โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กล้ามาก! “เด็กจบใหม่” เรียกเงินเดือนสูงลิ่ว! “นายจ้าง” จะมั่นใจได้ไง ว่าความสามารถถึง?

Another View

เผยแพร่ 06 มี.ค. 2562 เวลา 05.00 น.

กล้ามาก! "เด็กจบใหม่" เรียกเงินเดือนสูงลิ่ว! "นายจ้าง" จะมั่นใจได้ไงว่าความสามารถถึง?

ใกล้ถึงฤดูจบการศึกษาของเด็กมหาวิทยาลัย ที่กำลังจะก้าวมาเป็นมนุษย์เงินเดือนหน้าใหม่กันแล้ว ในจำนวนนักศึกษาจบใหม่ในระดับปริญญาตรีกว่า 450,000 คนต่อปี จากหลากหลายมหาวิทยาลัย บ้างก็ชื่อดัง บ้างอาจจะไม่ดังมาก แต่ละคนล้วนคาดหวังว่าจากการตรากตรำร่ำเรียนวิชาการมาเป็นเวลา 4 ปีเต็ม ๆ เพื่อจบออกไปเข้าสู่ตลาดแรงงาน จะทำให้ตัวเองได้รับเงินเดือนก้อนแรกที่คุ้มค่า เต็มเม็ดเต็มหน่วยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจผันผวน ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นทุกวัน และอัตราเงินเฟ้อที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปทุกปี

เราคงเคยได้ยินกันมาว่าในรุ่นพ่อแม่ เงินเดือนเดือนละ 8,000 - 9,000 บาทก็ถือว่าเยอะแล้ว เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในยุคนั้น และในปัจจุบัน เรทเงินเดือนเริ่มต้นของพนักงานบริษัทเอกชนส่วนใหญ่ คงหนีไม่พ้นตัวเลขมาตรฐานอย่าง 15,000 บาท (ยังไม่รวมที่จะโดนหักไปเข้าประกันสังคมอีกเกือบพัน จนเหลือจริง ๆ อยู่ที่ 14,000 ต้น ๆ เท่านั้นเอง)

แต่จากวิดีโอสำรวจความเห็นชิ้นหนึ่ง ที่ไปสัมภาษณ์เด็กมหาวิทยาลัยถึงความคาดหวังในตัวเงินเดือนก้อนแรกเมื่อเรียนจบ และสิ่งที่ตัวเองสามารถมอบให้กับบริษัท บางคนก็ให้ความเห็นที่สมเหตุสมผล ในขณะที่บางคน ถ้าฝ่ายบุคคลบางบริษัทมาเห็นก็อาจจะหงายหลังได้เหมือนกัน

จากคลิปวิดีโอ ค่าเฉลี่ยของเงินเดือนที่เด็กมหาวิทยาลัยคาดหวังว่าจะได้จะอยู่ในช่วง 20,000 - 30,000 บาทต่อเดือน ในสายอาชีพทั่วไป ในขณะที่บางคนก็บอกว่าคาดหวังที่ 60,000 บาท เพราะพูดได้ถึงสามภาษา หรือมากที่สุดอยู่ที่ 100,000 บาทต่อเดือน ด้วยเหตุผลที่ว่า ก็คิดว่าตัวเองทำงานได้ดี!

แม้ความคาดหวังจากเหล่าเด็กจบใหม่จะทะยานขึ้นไปแตะที่เลขสองแล้ว แต่โลกแห่งความเป็นจริงที่ต้องดึงตัวเองลงมาก่อน ก็ยังยืนยันว่าภาพรวมอัตราเงินเดือนของเด็กจบใหม่ในปี 2562 ยังคงยืนพื้นอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน เว้นแต่ร่ำเรียนมาเฉพาะทางในสายงานไอทีและดิจิทัล ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เช่นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรข้อมูล โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ ซึ่งความต้องการที่สูงก็ทำให้เงินเดือนเริ่มต้นพุ่งไปสูงถึง 35,000 บาทได้เช่นเดียวกัน

ยังไม่รวมปัจจัยเสริมด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ ที่สามารถดันฐานเงินเดือนพุ่งสูงขึ้นไปได้อีก และถ้าเป็นบริษัทต่างชาติ ก็มีแนวโน้มที่จะกล้าให้เงินเดือนที่สูงกว่าบริษัทในประเทศทั่วไป

