โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กรมพระยาดำรงฯ ทรงทำเช่นไร เมื่อคลังขอให้ช่วยเรื่อง “ส่วยค้างส่ง” จากเหล่าหัวเมือง

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 02 มิ.ย. 2566 เวลา 05.06 น. • เผยแพร่ 02 มิ.ย. 2566 เวลา 04.50 น.
ภาพปก-กรมพระยาดำรง
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เมื่อ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยนั้น มีพระประสงค์จะรวมหัวเมืองบางส่วน จัดตั้งมณฑลใหม่เพิ่มอีก 4 มณฑล จึงถวายรายงานกราบทูลรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบด้วย และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการ

ส่วนเรื่องเงินที่จะต้องใช้จ่าย รับสั่งให้ปรึกษาหารือกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (เวลานั้นยังไม่ได้รับกรมทรงเป็นรองอธิบดีบัญชาการกระทรวงคลังฯ)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ใน “สภาพเมื่อแรกสถาปนา กระทรวงมหาดไทย” [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นโดยผู้เขียน] ว่า

“เรื่องเงิน ซึ่งโปรดให้ข้าพเจ้าปรึกษากับกรมพระนราฯ [พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์] นั้น ข้าพเจ้าเคยทูลท่านตั้งแต่แรกเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า จัดหัวเมืองจะต้องใช้เงินมาก ถ้ากระทรวงพระคลังฯ ไม่ให้เงินพอแก่การก็จัดไม่สำเร็จ

ท่านตรัสว่าได้ทรงคิดคาดอยู่แล้ว แต่เงินรายได้แผ่นดินยังน้อยนัก ถ้ารายได้ไม่มีเพิ่มขึ้นก็ยากที่จะจ่ายเงินให้พอแก่การกระทรวงมหาดไทยได้ เพราะฉะนั้นเมื่อข้าพเจ้าจัดการปกครองหัวเมือง ขอให้คิดบำรุงผลประโยชน์แผ่นดินไปด้วยกัน ถ้าสามารถทำให้เงินรายได้เพิ่มขึ้นเท่าใด จะจ่ายให้กระทรวงมหาดไทยใช้มากกว่ากระทรวงอื่นๆ

ข้าพเจ้าก็รับจะช่วยคิดหาผลประโยชน์แผ่นดินด้วยตามพระประสงค์

ครั้นเมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปตรวจหัวเมืองเหนือ กรมพระนราฯ ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า ตามหัวเมืองเหล่านั้นเงินส่วยค้างอยู่มาก ถ้าข้าพเจ้าช่วยเร่งเอาเงินส่วยลงมาได้บ้างก็จะดี ข้าพเจ้าได้ฟังตรัสออกลำบากใจ ด้วยขึ้นไปครั้งนั้น ข้าพเจ้าประสงค์แต่จะไปศึกษาหาความรู้ไม่ได้คิดว่าจะไปจัดการอันใด

อีกประการหนึ่ง ตัวข้าพเจ้าจะไปตรวจหัวเมืองในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นครั้งแรก เหมือนอย่างว่า ‘ประเดิมโรง’ ชาวหัวเมืองยังไม่รู้จักอยู่โดยมาก ตั้งแต่เจ้าเมืองกรมการตลอดจนราษฎรพลเรือน คงพากันคอยดูว่านิสัยใจคอของข้าพเจ้าจะเป็นอย่างไร

ก็ธรรมดาของการเร่งเงินนั้น ย่อมต้องเอาตัวพวกลูกหนี้มาบังคับเรียกเอาเงิน บางทีก็ถึงต้องกักขังควบคุม คงต้องทำให้คนเดือดร้อนมากบ้างน้อยบ้าง ทุกเมืองที่ข้าพเจ้าไป คนทั้งหลายก็จะเลยเข้าใจว่า ข้าพเจ้าดุร้ายไม่มีความเมตตากรุณา ถึงจะได้เงินก็เสียความเลื่อมใส พาให้ลำบากแก่การในภายหน้า แต่จะไม่รับช่วยกระทรวงพระคลังฯ ตามพระประสงค์ของกรมพระนราฯ ก็ไม่สมกับที่ได้ทูลท่านไว้แต่แรก กระทรวงพระคลังฯ จะเลยไม่เชื่อถือ

