โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กระบวนการประกอบสร้าง ‘ความมั่นคง’ (securitization): แนวคิดและตัวอย่าง

The101.world

เผยแพร่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 17.37 น. • The 101 World
กระบวนการประกอบสร้าง ‘ความมั่นคง’ (securitization): แนวคิดและตัวอย่าง

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

การศึกษาความมั่นคงระหว่างประเทศขณะนี้แบ่งออกได้เป็นสามสำนักใหญ่ๆ คือ 1. ความมั่นคงทางทหาร (หรือบางทีก็เรียกว่า 'ความมั่นคงแบบดั้งเดิม' (traditional security)) 2. ความมั่นคงของมนุษย์ (human security หรือที่หลายคนเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของ 'ความมั่นคงแบบไม่ดั้งเดิม' (non-traditional security) และ 3. การศึกษาความมั่นคงเชิงวิพากษ์ (Critical Security Studies)

ความต่างหลักของทั้งสามสำนักอยู่ที่คำนิยามว่าความมั่นคงที่เราศึกษานั้นคือความมั่นคงของใคร (whose security) และอะไรคือภัยคุกคามซึ่งต้องรับมือเพื่อสร้างความมั่นคง กล่าวคือสำนักแรกสนใจความมั่นคงของรัฐในสภาวะอนาธิปไตยของการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐหวาดกลัวว่าอาจถูกรุกรานจากรัฐอื่นที่มีอำนาจมากกว่าตนได้ทุกเมื่อ รัฐจึงต้องพึ่งกำลังทางทหารของตนและพันธมิตรในการปกป้องตนเองจากภัยคุกคามนอกรัฐ กองทัพกำเนิดด้วยเหตุผลนี้ คือทำหน้าที่ปกป้องรัฐจากภัยนอกรัฐ [1]

ส่วนสำนักที่สองพยายามขยายนิยามความมั่นคงทางทหารให้ครอบคลุมความมั่นคงของประชาชนในรัฐและกลุ่มคนซึ่งไม่มีรัฐคุ้มครอง (เช่นผู้ลี้ภัยสงคราม หรือคนไร้รัฐ) แนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ชี้ว่าความมั่นคงทางทหารอาจไม่ช่วยให้คนกินดีอยู่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ มนุษย์ต้องการปัจจัยอื่นในการมีชีวิตรอดและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ดังนั้นหากงบประมาณการทหารของรัฐหนึ่งไปเบียดบังงบส่วนที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ (เช่นการศึกษา สาธารณสุข หรือสิ่งแวดล้อม) ก็หมายความได้ว่าความมั่นคงทหารอาจเป็น 'ภัย' ต่อความมั่นคงของมนุษย์ เช่นเดียวกัน หากรัฐทำร้ายประชาชน (ในรูปแบบของการอุ้มหาย ทรมาน หรือคุมขังโดยพลการ) แม้จะทำในนามของความมั่นคงแห่งรัฐ ก็ถือว่าบั่นทอนความมั่นคงของมนุษย์ ในแง่นี้ ความมั่นคงของรัฐอาจไม่เท่ากับความมั่นคงของมนุษย์เสมอไป หลายครั้งความมั่นคงของรัฐก็เป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์ได้เช่นกัน [2]

ส่วนสำนักที่ศึกษาความมั่นคงเชิงวิพากษ์สนใจความมั่นคงในฐานะ 'วาทกรรม' กล่าวคือการระบุว่าอะไรคือความมั่นคงของ 'เรา' มักเกี่ยวโยงกับนิยามว่าด้วยภัยคุกคามต่อความมั่นคงนี้ ซึ่งโดยมากมาจาก 'ศัตรู' หรือ 'พวกเขา' ความเข้าใจเรื่องความมั่นคงและภัยคุกคามจึงเป็นประดิษฐกรรมทางสังคม ซึ่งสัมพันธ์กับสมการทางอำนาจในสังคมนั้นๆ ทั้งยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางเวลา และบริบททางการเมือง[3] เช่นในช่วงสงครามเย็น ภัยคุกคามความมั่นคงของโลกเสรีนิยมและพันธมิตรสหรัฐฯ คือภัยคอมมิวนิสต์ ในสหรัฐฯ กลุ่มนักศึกษาที่วิจารณ์และต่อต้านนโยบายสงครามในเวียดนาม รวมถึงขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของชาวแอฟริกันอเมริกันมักถูกกล่าวหาว่าเป็น 'คอมมี่' (ชื่อเล่นของภัยคอมมิวนิสต์ในสังคมอเมริกัน) ทั้งๆ ที่ขบวนการเหล่านี้อาจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตเลย แต่ป้ายยี่ห้อ 'คอมมี่' ก็ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในหน่วยงานความมั่นคงที่จะสอดส่องและจับกุมประชาชนที่ถูกหาว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ

