โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

กสทช.แจง‘องค์การอนามัยโลก’ยันคลื่นเสามือถือไม่กระทบสุขภาพ

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 13 พ.ย. 2561 เวลา 11.26 น. • The Bangkok Insight
กสทช.แจง‘องค์การอนามัยโลก’ยันคลื่นเสามือถือไม่กระทบสุขภาพ

ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ส่งหนังสือแจ้ง กสทช. ยืนยันผลการศึกษาการปล่อยคลื่นความถี่มือถือจากเสาสัญญาณไม่กระทบต่อสุขภาพ  “ฐากร”แจงเวทีประชุมกรุงคนไทยยังเป็นกังวล เสนอจัดเวทีกรุงเทพฯถกข้อสรุป

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่าวันนี้ (13 พ.ย.)  ดร.อีมิลี ฟาน เดเวนเตอร์ หัวหน้าคณะรังสีวิทยา องค์การอนามัยโลกทำหนังสือตอบกลับ กรณีสำนักงาน กสทช.ได้สอบถามประเด็นความปลอดภัยจากคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งสัญญาณผ่านสถานีฐาน

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ กสทช.
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ กสทช.

โดย ดร.เดเวนเตอร์ ยืนยันผลการศึกษาช่วงระยะ 10ปี ระหว่างปี 2539-2549 ระบุไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถชี้ได้ว่าการส่งสัญญาณในคลื่นความถี่ระหว่าง 0-300 กิกกะเฮิร์ตซ์ จากสถานีฐานและการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพ

นายฐากร กล่าวว่า ดร.ฟาน เดเวนเตอร์ ยังระบุในจดหมายว่าในปี 2553 คณะนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ได้ศึกษากรณีการส่งคลื่นสัญญาณเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่จากสถานีฐาน ก็ยังไม่พบหลักฐานว่าคลื่นความถี่มีผลต่อสุขภาพ

หลังจากนั้นองค์การอนามัยโลกยังศึกษาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพร่างกายกับการปล่อยคลื่นความถี่จากอุปกรณ์ไร้สายและสถานีส่งสัญญาณคลื่นโทรศัพท์ ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ใดๆ อีกเช่นกัน

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกจะจัดประชุมในประเด็นคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือกับสุขภาพของผู้คนอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ปี 2562 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ภาพจาก pixabay
ภาพจาก pixabay

ก่อนหน้านี้ นายฐากร ได้ทำหนังสือไปยัง ดร.เดเวนเตอร์ ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2561 ขอคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกกรณีที่ประชาชนไทย ยังคงวิตกกังวลการส่งสัญญาณคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือจากสถานีฐานจะมีผลต่อสุขภาพร่างกาย แม้ว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษาทั้งจากองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานเกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่มาเป็นเวลาหลายปีแล้วยืนยันว่าไม่มีผลต่อสุขภาพ จึงเป็นที่มาของหนังสือตอบกลับจาก ดร.เดเวนเตอร์ ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561

ขณะเดียวกัน นายฐากรและผู้เชี่ยวชาญด้านคลื่นความถี่ของสำนักงาน กสทช. เดินทางเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือระดับโลกว่าด้วยนโยบายด้านสุขภาพและการวิจัยเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือกลอร์ (Global Coordination of Research and Health Policy on RF Electromagnetic Fields : G L O R E ) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ย. 2561

นายฐากร ได้รายงานสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศไทยว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง โดยเฉพาะความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนคนไทย อันเนื่องมาจากพัฒนาการที่รวดเร็วของการขยายโครงข่ายการใช้งานคลื่นความถี่แบบไร้สายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ กสทช.
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ กสทช.

ทั้งนี้ การร้องเรียนเรื่องสุขภาพมีหลากหลายในแง่ของผลกระทบเช่น ปวดศีรษะ หน้ามืด อ่อนแรง หรือแม้แต่อ้างว่าเป็นมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งการร้องเรียนต่างๆ เหล่านี้ส่งไปยังหลายหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่น สื่อสาธารณะ หรือแม้แต่ศาลปกครอง

นายฐากร กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาวิธีแก้ไขป้องกันเพื่อให้ประชาชนปลอดภัย โดยสำนักงาน กสทช. ได้ออกประกาศในปี  2549 เพื่อบังคับใช้มาตรฐานการส่งสัญญาณคลื่นความถี่ของ 1998 ICNIRP ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในการกำกับการปล่อยคลื่นความถี่ รวมถึงจำกัดความแรงของคลื่นที่สถานีฐานปล่อยออกมา มาตรฐานอันนี้เป็นแนวทางที่หลายๆประเทศรวมถึงสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และองค์กรอนามัยโลก เลือกใช้

นอกจากนี้ทางสำนักงาน กสทช. มีทีมเจ้าหน้าที่ 25 เขต สุ่มตรวจสอบสถานีฐานทั่วประเทศว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของหลักเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ รวมถึงยังจัดการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องของความปลอดภัยของการใช้งานคลื่นความถี่ และให้ทางผู้ประกอบการเอกชนสร้างความรู้และความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่มีการติดตั้งสถานีฐานอีกด้วย

ถึงแม้ว่าทางสำนักงานจะใช้หลักมาตรฐานสากลในการควบคุมการปล่อยคลื่นความถี่ของสถานีฐานและการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน แต่ก็ยังพบข้อร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง กสทช. คิดว่าความกังวลของประชาชนในเรื่องนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญของประเทศในการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่การใช้คลื่นความถี่ในการติดต่อสื่อสารของเทคโนโลยีนั้นมีแต่จะมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ 5G ที่ต้องวางเสาสัญญาณมากกว่าเทคโนโลยี 3G และ 4G ที่ใช้ในปัจจุบัน

นายฐากร กล่าวอีกว่า ในการประชุม GLORE 2018 ทาง กสทช. หวังว่าจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องของผลการศึกษาและหลักฐานรวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาความกังวลของประชาชนที่คิดว่าคลื่นความถี่มีอันตรายต่อสุขภาพที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่นี้

สำนักงาน กสทช. ได้เสนอต่อที่ประชุมของ GLORE ว่าจะเชิญผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก สมาชิกของ GLORE ทั่วโลกเข้าที่ประชุมในประเทศไทย สำนักงาน กสทช.พร้อมจะเป็นเจ้าภาพและหารือในประเด็นต่างๆเกี่ยวข้องระหว่างคลื่นความถี่กับสุขภาพร่างกาย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0