โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

กรุงศรีชี้ปี 2019 เศรษฐกิจไทยโตลดลง ผลกระทบ Trade war-ส่งออกหดตัว 1.5%

Brand Inside

อัพเดต 24 มิ.ย. 2562 เวลา 07.19 น. • เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2562 เวลา 07.16 น. • Chutinun Sanguanprasit (Liu)
Bangkok Thailand
ภาพจาก Unsplash

เมื่อการส่งออกไทยปีนี้จากที่จะทรงตัว กลายเป็นติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี แถมสิ้นปี 2019 นี้อาจจะหดตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จนล่าสุดหลายฝ่ายมองว่า GDP ไทยจะโตลดลงไปด้วย

ภาพจาก Unsplash
ภาพจาก Unsplash

กรุงศรีลดเป้า GDP ไทยปี 2019 เหลือ 3.2% จากเดิม 3.8%

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า ทีมวิจัยของกรุงศรีปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้ลงเหลือ 3.2% จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.8% สาเหตุหลักเพราะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกันยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน

ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกของไทยปี 2019 จะหดตัว 1.5% จากเดิมที่คาดหวังว่าการส่งออกจะเติบโต 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันมองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 40.2 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีที่ 41.1 ล้านคน

อย่างไรก็ตามครึ่งปีหลังยังมีความหวังจากรัฐบาลชุดใหม่ หากสร้างความชัดเจนทั้งนโยบายเศรษฐกิจโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

ปี 2019 นี้ทางวิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบเป้าหมายของทางการที่ 1-4% ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.1%  มองว่าปัจจัยบวกจะมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตต่อเนื่อง และกลางปีที่ผ่านมามีมาตรการพยุงเศรษฐกิจวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้และคงไว้ที่ 1.75% ตลอดทั้งปี เพราะเห็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เช่น การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0