วาทกรรมเรื่องภัยคอมมิวนิสต์จางหายไปหลังสงครามเย็น ทว่าเมื่อสหรัฐฯ ถูกกลุ่มอัลกออิดะห์โจมตีเมื่อปี 2001 วาทกรรมเรื่อง 'ภัยก่อการร้าย' กลายเป็นกระบวนทัศน์ความมั่นคงใหม่ ซึ่งโน้มน้าวสหรัฐฯ และโลกว่าขณะนี้ภัยคุกคามได้เปลี่ยนโฉมหน้าจากพรรคคอมมิวนิสต์เป็นกลุ่มก่อการร้าย

แน่นอนว่าทุกครั้งที่มีการกล่าวคำว่า 'ภัยก่อการ' เรามักนึกชาวมุสลิม โพกผ้า หนวดเคราระย้า และถือปืนอาก้าหรืออาจพกระเบิดติดตัวเตรียมพลีชีพ แต่เราแทบไม่ค่อยนึกถึงฝรั่งผิวขาว ผมทอง ตาฟ้า ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย รวมถึงเหตุการณ์ซึ่งกลุ่มฝ่ายขวาเชื้อชาตินิยมในโลกตะวันตกใช้ยุทธวิธีก่อการร้าย (เช่นกราดยิงและระเบิด) ทำร้ายประชาชนคิดเป็นร้อยละ 78 ของจำนวนเหตุก่อการร้ายทั้งหมดในสหรัฐฯ ในปี 2018[4] เราไม่นึกถึงการก่อการร้ายโดยกลุ่มชาตินิยมชาวฮินดูในอินเดีย (เช่นกรณีคุจราชในปี 2002)[5] หรือในพม่า (เช่นที่เกิดกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่)[6] ยิ่งไปกว่านั้นเราไม่ค่อยนึกว่ารัฐจะใช้ยุทธวิธีก่อการร้ายได้เช่นกัน (เช่นในละตินอเมริกาที่รัฐบาลฝ่ายขวาสังหารชาวบ้านเป็นเรือนแสน รวมถึงในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือไทยที่รัฐบาลปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ โดยสังหารผู้บริสุทธิ์ไปจำนวนมาก)[7]

อำนาจของวาทกรรมความมั่นคงทำให้ความมั่นคง/ภัยคุกคามของคนกลุ่มหนึ่งปรากฏเด่นชัด ขณะที่บดบังความมั่นคง/ภัยคุกคามของคนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะผู้ด้อยอำนาจในสังคม

สำนักความมั่นคงเชิงวิพากษ์ยังศึกษาวาทกรรมความมั่นคงจากกระบวนการประกอบสร้างความมั่นคง (securitization) อันได้แก่กระบวนการที่ทำให้ประเด็นหนึ่งๆ กลายเป็นเรื่องความมั่นคง ทั้งๆ เรื่องนั้นมีความเป็นการเมือง ซึ่งควรเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถกเถียงถึงนิยามความหมาย รวมถึงวิธีการรับมือกับเรื่องดังกล่าว

กระบวนการประกอบสร้างความมั่นคงเริ่มจากวัจนกรรม (speech acts) แปลไทยเป็นไทยคือคำพูดสื่อสารเพื่อโน้มน้าว ชี้นำ หรือสร้างความนิยมให้แก่ความเชื่อบางอย่าง ผู้พูดมักอาศัยเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และกรอบทางวัฒนธรรมซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดทางสังคมของผู้ฟังอยู่ก่อนแล้ว เรื่องเล่าเกี่ยวกับความมั่นคงจึงทรงพลังทางวัฒนธรรม และผูกโยงอยู่กับวาทกรรมชุดอื่นๆ เสมอ

นอกจากนี้ความน่าเชื่อถือของเรื่องเล่าความมั่นคงนี้ยังมาจากสถานะทางอำนาจของผู้พูด (securitizing actor) ซึ่งโยงใยกับสถาบันที่ผูกขาดความรู้ว่าด้วยความมั่นคง เช่นกองทัพ ตำรวจ หรือนักวิชาการ 'ผู้เชี่ยวชาญ' ด้านความมั่นคง ปัจจัยเรื่องวัจนกรรมและสถานะของผู้ประกอบสร้างความมั่นคงส่งผลให้ประเด็นความมั่นคงนั้นๆ ฟังแล้วน่าเชื่อถือ ดูเป็นเรื่องจริงโดยไม่ต้องโต้เถียง กระบวนการนี้สิ้นสุดเมื่อผู้ฟังพยักหน้ายอมรับพร้อมๆ กัน (audience’s acceptance) ว่าเรากำลังเผชิญภัยคุกคามความมั่นคงดังที่ผู้พูดได้พูดไว้จริงๆ และดังนั้นต้องจัดการกับมัน

