โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'กระจกเงา'ขึ้นบัญชี'วันเฉลิม'บุคคลสูญหาย แนะช่องทางญาติต้องทำอย่างไร?

แนวหน้า

เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2563 เวลา 10.04 น.

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2563 ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่ทำงานด้านติดตามบุคคลสูญหายหรือพลัดหลงกับครอบครัวในประเทศไทย ประกาศให้ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อายุ 37 ปี ที่ถูกลักพาตัวในประเทศกัมพูชา เป็นบุคคลสูญหาย โดยระบุรายละเอียดดังนี้

สถานะ: ผู้ลี้ภัยทางการเมือง
วันที่หาย : 4 มิถุนายน 2563 เวลา 16.40 น.
สถานที่หาย : กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
สาเหตุการหาย : คาดถูกบังคับให้สูญหาย

และยังระบุเพิ่มเติมว่า "กรณีดังกล่าว เข้าข่ายลักษณะการหายตัวไปของบุคคล ซึ่งเป็นภารกิจโดยตรงที่มูลนิธิจะช่วยประกาศตามหา การทำประกาศคนหาย ทีมงานพยายามสื่อสารข้อมูลอย่างรัดกุม รอบคอบ และตระหนักต่อคุณค่าของทุกชีวิตที่หายไปครับ"

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ญาติของผู้สูญหายต้องทำอะไรบ้าง ดังนี้

#ทำอย่างไรเมื่อถูกบังคับให้สูญหาย

1.การถูกอุ้ม หรือเรียกแบบทางการว่า “ถูกบังคับให้สูญหาย” หมายถึงการที่ รัฐ หรือ กลุ่มบุคคล หรือกลุ่มอิทธิพล สั่งการ รับคำสั่ง สนับสนุน อำนวยความสะดวก รู้เห็นเป็นใจ ให้มีการจับกุม คุมขัง ลักพาตัว ลิดรอนสิทธิบุคคล โดยปกปิดข้อมูล ชะตากรรม หรือสถานที่ควบคุมของบุคคลนั้น

2.หากเกิดเหตุในประเทศไทย เมื่อทราบแน่ชัดว่ามีบุคคลสูญหาย ไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม ญาติสามารถแจ้งความคนหายได้ทันที โดยไม่ต้องรอครบ 24 ชั่วโมง

3.หากเป็นกรณีคนไทยเกิดเหตุในต่างประเทศแต่ญาติอยู่ในประเทศไทย หน่วยงานที่ญาติจะแจ้งเรื่องอย่างเป็นทางการได้ คือ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร025751047 ถึง 51 อีเมล์ consular02@mfa.go.th

4.คนหาย อาจมีความขัดแย้ง หรือ มีลักษณะถูกจับตา ติดตามหรือ คุกคาม มาก่อนหน้านี้ แม้การหายตัวไปจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเรื่องใด แต่หากมีเหตุบ่งชี้ในลักษณะดังกล่าว การประเมินสาเหตุ “ถูกอุ้มหาย” ควรเป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ควรตั้งประเด็นไว้ แม้ภายหลังอาจปรากฏเป็นสาเหตุอื่นก็ตาม

5.ความสำคัญของพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุและเกี่ยวกับตัวคนหาย มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสงสัยว่าถูกอุ้มหาย อาจไม่มีเจ้าหน้าที่สืบสวนหรือการรอเจ้าหน้าที่ อาจทำให้พยานหลักฐานไม่มีอยู่แล้ว เช่น ภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งมีระยะเวลาเก็บส่วนใหญ่ 5-15 วัน

6.ถ้ามี กล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุควรขอไว้ในรูปแบบไฟล์วิดีโอ โดยควรขอทำสำเนาในวันที่เกิดเหตุแบบทั้งวัน ทั้งหมด ทุกกล้อง ไม่ใช่เอาเฉพาะภาพตอนเกิดเหตุ เพราะการก่อเหตุย่อมมีการตระเตรียม วางแผน ดูพื้นที่ ซึ่งอาจพบเบาะแสผู้ก่อเหตุ จากกล้องในช่วงเวลาอื่นหรือก่อนเกิดเหตุ หากขอภาพไว้ได้หลายวันก่อนเกิดเหตุยิ่งดี

7.ข้อมูลส่วนตัวคนหาย ก็มีความสำคัญ เช่น ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ การติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น สามารถนำมาวิเคราะห์เบาะแสได้ไม่มากก็น้อย การขอข้อมูลดังกล่าวในประเทศไทย มีวิธีการตามกฏหมาย ซึ่งต้องดำเนินการโดยญาติ และต้องมีหนังสือจากราชการหรือคำสั่งศาล ซึ่งต้องรีบดำเนินการ เพราะเครือข่ายโทรศัพท์มีระยะเวลาเก็บข้อมูลจำกัด

8.จำเป็นที่จะต้องมีญาติหรือบุคคลที่ทำการแทนญาติ เป็นตัวหลักในการประสานงาน รับเบาะแส รับข้อมูล เพื่อให้การรับเบาะแส วิเคราะห์ข้อมูล เป็นเอกภาพ และผู้แจ้งเบาะแสมีความมั่นใจในการให้ข้อมูลกับผู้เกี่ยวข้องที่แท้จริง

9.คนหายอาจเคยพูดคุย เล่าเหตุการณ์ หรือแชทคุยกับเพื่อนถึงภาวะความเสี่ยงหรืออันตราย ความกังวลที่เผชิญอยู่ นอกจากนี้ที่พักของคนหาย อาจพบสมุดบันทึกที่คนหายอาจบันทึกข้อมูลสำคัญไว้ ข้อมูลเล่านี้ควรถูกรวบรวม นำมาวิเคราะห์

10.การช่วยกันเผยแพร่ภาพประกาศคนหาย ส่วนหนึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรับเบาะแส หากมีผู้ทราบเหตุการณ์ และส่วนหนึ่งเป็นการสร้างความตระหนักต่อสังคมถึงปัญหาการบังคับให้สูญหาย ซึ่งไม่ควรมีบุคคลใดตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนั้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0