โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กระทบหนักไม่แพ้คน! โควิดทำพิษ "สวนสัตว์" ทั่วโลก สัตว์อด-ปลาเหงา น่าเศร้าใจ

Manager Online

เผยแพร่ 24 พ.ค. 2563 เวลา 08.10 น. • MGR Online

ช่วงระหว่างที่โรคโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก มาตรการป้องกันโรคที่หลายประเทศใช้กันคือการปิดสถานที่ต่างๆ ที่มีคนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน สถานที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว รวมไปถึงอุทยานแห่งชาติต่างๆ ซึ่งทำให้เราได้เห็นภาพน่ารักๆ ของสัตว์ป่าทั้งในเมืองไทยและจากทั่วโลกที่ออกมาเริงร่าเพราะไร้มนุษย์กวนใจ

แต่สำหรับสัตว์ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ เช่น สัตว์ในสวนสัตว์ หรือในศูนย์แสดงสัตว์ต่างๆ นั้น ถือว่าได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่ไม่น้อยไปกว่าคนเลยทีเดียว แถมอาจจะหนักกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะต้องพึ่งการดูแลจากคนเพียงอย่างเดียว

สำหรับในเมืองไทย สวนสัตว์ที่อยู่ในความดูแลของภาครัฐนั้นก็ไม่น่าห่วงนักเพราะแม้จะขาดรายได้จากผู้เข้าชมแต่ก็ยังมีเงินอุดหนุนจากภาครัฐ แต่สวนสัตว์เอกชนนั้นถือว่าลำบากมาก ไม่ว่าจะเป็นซาฟารี เวิลด์ ในกรุงเทพฯ ที่ต้องปิดและขาดรายได้มาเป็นเวลานาน สวนเสือศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่เปิดขายของที่ระลึกในเพจและขายแพ็คเกจโปรโมชันสำหรับคนไทย เพื่อให้พอเป็นค่าอาหารเสือในระหว่างที่ต้องปิดให้บริการในช่วงนี้

นอกจากนั้นสวนสัตว์เปิด ซาฟารี ปาร์ค แอนด์ แคมป์ ที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ที่ต้องปิดให้บริการตามคำสั่งของทางจังหวัดมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน 2563 แต่สัตว์ต่างๆ กว่า 400 ชีวิต ก็ยังคงต้องกินอาหาร ยังต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแล ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาทต่อเดือน ทางสวนสัตว์จึงแก้ปัญหาโดยเปิดขายตั๋วเข้าชมสวนสัตว์ล่วงหน้าแบบไม่มีวันหมดอายุ เพื่อนำรายได้ส่วนนี้เป็นค่าอาหารและค่าดูแลสัตว์ต่างๆ ในระหว่างที่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้

เช่นเดียวกับในต่างประเทศ สวนสัตว์อินโดนีเซียทั่วประเทศราว 60 แห่ง ที่ดูแลสัตว์ราว 70,000 ตัว ถูกปิดเพื่อยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ขณะนี้ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ต้องช่วยกันเก็บหญ้าและพืชมาเพิ่มให้ยีราฟและสัตว์กินพืชอื่นๆ ลดเนื้อแดงสำหรับเสือและสัตว์กินเนื้ออื่นๆ ให้กินสัตว์ปีกแทน แต่ถ้าสวนสัตว์ยังคงขาดรายได้ต่อไปเรื่อยๆ แบบนี้ก็เห็นทีจะแย่ เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ถึงกับกล่าวว่า สัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์ประจำถิ่นพอจะละเลยได้ แต่สัตว์ประจำถิ่นอย่างเสือสุมาตรา สวนสัตว์ต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตพวกมันไว้ น่าเศร้ามากแต่ถึงจุดนี้เราจำเป็นต้องเริ่มคิดว่าจะให้ความสำคัญกับสัตว์ประเภทใดก่อน

ขณะที่สวนสัตว์ Tierpark Neumünster ในแคว้นชเลสวิกโฮลชไตน์ ประเทศเยอรมนี ที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสก็ถึงกับวางแผนในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดว่า หากไม่มีหนทางใดแล้วก็อาจจะต้องฆ่าสัตว์บางชนิดในสวนสัตว์เพื่อเป็นอาหารของสัตว์ชนิดอื่น โดยสัตว์ที่อยู่ในรายการต้องถูกฆ่าเป็นอันดับแรกๆ คือ แพะและกวาง ส่วนสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์จะไม่ถูกฆ่า รวมทั้งวิตุส หมีขั้วโลกขวัญใจของสวนสัตว์

รวมไปถึงสวนสัตว์ซาฟารีลานเก (Langhe safari park) เมืองมูรัซซาโน ประเทศอิตาลี ที่ปิดทำการตั้งแต่เดือนมีนาคมสืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทำให้สวนสัตว์แห่งนี้จำต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าของภัตตาคาร เกษตรกร และเจ้าของร้านค้า ให้ช่วยบริจาคอาหารเพื่อนำมาเป็นอาหารเลี้ยงดูสัตว์เหล่านี้ต่อไป

