โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กล้องยักษ์ขนาด5สนามฟุตบอล ยืนยัน คลื่นปริศนานอกโลก 

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 19 ก.ย 2562 เวลา 06.21 น. • เผยแพร่ 19 ก.ย 2562 เวลา 06.20 น.

ในจักรวาลมี "ดาวเคราะห์" คล้ายโลกมนุษย์ไม่ต่ำกว่า 3 พันดวง ทำให้เหล่านักดาราศาสตร์ใฝ่ฝันที่จะค้นพบสัญญาณทักทายจากเพื่อนนอกโลก… หลายประเทศแข่งขันกันลงทุนสร้างกล้องส่องดูดาวให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมล่าสุดจีนประกาศว่า "กล้องโทรทรรศน์วิทยุใหญ่สุดในโลก" ที่มณฑลกุ้ยโจว ตรวจพบ "คลื่นวิทยุปริศนาชื่อดัง FRB 121102" ได้กว่า 20 ครั้ง ทำให้มนุษย์โลกยิ่งสงสัยว่าคลื่นลึกลับนี้ส่งมาจากไหนกันแน่…!?!…

จักรวาลอันไกลโพ้น มีสีดำมืดสนิท ไม่มีใครมองเห็นอะไรได้ ดังนั้น "กล้องโทรทรรศน์วิทยุ" ที่สร้างขึ้น จึงเน้นพัฒนาเทคโนโลยีตัวรับคลื่นวิทยุให้สามารถตรวจจับสัญญาณจากสิ่งต่างๆ เช่นคลื่นสัญญาณจากหลุมดำ คลื่นพัลซาร์ดาวนิวตรอน ฯลฯ หรือแม้กระทั่งจินตนาการว่าสักวันจะเจอสัญญาณส่งมาจาก อีที (E.T.) หรือ "สิ่งมีชีวิตภูมิปัญญานอกโลก" (extra-terrestrial life) ที่ต้องการทักทายมนุษย์

เมื่อปี 2007 นักดาราศาสตร์สามารถตรวจจับ "คลื่นเอฟอาร์บี" (FRB : Fast Radio Burst) หรือ "คลื่นวิทยุสัญญาณฉับพลัน" ที่เป็นกลุ่มสัญญาณจากอวกาศมีความเข้มเป็นพิเศษจากการปลดปล่อยพลังงานขนาดมหึมาออกมาเพียงแวบเดียวเท่านั้น หรือประมาณ 1 มิลลิวินาที เปรียบเทียบกับแมลงวันที่กระพือปีก 1 ครั้งใช้เวลา 3 มิลลิวินาที หมายความว่าคลื่นนี้มาแรงและฉับพลันจริงๆ

จนถึงปัจจุบันมีการตรวจเจอและบันทึก "คลื่นวิทยุสัญญาณฉับพลัน" จากนอกโลกไว้เป็นแล้วกว่า 90 ครั้งในฐานข้อมูล แต่จนถึงวินาทีนี้ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นคลื่นจากอะไร มีเพียงการตั้งสมมุติฐานว่าอาจเกิดจากการชนกันของหลุมดำหรือดาวนิวตรอนแล้วปลดปล่อยพลังงานออกมา หรือปรากฏการณ์อื่นๆ ที่ทำให้เกิดเป็นคลื่นวิทยุขนาดใหญ่แบบนี้ได้ ที่น่าสนใจคือ การค้นพบว่าคลื่นเอฟอาร์บีในบางตำแห่นงมีการปล่อยคลื่นซ้ำที่จุดเดิมอีกหลายครั้ง

หมายความว่าคลื่นสัญญาณนี้อาจมาจากบางสิ่งอาศัยอยู่ในห้วงลึกอวกาศ !

ทำให้นักวิทยาศาสตร์จากบางสำนักเชื่อว่าคลื่นนี้เป็นสัญญาณพลังงานที่รั่วไหลออกมาจากอุปกรณ์บางชนิดของมนุษย์ต่างดาว อาจเป็นคลื่นบังคับยานอวกาศขนาดยักษ์ก็ได้

โดยเฉพาะคลื่นปริศนาที่ชื่อ "FRB 121102" โดยการตั้งชื่อนั้นมาจากตัวย่อของวันที่พบครั้งแรกเช่น "FRB 121102" หมายถึงพบในปี 2012 เดือน 11 วันที่ 2

ดร.ลอรา สปิทเลร์ เป็นผู้ค้นพบสัญญาณคลื่นนี้ครั้งแรก แต่หลังจากนั้นผ่านไป 3 ปี ในเดือนมิถุนายน 2015 กล้องดูดาวของแคนาดาก็พบสัญญาณ FRB121102 วาบขึ้นมาอีกที่จุดเดิมอีก และตลอดทั้งปี 2015 คลื่นเอฟอาร์บีตัวนี้ส่งพลังงานวาบกว่า 10 ครั้งด้วยกัน

