โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์' ยืนยันมีน้ำยาตรวจโควิด-19 เพียงพอ

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 14.04 น.

เมื่อวันที่ 9 เม.ย.63 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้มอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดูแลพัฒนาห้องปฏิบัติการให้สามารถตรวจวินิจฉัยโรคอย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว  เพื่อตอบสนองต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยและการป้องกันควบคุมโรค เนื่องจากห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นห้องปฏิบัติการแห่งชาติด้านสาธารณสุข ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงและให้การรับรอง ในการตรวจหาเชื้ออุบัติใหม่ต่างๆ

สำหรับสถานการณ์การเกิดโรคโควิด-19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังสามารถถอดรหัสสารพันธุกรรมของเชื้อได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลกคู่กับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ของสภากาชาดไทย พร้อมทั้งได้มีการพัฒนาวิธีการตรวจ Real-Time RT-PCR เป็นวิธีการตรวจที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นวิธีมาตรฐานร่วมกับประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป ซึ่งวิธีการตรวจแบบ Real-Time RT-PCR เป็นการตรวจสารพันธุกรรม  สามารถตรวจหาเชื้อได้ในระยะแรกของโรค ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างจากการป้ายเยื่อบุในคอหรือเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูกส่งมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการ

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการพัฒนาและให้การรับรองห้องปฏิบัติการในการตรวจหาเชื้อโควิด-19  อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองแล้วกว่า 80 แห่งทั้งภาครัฐและเอกชน โดยตั้งเป้าหมายจะให้มีห้องปฏิบัติการ 1 แห่ง 1 จังหวัด ซึ่งคาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะพัฒนาและให้การรับรองห้องปฏิบัติการอย่างน้อย 110 แห่งทั่วประเทศ และรายงานผลผ่านระบบออนไลน์ให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งในกรุงเทพฯจะสามารถตรวจได้ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และส่วนภูมิภาค 10,000 ตัวอย่างต่อวัน ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการตรวจตัวอย่างแล้วกว่า 70,000 ตัวอย่างโดยพบผู้ติดเชื้อจำนวน 2,423 ราย ตามที่กระทรวงสาธารณสุขรายงาน

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาวิธีการตรวจสารพันธุกรรม  ของเชื้อโควิด-19 แบบ Real-Time RT-PCR แล้ว ยังได้พัฒนาน้ำยาสำหรับใช้ในการตรวจหาสารพันธุกรรม ซึ่งสามารถผลิตได้เอง  ในประเทศไทยไม่ได้สั่งซื้อเป็นชุดสำเร็จจากต่างประเทศ ต่อมา บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตยา ชีววัตถุที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยและเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถคิดค้นพัฒนาผลิตยาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำโดยพึ่งวัตถุดิบจากภายนอกน้อยมากช่วยลดการนำเข้า ได้เห็นถึงศักยภาพ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ร่วมกันนำองค์ความรู้ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มาผลิตเป็นชุดทดสอบ RT-PCR KIT  หรือ DMSc-COVID-19

โดยที่บริษัทได้ผลิตให้ในเบื้องต้นและมอบให้นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลจำนวน 2 หมื่นชุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและจะผลิตให้อย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าสิ้นเดือนเมษายนนี้สามารถผลิตได้ครบ 1 แสนชุด แต่หากยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 อีก บริษัทจะทำการผลิตให้ได้ถึง 1 ล้านชุดภายใน 6 เดือน ซึ่งทำให้เชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยมีน้ำยาในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างเพียงพอ
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยัน ยึดมั่นความเป็นมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ในการดำเนินงานขององค์กร  และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการปกป้องสังคมไทยจากโรคโควิด-19” นายแพทย์โอภาส กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0