โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กลับลำ! ไม่คุมส่งออกสุกร ภัยแล้ง-โรคระบาดกดดันราคาพุ่ง

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 23 ม.ค. 2563 เวลา 03.14 น. • เผยแพร่ 23 ม.ค. 2563 เวลา 03.14 น.
กรมการค้า-ส่งออกหมู-728x485

อธิบดีกรมการค้าภายในกลับลำ “ไม่คุมส่งออกหมู” หลังราคาหมูเป็นในประเทศพุ่งเกิน กก.ละ 80 บาท อ้างเป็นราคาส่งออก ปล่อยคนอีสาน-เหนือกินหมูแพง ทั้ง ๆ ที่ราคาของสมาคมผู้เลี้ยงหมูระบุราคาหน้าฟาร์มพุ่ง 81 บาทไปแล้ว จาก 3 ปัจจัยหลักดันราคานิวไฮ “โรคระบาด ASF-แห่ส่งออกหมูทำกำไร-ภัยแล้ง”

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้เผยแพร่สภาวะตลาดสุกรมีชีวิตประจำวันพระที่ 17 มกราคม 2563 ปรากฏราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับสูงขึ้นไปเป็น กก.ละ 81 บาท จากงวดวันพระก่อนหน้าที่ราคา กก.ละ 78 บาท ขณะที่ราคาเฉลี่ยในภาคอื่นอยู่ที่ระหว่าง 79-80 บาท ส่งผลให้ราคาหมูหน้าเขียงปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 156-162 บาท จากวันพระก่อนหน้าที่มีราคาเพียง กก.ละ 160 บาท ถือเป็นการปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากภาพรวมการส่งออกหมูมีปริมาณสูงเพื่อทดแทนความต้องการหมูในประเทศที่มีการระบายของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ประกอบกับอยู่ในช่วงของเทศกาลตรุษจีน โดยก่อนหน้านี้กรมการค้าภายในได้ออกมาประกาศจะ “จำกัด” หรือ “ห้าม” ส่งออกหมู หากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มสูงเกินกว่า กก.ละ 80 บาท

เป็นงง 81 บาทราคาหมูส่งออก

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การปรับเพิ่มขึ้นของราคาหมูเป็นขณะนี้ที่ขึ้นไปถึง กก.ละ 81 บาทนั้น “เป็นราคาหมูเป็นเพื่อการส่งออกและเป็นราคาที่ไม่ใช่อยู่ในพื้นที่เลี้ยงหลัก” จากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ทำให้ราคาหมูในหลายประเทศเพิ่มขึ้น เช่น ราคาหมูที่จีน กก.ละ 150 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนาม กก.ละ 120 บาท ผลมาจากความต้องการเพื่อการบริโภคและนำเข้ายังมีต่อเนื่อง ซึ่งการที่ราคาหมูส่งออกเพิ่มขึ้นถือเป็นโอกาสและสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงและผู้ส่งออก “เราก็ต้องให้โอกาสผู้เลี้ยงได้มีราคาสูงขึ้น”

ส่วนราคาจำหน่ายหมูชำแหละในประเทศ กรมได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ขอความร่วมมือให้ราคาหมูเป็นที่ขายภายในประเทศในรัศมี 300 กิโลเมตรในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลไม่ให้เกิน กก.ละ 80 บาท แต่หากราคาสูงเกินไปก็สามารถ “จำกัด” การส่งออกได้ โดยกรมสามารถใช้กฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เข้ามาดูแลได้ ส่วนกรณีที่ราคาหมูเป็นในภาคอื่นปรับขึ้นไปเกิน กก.ละ 80 บาท ต้องดูด้วยว่า มาจากเรื่องของต้นทุนที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เช่น ค่าขนส่ง เพราะหากจากการติดตามแล้วราคาหมูเป็นในพื้นที่เลี้ยงจริงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ราคาที่สูงเป็นเพราะต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนอื่น ๆ “เราต้องยึดแหล่งพื้นที่เลี้ยงภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่หลักเป็นเกณฑ์ ส่วนภาคอื่นมีปริมาณเลี้ยงไม่มาก” นายวิชัยกล่าว

ทั้งนี้รายงานราคาหมูของกรมการค้าภายในประจำวันที่ 20 มกราคม 2563 ปรากฏหมูเป็นมีชีวิตทั่วไป กก.ละ 74-75 บาท ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม กก.ละ 75-76 บาท ขณะที่ราคาลูกหมู CP และราคาทั่วไปตัวละ 2,600-2,700 บาท เฉลี่ยน้ำหนักต่อตัวอยู่ที่ 12-16 กิโลกรัม ส่วนราคาหมูชำแหละทั่วไปและหน้าฟาร์มเฉลี่ย กก.ละ 86-88 บาท ส่วนราคาหมูขายปลีก เช่น หมูเนื้อแดง สะโพก ไม่ได้ตัดแต่ง ราคา กก.ละ 145-150 บาท หากตัดแต่งแล้วเฉลี่ย กก.ละ 155-160 บาทต่อกิโลกรัม หมูเนื้อแดง ไหล่ ไม่ได้ตัดแต่ง ราคาเฉลี่ย กก.ละ 145-150 บาท ตัดแต่งแล้ว กก.ละ 155-160 บาท ส่วนหมูเนื้อสันนอกและสันใน กก.ละ 160-165 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ต้นทุนการผลิตสุกรไตรมาส 4 ปี 2562 กรณีซื้อลูกสุกรเข้าขุนเฉลี่ยที่ 66.53 บาทต่อกิโลกรัม กรณีผลิตลูกสุกรเองเฉลี่ยที่ 64.32 บาทต่อกิโลกรัม ราคาสุกรขุนยังคงอยู่ในแดนบวกต่อเนื่องจากผลกระทบของ ASF ในต่างประเทศ แต่ราคายังคง “ต่ำสุด” ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ วันที่ 17 มกราคม 2563 ระบุว่า ราคาหมูเป็นในแต่ละพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก เฉลี่ย กก.ละ 79 บาท ส่วนภาคอีสานและภาคเหนือ กก.ละ 81 บาท ภาคใต้ กก.ละ 80 บาท ขณะที่ราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มเพื่อส่งออก กก.ละ 81 บาท