ด้าน 2 แพนด้ายักษ์ในสวนสัตว์คาลการี ประเทศแคนาดาก็ยังเจอพิษโควิด-19 เมื่อมีการยกเลิกเที่ยวบินตรงระหว่างจีนและเมืองคัลการี ทำให้การขนส่งไผ่มาเลี้ยงแพนด้ายักษ์ทั้งสองเป็นเรื่องยาก สวนสัตว์คาลการีจึงมีแผนการส่งแพนด้ายักษ์ “เอ้อร์ซุ่น” และ “ต้าเหมา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างแคนาดาและจีนเกี่ยวกับการคุ้มครองและการวิจัยสัตว์ระยะ 10 ปี กลับเมืองจีนเร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิมถึง 3 ปี

ยังไม่นับรวมผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่สัตว์ในสวนสัตว์เจอแบบตรงๆ คือการติดเชื้อโคโรนาไวรัสของเสือในสวนสัตว์บรองซ์ เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเชื่อว่าติดมาจากคนผู้ดูแล โดยแรกสุดนั้นพบเสือโคร่งมลายูเพศเมียติดเชื้อ โควิด-19 เป็นตัวแรก และจากนั้นก็พบสัตว์ในสวนสัตว์อีก 7 ตัวติด โควิด-19 เช่นกัน โดยรวมเป็นเสือ 5 ตัว และสิงโต 3 ตัว ที่ติดโรค

ด้านพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ หรืออควาเรียมทั่วโลกก็สถานการณ์ย่ำแย่ไม่แพ้กัน ในประเทศไทยเอง “เชียงใหม่ ซู อควาเรียม” ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่มีทั้งอุโมงค์น้ำจืดและน้ำเค็ม ที่ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ เพราะต้องปิดให้บริการจนขาดรายได้ แต่ค่าใช้จ่ายที่ต้องมีต่อเดือนเฉพาะค่าไฟที่เปิดเดินระบบและให้อาหารเพื่อให้ปลาและสัตว์น้ำยังอยู่ได้ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทแล้ว สร้างความยากลำบากให้กับทางอควาเรียม ที่ภายหลังต้องแก้ปัญหาโดยการออกโปรโมชั่นขายตั๋วล่วงหน้าที่ใช้ได้ถึงสิ้นปี 2564 เพื่อเป็นการสนับสนุนรายจ่ายค่าอาหารและการดูแลปลาที่ยังคงต้องมีอยู่ระหว่างการปิดให้บริการ

ส่วน “แวนคูเวอร์ อควาเรียม” พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดาก็กำลังจะล้มละลายเนื่องจากรายได้ที่ลดลงอย่างมากด้วยผลกระทบจากโรคโควิด-19 และอาจจะต้องปิดตัวถาวรเร็วๆ นี้ โดยอควาเรียมแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์กว่า 70,000 ตัว ไม่ว่าจะเป็นเพนกวิน โลมา แมวน้ำฮาร์เบอร์ สิงโตทะเล นากทะเล ฉลามครีบดำ ฯลฯ ที่การดูแลสัตว์เหล่านี้ต้องใช้เงินกว่า 32 ล้านบาทต่อเดือนเพื่อดูแลตามมาตรฐานระดับมืออาชีพ

ไม่เพียงปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์น้ำเหล่านี้เท่านั้น ยังมีปัญหาเรื่อง “ปลาเหงา” อีกด้วย โดยพนักงานของอควาเรียมในเมืองแคนส์ รัฐควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย สังเกตว่าปลาบางตัวว่ายไปมาหาผู้คน ขณะที่บางตัวหยุดกินอาหาร โดยเฉพาะเจ้าปลาหมอยักษ์ทะเลที่มีนิสัยอยากรู้อยากเห็น ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของอควาเรียมจึงได้จัดกิจกรรมกอดใต้น้ำ และกินอาหารกลางวันข้างตู้ปลา เพื่อแก้เหงาให้ปลาเหล่านี้เสียเลย

ขณะที่ปลาไหลสวนในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสุมิดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่มักจะคุ้นชินกับการเจอคนเยอะๆ แต่ช่วงที่โควิดระบาดก็แทบไม่ได้เห็นหน้าใคร จนปลาไหลเหล่านี้เริ่มไม่คุ้นชินกับมนุษย์ เวลาเจ้าหน้าที่เดินผ่านก็จะมุดดินหนีจนทำให้ไม่สามารถตรวจเช็กสุขภาพของพวกมันได้ และทางพิพิธภัณฑ์ยังห่วงว่า หากกลับมาเปิดอีกครั้งปลาไหลสวนพวกนี้จะเครียดที่ต้องเจอคนเยอะๆ

วิธีแก้ปัญหาที่น่ารักของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสุมิดะคือการผุดโครงการ Face-Showing Festival (เทศกาลโชว์หน้า) ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนวิดีโอคอลล์มาหาปลาไหลพวกนี้ โดยทางพิพิธภัณฑ์จะติดตั้งไอแพดไว้รอบๆ แท็งก์ แล้วเปิดแอพพลิเคชั่น FaceTime ให้ทางบ้านวิดีโอคอลล์เข้ามาคนละ 5 นาทีเพื่อให้ปลาไหลสวนได้เห็นหน้าผู้คนกันลืมบ้าง

เหล่านี้เป็นผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกกับสัตว์ในสวนสัตว์และในอควาเรียม ที่บรรดาสัตว์ทั้งหลายนี้ได้ผลกระทบหนักหนาไม่ต่างจากมนุษย์เช่นกัน และอาจจะหนักกว่าเสียด้วยซ้ำเมื่อคิดถึงว่าสัตว์เหล่านี้ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้เลย

…………………………….

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0