จะเห็นได้ว่าการจะกล้า เรียกเงินเดือนสูงกว่าฐานเงินเดือนในตลาดแรงงานปัจจุบัน ประกอบไปด้วยปัจจัยสองส่วน หนึ่งคือต้อง รู้จักอุตสาหกรรมที่กำลังจะเข้าไปสมัครและสอง ประเมินความสามารถของตัวเองที่คนอื่นไม่มีส่วนเหล่าเด็กจบใหม่ที่ยังประเมินไม่ได้ว่าเรามีข้อดีอะไร หรือตอบโจทย์ทั้งสองข้อนี้อย่างไร ขอแนะนำให้พักคิดสักนิด ก่อนยื่นส่งใบสมัครและเรซูเม่

เพราะหากลองถอดตัวเองจากมุมของผู้สมัคร (ที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานจริงเลย นอกจากการฝึกงาน) มาสวมวิญญาณนายจ้างดูบ้าง จะรู้ว่าการลงทุนจ้างพนักงานเพิ่มหนึ่งคน ไม่ใช่แค่การตัดรายได้จากผลประกอบการมาเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ที่ต้องเสียไปในทุก ๆ เดือน แต่ยังหมายถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนเสริมทักษะการทำงาน สอนงานใหม่ หรือบางครั้งอาจให้เด็กใหม่ได้ลองทำงานที่อาจผิดพลาดและส่งผลกับรายได้ของบริษัทได้ หากเด็กคนนั้นไม่เจ๋งพอ

การเรียกเงินเดือนสูงกว่ามาตรฐานของตลาด จึงต้องทำให้นายจ้างมั่นใจว่าเขาจะไม่ต้องเพิ่มเงินลงทุนด้านอื่น ๆ กับพนักงานจบใหม่ ด้วยความสามารถของเราที่เหนือกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ  เมื่อรู้ว่าเรามีของอะไร และจะเข้าไปทำงานในวงการไหน สมควรเรียกเงินเดือนเริ่มต้นเท่าไหร่ที่เหมาะกับคุณค่าแรงงานของเราเอง ถึงแม้ว่าเรทที่ได้อาจจะฟังดูน้อยจนลำบากชีวิตเหลือเกิน แต่นั่นล่ะคือข้อดีอย่างหนึ่งที่แอบแฝงอยู่ นั่นคือการฝึกตัวเราเอง ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่อาจสะดวกสบายน้อยลง ไปเที่ยวได้น้อยกว่าเดิม ถ้าใช้ไม่พออาจจะลองหางานเสริมหรือฟรีแลนซ์เพิ่มเติม หรือเริ่มนิสัยออมเงินและลงทุน เพื่อเป็นฟูกนิ่ม ๆ รองรับชีวิตให้กับตัวเองยามฉุกเฉิน

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเรา (บางคน) ยังติดนิสัยในสมัยมหาวิทยาลัย ซึ่งความเครียดที่สุดของชีวิต คือการสอบปลายภาค โดยไม่ต้องมากังวลกับเรื่องของการเงินเลยแม้แต่นิดเดียว

ถ้าความสามารถเรายังสู้คนอื่นไม่ได้ หรือบังเอิญเลือกเรียนในสายงานที่เงินเดือนเริ่มต้นไม่สูง ลองเปลี่ยนมุมมอง ให้เงินเดือนก้อนแรกที่มองดูน้อย เป็นบันไดให้เราใช้พิสูจน์ตัว ทำงานให้ดีจนองค์กรเห็นคุณค่า เพิ่มเงินเดือนให้ตามความสามารถที่สูงขึ้น ฝึกวินัยการใช้และออมเงินให้พอดีตัว เพราะวิชาเหล่านี้ ไม่เคยมีมหาวิทยาลัยไหนสอนให้เรียน นอกจากตัวเราเอง

ชมคลิปวิดีโอ http://bit.ly/2tSt81I

 

ที่มาข้อมูล:

https://thestandard.co/podcast/ihatemyjob06/

https://today.line.me

https://money.kapook.com/view205191.html

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0