เบทาโกรแชมป์ส่งออกหมู

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมได้หารือกับกรมการค้าภายในแล้วว่า จะยังไม่มีการใช้มาตรการดูแลการส่งออก เนื่องจากปัจจุบันราคาที่ขยับขึ้นไป กก.ละ 81 บาท เป็นราคาเพื่อการส่งออกและราคาในเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งมีการเลี้ยงน้อยและมีต้นทุนค่าขนส่ง ดังนั้นควรจะยึดราคาภาคกลางและกรุงเทพฯที่มีสัดส่วนเกิน 50% ของทั้งประเทศเป็นหลัก

“เหตุที่ราคาหมูขยับสูงขึ้นเป็นผลจากต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ปัญหาภัยแล้ง ทำให้ต้องหาน้ำมาสำรองใช้ในฟาร์ม ต้นทุนโดยรวมขยับจาก 68 บาทขึ้นไปใกล้เคียงกับ 75 บาท และผลจากการระบาดของ ASF ทำให้เกษตรกรกังวลลดปริมาณการเลี้ยงลง 15% เหลือปริมาณหมู 900,000 ตัว จากเดิมที่เคยมีปริมาณ 1-1.1 ล้านตัว ประกอบกับความต้องการใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเพิ่มขึ้น แต่หลังจากนี้ทิศทางราคาน่าจะอ่อนตัวลงบ้าง”

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มปริมาณการเลี้ยงหรือการเพิ่มซัพพลายหมูในตลาดยังขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละฟาร์ม บางฟาร์มมีพ่อแม่พันธุ์เอง บางฟาร์มจะต้องนำเข้า ซึ่งเมื่อนำเข้ามาแล้วจะต้องเลี้ยงต่อไปอีก 1 ปีกว่าจะเป็นหมูขุน 1.5 ปี จึงจะนำมาชำแหละขายได้ แต่สมาคมมั่นใจว่า ปริมาณซัพพลายหมูจะไม่ขาดแคลนแน่นอน ส่วนราคาเป็นไปได้ว่าจะทรงตัวระดับนี้ไปต่อเนื่องจนกว่าจะมีการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงชุดใหม่

สำหรับปริมาณการส่งออกสุกรสดแช่เย็นแช่แข็งในช่วง 11 เดือนแรก 2562 มูลค่า 703.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.89% เป็นการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงอันดับ 1 มีสัดส่วนถึง 71.63% มูลค่า 503.8 ล้านบาท โดยบริษัทผู้ส่งออกที่ส่งออกไปยังฮ่องกง 5 รายใหญ่ ได้แก่ บริษัทอาหารเบทเทอร์ ซึ่งอยู่ในเครือเบทาโกร, บริษัทไอ-ซีวายชยา, บริษัทกาญจนา เฟรซ พอร์ค, บริษัท วี.ซี.มีทโปรเซสซิ่ง ซึ่ง 3 รายนี้ เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ใน จ.ราชบุรี และบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง

ไม่เห็นด้วยจำกัดส่งออกหมู

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้จีน-ฮ่องกงมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากขึ้น หลังเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร แต่หากรัฐบาลจะใช้มาตรการ “จำกัด” การส่งออกหมูเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศก็ต้องประเมินกันก่อน “ถ้าจะให้จำกัดการส่งออกหมูเพื่อดูแลราคาในประเทศก็ต้องดูว่า ปริมาณหมูของเราเพียงพอหรือไม่ ส่วนที่เหลือจะเพิ่มหรือขยายส่งออกได้ไหม เพราะในภาพของอุตสาหกรรมต้องมองอีกแง่ว่า เราส่งออกหมูได้มากขึ้นนั้นเพราะสินค้าเกษตรเรามีมาตรฐานมากขึ้นเช่นกัน ผมมองว่ายังไม่จำเป็นที่ต้องจำกัดการส่งออกหมู แน่นอนราคาในประเทศสำคัญเพราะส่งผลค่าครองชีพ แต่หมูเรายังพอไปได้ ไม่น่าจะขาดจนต้องปรับราคามากไปกว่านี้อีก อีกส่วนหนึ่งเป็นปกติของช่วงซีซั่นที่คนไทยมีความต้องการหมูในช่วงเทศกาลตรุษจีนด้วย”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0