ผลของกระบวนการประกอบสร้างความมั่นคงคือการลดทอนความเป็นการเมืองของเรื่องที่อ้างเป็นความมั่นคง เพราะเมื่อมีภัยคุกคามอยู่ตรงหน้า เราต้องรีบโต้กลับรับมือ มิเช่นนั้นสังคมย่อมสุ่มเสี่ยงต่อภาวะไร้เสถียรภาพและชีวิตเราจะตกอยู่ในภยันตรายร้ายแรง เมื่อต้องจัดการกับภัยคุกคามอย่างเร่งด่วน ก็ต้องข้ามขั้นตอนการถกเถียงของกลุ่มคนหลากหลาย (ซึ่งอาจอยู่นอกองค์กรที่ผู้ขาดความรู้ด้านความมั่นคง) ว่าภัยดังกล่าวเป็นภัยจริงไม่ เป็นภัยแค่ไหน เป็นภัยกับใคร และจะรับมือมันอย่างไรโดยพยายามไม่ละเมิดชีวิตผู้บริสุทธิ์

ตัวอย่างของกระบวนการประกอบสร้างความมั่นคงมีให้เห็นเต็มไปหมด เริ่มได้จากใกล้ตัว หากเราลองวิเคราะห์คำบรรยายพิเศษเรื่อง 'แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง' ของท่านผู้บัญชาการกองทัพบกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม จะเห็นวิธีคิดเรื่องความมั่นคงที่ผูกโยงกับประวัติศาสตร์การปกป้องแผ่นดินไทยของกองทัพในภาวะที่ราชอาณาจักรถูกคุกคามจากภัยทั้งภายนอกและในประเทศ การนิยามภัยจากนอกประเทศยึดกับการล่าอาณานิคมของฝรั่ง (และการที่ราชอาณาจักรไทยยังรักษาอธิปไตยมาได้) ภัยดังกล่าวยิ่งทวีความร้ายแรงเมื่อ 'คนใน' ชักศึกเข้าบ้าน คือร่วมมือกับฝรั่งมังค่าก่อหวอดในประเทศ เพื่อหวังให้ต่างประเทศแทรกแซงในท้ายที่สุด เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ยังถูกโยงกับองค์ความรู้ความมั่นคงร่วมสมัย คอนเซ็ปต์อย่าง 'สงครามลูกผสม' (hybrid warfare) จึงถูกหยิบยกมาสัมพันธ์กับผู้ทรยศข้างในซึ่งให้ความร่วมมือกับคนนอก พลวัตเช่นนี้จึงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย เรื่องเล่าดังกล่าวยังฟังน่าเชื่อถือเมื่อผู้พูดเป็นถึงผู้บัญชาการกองทัพบก ซึ่งเป็นผู้นำของสถาบันที่ผูกขาดความรู้ด้านความมั่นคงแห่งชาติ และมีหน้าที่ปกปักษ์ราชอาณาจักรไทย

เราอาจต้องวิเคราะห์ต่อว่าไปกระบวนการประกอบสร้างความมั่นคงดังกล่าวประสบผลสำเร็จต่อสังคมวงกว้างหรือไม่ ใครถูกโน้มน้าว ใครตั้งคำถามกับเรื่องเล่าดังกล่าว สำหรับฝ่ายหลัง เป็นไปได้หรือไม่พลังทางวัฒนธรรมของเรื่องเล่านั้นกำลังเสื่อมสลาย หรือถูกแทนที่ด้วยเรื่องอื่น รวมถึงยังสามารถวิเคราะห์ต่อไปด้วยว่าความชอบธรรมของผู้ประกอบสร้างวาทกรรมความมั่นคงอยู่ในระดับเท่าใด ในสายตาคนไทยภายใต้สังคมสองเสี่ยง

 

 

[1] ดูงานสำคัญเช่น Kenneth Waltz, Theory of International Politics (New York: Random House, 1979), 102-28; Robert Jervis, “Cooperation under the Security Dilemma,” World Politics 30(2) (1978): 167-214.

[2] ดูงานสำคัญเช่น Roland Paris, “Human Security: Paradigm Shift or Hot Air?,” International Security 26(2) (2001): 87-102; Mary Kaldor, Human Security (Cambridge: Polity Press, 2007).

[3] ดูงานสำคัญเช่น Ole Wæver, “Securitization and Desecuritization,” in On Security, ed. Ronnie D. Lipschutz (New York: Columbia University Press, 1995), 46-86; Thierry Balzacq, “The Three Faces of Securitization: Political Agency, Audience and Context,” European Journal of International Relations 11(2) (2005): 171-201; และ Ken Booth, ed. Critical Security Studies and World Politics (Boulder: Lynne Rienner, 2005).

[4] ALD, “Murder and Extremism in the United States in 2018,” https://www.adl.org/murder-and-extremism-2018.

[5] Paul Brass, The Production of Hindu-Muslim Violence in Contemporary India (Washington DC: University of Washington Press, 2005).

[6] International Amnesty, “Myanmar: No one can protect us: War crimes and abuses in Myanmar’s Rakhine state,” https://www.amnesty.org/en/documents/asa16/0417/2019/en/.

[7] Jeffrey A. Sluka, Death Squad: The Anthropology of State Terror (Pennsylvania: University of Pennsylvania Press, 1999); N. Gansesan and Sung Chull Kim, eds. State Violence in East Asia (Kentucky: University Press of Kentucky, 2013).

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0