โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กรมอุทยานฯ แจงเสือโคร่งของกลางวัดหลวงตาบัวตาย เกิดจากปัญหาพันธุกรรม

ข่าวช่องวัน 31

อัพเดต 16 ก.ย 2562 เวลา 12.17 น. • เผยแพร่ 16 ก.ย 2562 เวลา 08.47 น. • one31.net
กรมอุทยานฯ แจงเสือโคร่งของกลางวัดหลวงตาบัวตาย เกิดจากปัญหาพันธุกรรม

กรมอุทยานฯ ยัน ดูแลเสือโคร่งของกลางวัดหลวงตาบัวอย่างเต็มที่ แต่เสือโคร่งมีอาการเจ็บป่วยจากความบกพร่องทางพันธุกรรม และติดเชื้อไข้หัดสุนัข เป็นเหตุให้ทยอยตาย รวมจำนวนทั้งสิ้น 86 ตัว …

จากกรณี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยึดเสือโคร่ง 147 ตัว จาก วัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หรือวัดเสือ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี และนำ ไปเลี้ยงดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี ปรากฏว่าเสือทยอยตายไปแล้วรวม 86 ตัว ตามข่าวที่นำเสนอไปแล้ว

ล่าสุดนายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว เปิดเผยว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2544 เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้เข้าตรวจยึดเสือโคร่งภายในสำนักสงฆ์ หลวงตาบัว มีจำนวน 6 ตัว แต่เสือโคร่งได้มีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 147 ตัว ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2559 ได้มีการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งของกลางนำไปเก็บรักษาไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง 85 ตัว และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน 62 ตัว โดยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ไซบีเรีย และเกิดจากการผสมพันธุ์กันเอง

ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายเสือโคร่งดำเนินในภาวะไม่ปกติ เสือมีสุขภาพไม่ค่อยดี ทำให้เสือโคร่งส่วนใหญ่มีภาวะเครียด และต่อมาพบปัญหาการเจ็บป่วย ซึ่ง น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้าส่วนงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ระบุว่า เกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรมที่เสือโคร่งผสมพันธุ์ในครอบครัวเดียวกัน หรือภาวะเลือดชิด จึงทำให้เสือโคร่งไม่มีภูมิคุ้มกันโรค โดยพบทั้งอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ทำให้หายใจเข้า-ออกลำบาก เมื่ออาการหนักขึ้นจะไม่กินอาหารและมีอาการชักเกร็ง รวมถึงพบการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุนัขและสัตว์ป่า ไม่มียารักษา ทำได้เพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้เสือโคร่งของกลางทยอยตายตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ 2560 ปัจจุบันรวมจำนวนทั้งสิ้น 86 ตัว

สำหรับจัดการซากเสือโคร่ง ได้จัดเก็บเพื่อการรักษาด้วยการนำซากใส่ถังพลาสติก แช่น้ำยาฟอร์มาลีน แล้วขุดดินโรยปูนขาว ฝังลึก 3 เมตร พร้อมเขียนประวัติของเสือโคร่งแต่ละตัวระบุไว้อย่างชัดเจน โดยไม่มีการแยกชิ้นส่วนที่มีมูลค่า เช่นหนังเสือ หรือเขี้ยวเสือแต่อย่างใด ทุกชิ้นส่วนยังอยู่ในตัวเสือครบถ้วน และมีการถ่ายภาพเก็บบันทึกข้อมูลถูกต้องครบถ้วน

โดยเสือโคร่งของกลางจากวัดหลวงตาบัวญาณสัมปันโน ยังคงเหลืออยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง 31 ตัว และที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสนอีก 30 ตัว รวมคงเหลือทั้งสิ้น 61 ตัว ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้กำหนดมาตรการดูแลสุขภาพเสือโคร่งเพื่อลดอาการป่วย ตาย โดยคัดกรองอาการเสือโคร่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มปกติไม่แสดงอาการ
2.กลุ่มเริ่มแสดงอาการเล็กน้อย
3.กลุ่มแสดงอาการปานกลาวถึงรุนแรง

เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจติดตามอาการและประเมินการรักษา ดำเนินผ่าตัดเสือโคร่งที่มีอาการอัมพาตกล่องเสียงเป็นรายกรณี ให้วัคซีนป้องกันโรคใครหัดสุนัขและติดตามผลเป็นระยะ รวมถึงควบคุมระบบความปลอดภัยทางชีวอนามัยในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้ง 2 แห่ง และจัดให้มีสัตวแพทย์ปฏิบัติงานเพื่อติดตามดูแลรักษาทุกสัปดาห์.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0