ทีมนักวิจัยดาราศาสตร์วิเคราะห์กันว่าคลื่นวิทยุสัญญาณฉับพลัน FRB121102 น่าจะอยู่ห่างไปประมาณ 3,000 ล้านปีแสง แต่ก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นคลื่นที่มาจาก กาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) ที่มนุษย์โลกอาศัยอยู่ หรือมาจากกาแล็กซีกลุ่มดาวสารถี (Auriga) ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกับเรา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2019 นักดาราศาสตร์จีนประกาศว่ากล้องโทรทรรศน์วิทยุยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกของจีนชื่อว่า "ฟาสต์" สามารถดักจับสัญญาณคลื่นวิทยุปริศนาชื่อดัง "FRB121102" ได้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2019 และจากการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดในวันที่ 3 กันยายน 2019 สามารถจับสัญญาณซ้ำที่จุดเดิมอีกกว่า 20 ครั้งกว่า

ทั้งนี้ กล้อง "ฟาสต์" (FAST : Aperture Spherical Radio Telescope) มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 500 เมตร หรือเท่ากับเอาสนามฟุตบอล 5 สนามมาเรียงต่อกัน ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขาอำเภอผิงถัง มณฑลกุ้ยโจว เปิดใช้งานตั้งแต่ปลายปี 2016 ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลจีนทุ่มทุนสร้างจำนวนมหาศาล หวังผลักดันให้จีนเป็นผู้นำการสำรวจอวกาศ

การค้นพบของจีนครั้งนี้ยิ่งทำให้ปริศนาของ FRB121102 ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันอีกครั้งว่ามาจากไหนกันแน่!

แม้แต่ประเทศไทยเองก็เคยเข้าร่วมค้นคว้าหาสัญญาณคลื่นนี้กับประเทศอื่นด้วยเช่นกัน โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ของไทยร่วมมือกับอังกฤษ ใช้กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติขนาด 2.4 เมตร ที่ตั้งอยู่ดอยอินทนนท์ ตรวจจับทิศทางที่เคยพบ FRB121102 เพื่อสำรวจว่านอกจากส่งคลื่นวิทยุมาแล้ว มีการส่ง "แสง" มาด้วยหรือเปล่า ซึ่งก็ยังไม่สามารถพิสูจน์พบการปล่อยแสงออกมาแต่อย่างใด

"ดร.พฤทธิ์ เจริญจิตติชัย" นักวิจัยจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบายว่า คลื่นเอฟอาร์บีครั้งแรกถูกค้นพบโดยบังเอิญมาตั้งแต่ปี 2007 และปัจจุบันมีการค้นพบคลื่นเอฟอาร์บีแล้วเกือบ 100 ครั้ง ค่าคาดหวังทางสถิติของการเกิดคลื่นเอฟอาร์บีทั่วทั้งท้องฟ้าอาจสูงถึง 1 หมื่นครั้งต่อวัน นักดาราศาสตร์ในออสเตรเลียและแคนาดาได้พัฒนากล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อค้นหาสัญญาณปริศนานี้โดยเฉพาะ

"แม้ว่าจุดกำเนิดของคลื่นเอฟอาร์บียังไม่มีข้อสรุป นักดาราศาสตร์พยายามใช้คลื่นเอฟอาร์บีเพื่อศึกษาสสารระหว่างกาแล็กซี่ต้นกำเนิดและกาแล็กซี่ทางช้างเผือก และในเดือนมีนาคม 2563 ไทยจะร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติคลื่นเอฟอาร์บีอีกด้วย คลื่นนี้เป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ว่าเอกภพยังมีปริศนาให้มนุษย์ค้นพบอีกมากมาย ในอนาคตประเทศไทยก็อาจค้นพบคลื่นเอฟอาร์บีได้เหมือนกัน เพราะกล้องโทรทรรศน์วิทยุตัวใหม่ล่าสุดของไทยสร้างใกล้เสร็จแล้ว"

ดร.พฤทธิ์ กล่าวต่อ ว่ากล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 40 เมตร กำลังอยู่ในระหว่างติดตั้งที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่นั้น จะพร้อมใช้งานประมาณช่วงปลายปี 2563 ทำให้นักดาราศาสตร์ไทยอาจค้นพบคลื่นเอฟอาร์บีตัวใหม่ หรืออาจทดลองนำไปตรวจสอบจุดเดิมของคลื่นปริศนาชื่อดัง FRB 121102 ได้เช่นกัน

ในวันนี้อุปกรณ์ไฮเทคตรวจหา "สิ่งมีชีวิตนอกโลกมนุษย์" ถูกพัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ อีกไม่นานมนุษย์คงได้รู้แน่ชัดสักทีว่ามีดาวเคราะห์คล้ายโลกอยู่ที่ไหนบ้างและสิ่งมีชีวิตร่วมจักรวาลของเราหน้าตาเป็นอย่างไร!?!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0