพีทั้งประเทศ และดุลการค้ามีแนวโน้มขาดดุลอีกมากพอสมควร จากการประกาศนโยบายของรัฐบาลอิตาลี่ ที่จะใช้จ่ายการคลังมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันเงินยูโรในทางลบ

ขณะที่รัฐบาลกรีซออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่จากความนิยมรัฐบาลลดลง ส่วนสหราชอาณาจักรยังมีปัญหาค้างคา และรอการขึ้นมาของนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากการที่เทลิซ่า เมย์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ความเสี่ยงเงินปอนด์ยังสูง และสหราชอาณาจักรยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการออกจากยูโรโซน

ประเทศในกลุ่มเอเชียลดดอกเบี้ยนโยบายปีนี้กันแล้ว ส่วนไทยคาดคงดอกเบี้ยทั้งปีจากความกังวลหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง

ส่วนในเอเชียเทนด์นโยบายการเงินมีการผ่อนคลายเช่นกัน ที่ผ่านมาธนาคารกลางหลายประเทศลดลอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว เช่นอินเดียลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 3 ครั้งในปีนี้, ฟิลิปปินส์ลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 1 ครั้ง และมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง, อินโดนีเซีย ก็มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน นื่องจากเงินเฟ้อต่ำลง ขณะที่มาเลเซียลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 1 ครั้งในปีนี้ และมีท่าทีปรับลดต่อด้วยจากอัตราเงินเฟ้อต่ำ ส่วนไทยมีท่าทีคงดอกเบี้ย 1.75% ทั้งปี ส่วนปีหน้ายังต้องจับตาต่อไป

สำหรับแนวโน้มของ ธปท. ที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายทั้งปี เป็นผลจากความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนระดับสูง และอัตราการปล่อยกู้ที่ขยายตัวสูงเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้ายังมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก อาจทำให้หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกสิกรประเมินว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยนโยบายช่วงปลายเดือนหน้า และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องลงไปอีก หากสงครามการค้าไม่สามารถเจรจากันลงตัวได้ ทำให้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาก

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทน่าสนใจคือไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสะท้อนว่าเราไม่ต้องพึ่งหนี้ต่างประเทศ เวลาเกิดปัญหาต่างประเทศทำให้ไม่มีความเสี่ยงเงินไหลออก ขณะที่นโยบายภาษีที่สหรัฐฯทำกับจีนส่งผลกระทบการส่งออกจีนอ่อนแอ ซึ่งไทยได้รับผลกระทบ 2% ต่อจีดีพี แต่น้อยกว่าประเทศอื่นในเอเชีย โดยจะเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่น่าสนใจกว่าประเทศอื่นในเอเชีย

อีกประเด็นคือเงินทุนไหลเข้ามาในเอเชีย ซึ่งตลาดเอเชียยังมีการขยายตัวได้ดีกว่าสหรัฐฯ ทำให้ต่างชาติพากันนำเงินกลับเข้ามาในเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่การเมืองเอเชียดีขึ้น เช่นไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย มีการเลือกตั้ง ทำให้ความชัดเจนทางการเมืองมีมากขึ้น มุมมองเศรษฐกิจเอเชียก็เป็นบวกตามไปด้วย

ขณะที่ตลาดพันธบัตรแต่ละประเทศในเอเชีย ไทย อินเดีย และฮ่องกง มีสภาพคล่องในตลาดพันธบัตรสูง สะท้อนจากปริมาณการซื้อขายในแต่ละช่วงทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นพิเศษ ตลาดบอร์นและตลาดหุ้นไทย ก็มีเงินทุนไหลเข้าสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้ามาในพันธบัตรระยะสั้น เพื่อมาเกร็งกำไรค่าเงินบาท แต่ยังมีความกังวลไหลออกง่ายด้วยเช่นกัน ถ้าเกิดปัจจัยเสี่ยงกับเศรษบกิจ ซึ่งจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ทั้งนี้ยังไม่มองว่าค่าเงินบาทเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพราะยังมีสงครามการค้าที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจปรับตัวลดลง และทำให้เงินบาทอ่อนตัวลงตามไปด้วยในระยะยาว

*อย่างไรก็ตาม คาการณ์ ณ สิ้นปี 62 ค่าเงินบาทจะปิดตัวที่ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ *

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0