โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

'กฤษฏา' สั่งรื้อระบบนมโรงเรียน หลังคลิปแฉอีแร้งงาบนมร.ร.

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 24 ก.ย 2561 เวลา 15.31 น.

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมร่วมกับแกนนำเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 20 คน พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายณรงค์ฤทธิ์ วงษ์สุวรรณ ผอ.องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อสค.) โดยให้สื่อเข้าร่วมรับฟังเกษตรกรร้องเรียนปัญหาให้ รมว.เกษตรฯเร่งแก้ไขการบิดเบือนปริมาณน้ำนมดิบเกินจริงในโครงการนมโรงเรียน งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านต่อปี

นายสุรชาติ คณินทพงษ์ ประธานสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น กล่าวว่า ทั้งประเทศไทย มีแม่โค 6 แสนตัว ในแต่ละวันผลิตน้ำนมดิบ 3.1 พันตัน เข้าระบบนมโรงเรียน 1,170 พันตันต่อวัน เด็กนักเรียนกิน260 วันต่อปี ส่วนที่เหลือเป็นนมพาณิชย์ แต่ปรากฏว่าตัวเลขปริมาณนมเข้าสู่นมโรงเรียน มากถึง 1,400 ตันต่อวัน ซึ่งในส่วนเกินไม่มีการรับซื้อนมจากเกษตรกร จะเห็นว่ามีการไซฟอน ตัวเลขปริมาณน้ำนมดิบบวมไปถึง200-300 ตันต่อวัน ที่ผ่านมาเสนอให้ประธานมิลค์บอร์ด ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข

"เป็นปัญหาราคาซังของระบบนมโรงเรียน ที่มีขบวนการไซฟอนนม แจ้งปริมาณนมเป็นเท็จ ทางกลุ่มได้แจ้งความกองปราบเข้าดำเนินคดี กับผู้ประกอบการไว้แล้ว และยังมีปัญหาจากกฎเกณฑ์ใหม่ของนมโรงเรียน ที่มีบทลงโทษมากเกินไปจากกฎหมายของสำนักงานอาหารและยา(อย.) แทนที่เกษตรกรจะเอาเวลาไปพัฒนาความเข้มแข็งเพื่อให้แข่งขันได้กับการ เปิดเอฟทีเอ กับออสเตรเลีย -นิวซีแลนด์ ในปี 2568 กลุ่มเราผลิตนม 1 พันตันต่อวัน มีสหกรณ์ใหญ่ๆ เป็นสมาชิก มีวัว 2 แสนกว่าตัว มีเรื่องตกใจหากต้องถูกเฉลี่ยโควต้า เพราะมีผู้ประกอบการที่ไม่มีวัว ก็ตั้งโรงงานนมได้ ยืมวัวคนอื่น ซึ่งมันมั่วมาตลอดพวกนี้คือ อีแร้งในโครงการนมโรงเรียน ทำให้เกษตรกรและสหกรณ์ที่ทำถูกต้องกลับเสียหายไปด้วย เพราะคนเหล่านี้เข้าทำมาหากินบนหลังเกษตรกร มากว่า 25ปี ก่อนหน้านี้ไม่อยาก เมื่อนายกฤษฏา รู้ปัญหาทุกอย่างดีพวกเราจึงมาพบ" นายสุรชาติ กล่าว

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ให้คณะอนุกรรมการนมโรงเรียน ไปตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาปรับระบบโครงสร้างนมโรเรียนทั้งหมด โดยมีนายนิวัติ สุธีมีชัยกุล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นประธานให้จบใน 30 วันเพื่อดูว่าสมควรจะมีการทบทวนรื้อระบบการจัดหาอาหารเสริม(นมโรงเรียน) หรือไม่ เนื่องจากพบว่ามีการร้องเรียนว่า ผลผลิตนมดิบเกินกว่าความเป็นจริงที่ผลิตได้แต่ละวัน และส่งผลให้ตัวเลขการลงนามซื้อขายนมของนมพาณิชย์และนมโรงเรียนผิดไปจากข้อเท็จจริง จนเป็นช่องให้หาผลประโยชน์กับโครงการนี้ได้

"ให้ไปดูว่าระบบการจัดสรรนมโรงเรียนเหมาะหรือยัง หรือควรให้ท้องถิ่นดูแลเหมือนที่เคยทำ ซึ่งการเชิญเกษตรกรมาพบ และหลายฝ่ายมาพบ ก็บอกว่าระบบปัจจุบันดี แต่ตัวเลขนมไม่ถูก ตีโป่งกัน หรืออีกฝ่ายก็บอกว่า มีการทุจริตการเก็บตัวเลขที่ศูนย์รวบรวมนม ทำให้อ้างเอาโควตานมข้ามเขตมา หรือ บางรายทำตัวเลขเท็จเพื่อจะได้ใช้อ้างสิทธิในนมอื่น ซึ่งจากที่ดูก็พบว่านมวันละ 3,100 ตันต่อวัน วัวนมประมาณ 5-6 แสนตัว แต่ตัวเลขเอ็มโอยูมีถึง 3,400 ตัน ไปเอาวัวจากที่ไหนมาผลิตน้ำนม ก็จะเห็นว่าระบบมีช่องโหว่"นายกฤษฏา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเชิญเกษตรกรมาร่วมหารือพบว่าได้มีการเสนอคลิปที่แอบถ่ายศูนย์รวมนมบางแห่งในจังหวัดภาคตะวันตกด้วยว่ามีการนำรถขนส่งนม วนเข้าหลายครั้ง เพื่อให้มีการจดแจ้งผลผลิตนมเกินกว่าที่ผลิตได้จริง

นายปภณภพ เฉลิมกลิ่น ผู้จัดการสหกรณ์โคนมท่าม่วง กล่าวว่า ได้ไปถ่ายคลิปไว้ พบว่าจะมีการส่งนมในช่วงที่เจ้าหน้าที่มาจดบันทึกเพื่อให้ตัวเลขผลผลิตดูมากกว่าที่นมดิบจริง โดยเอกชนรายใหญ่ในภาคตะวันออก เป็นการไซฟอนนมดิบ ได้นำหลักฐานไปแจ้งความแล้วแต่ทางศูนย์รวบรวมนม ไม่ไปให้ปากคำและเป็นผู้มีอิทธิพลด้วย

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จะต้องหารูปแบบที่ดีที่สุดเพื่อเด็กและเพื่อแก้ไขปัญหานมดิบของเกษตรกรด้วย เพราะกระทรวงเกษตรฯต้องดูแลทั้งหมด ซึ่งจะเสนอให้ทำระบบประมูลแบบอีอ็อกชั่น โดยให้แต่ละจังหวัดรับผิดชอบตลอดต้นทางถึงปลายทางและให้มีการประกันภัยระบบนมทั้งหมด

นายสุรชาติ กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการนมโรงเรียนปรับโทษเอาผิดผู้ผลิตนมโรงเรียนให้เท่ากับโทษทางกฏหมายอาหารและยา ที่มี่มีการปรับขั้นต่ำ 1หมื่นบาท พักโรงงาน 15 วันเพื่อปรับปรุง เพราะโทษของนมโรงเรียนตัดสิทธิ 25% ของโค้วตาที่ได้รับตลอดภาคเรียน เป็นโทษที่เกินกว่ากฏหมายอย. ทำให้เกิดขบวนการอีแร้ง ที่หากินกับคนอาชีพเดียวกัน กลั่นแกล้งยี่ห้ออื่นไปทำเสีย และตีข่าวเพื่อหวังฮุบโควต้า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0