ข้าพเจ้าทูลให้ทรงทราบความลำบากใจ แต่จะตริตรองหาทางแก้ไขดูก่อน แล้วจึงมาปรึกษาพระวรพุฒิโภคัย เจ้ากรมเงินส่วย ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยา เมื่อข้าพเจ้าไปอยู่กระทรวงมหาดไทยแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นคนเก่าได้รับสัญญาบัตร เป็นพันพุฒอนุราชแต่ในรัชกาลที่ 4 รู้การงานมาก

พระยาวรพุฒิฯ ว่า ข้าราชการที่เป็นหนี้เงินส่วยอยู่ตามหัวเมืองนั้น เป็นคนมั่งมีก็มี เป็นคนจนก็มี ประเพณีที่เร่งรีบเรียกเงินส่วยบังคับเรียกเหมือนกันหมด ถ้าผ่อนผันให้คนจนอย่างไร ก็ต้องผ่อนผันให้คนมั่งมีอย่างเดียวกัน ที่จริงลูกหนี้ที่มีเงินพอจะส่งได้มีอยู่ไม่น้อย

ถ้าข้าพเจ้าอยากได้เงินโดยไม่ต้องเร่งรัดให้เดือดร้อน เห็นทางที่จะได้อย่างนั้นแต่เอาส่วนลดล่อ คือเปิดโอกาสให้แก่พวกเจ้าหมู่นายกอง ว่าถ้าใครส่งเงินชำระหนี้หลวงได้สิ้นเชิง จะลดจำนวนเงินให้เท่านั้นส่วนกะส่วนให้เขาพอเห็นเป็นประโยชน์ ก็เห็นจะมีคนขอชำระหนี้หลวงด้วยใจสมัครมากด้วยกัน พวกที่ไม่มีเงินจะส่งก็ไม่ต้องถูกเร่งรัดให้ได้ความเดือดร้อน

ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยและไปทูลถามกรมพระนราฯ ว่า กระทรวงพระคลังฯ จะให้ส่วนลดแก่ลูกหนี้สักเท่าใด

ท่านตรัสว่าเงินส่วยที่ค้างตามหัวเมืองทับถมกันอยู่เสมอ เร่งได้เงินปีเก่าเงินปีใหม่ก็ค้างต่อไป จำนวนเงินค้างมีแต่เพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าเจ้าหมู่นายกองล้มตายเงินที่ติดค้างก็เลยสูญ เงินส่วยมีมากแต่ในบัญชีทิ้งไว้อย่างนั้น ยิ่งนานตัวเงินก็ยิ่งสูญมากขึ้น จึงอยากได้เป็นเงินสด ถ้าข้าพเจ้าคิดอ่านให้มีผู้ส่งเงินชำระล้างหนี้ได้เช่นว่า ลดให้ครึ่งหนึ่งก็ยอม

จึงให้พระยาวรพุฒิฯ ขึ้นไปกับข้าพเจ้า และเอาบัญชีเงินส่วยค้างขึ้นไปด้วย ไปถึงเมืองไหนก็ให้พระยาวรพุฒิฯ บอกแก่ลูกหนี้ในเมืองนั้นว่า เมื่อข้าพเจ้าจะไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น กระทรวงพระคลังฯ ขอให้ช่วยเร่งเรียกเงินส่วยที่ค้างอยู่ตามหัวเมือง ข้าพเจ้าขอให้กระทรวงพระคลังฯ ผ่อนผันบ้าง อย่าให้ได้ความเดือดร้อนกันนัก

กระทรวงพระคลังฯ ได้อนุญาตว่า ถ้าลูกหนี้คนใดชำระเงินหมดจำนวนที่ค้างในเวลาข้าพเจ้าขึ้นไปนั้น ข้าพเจ้าจะลดเงินให้ครึ่งหนึ่งก็ได้ เป็นโอกาสพิเศษซึ่งยากจะมีอีก ถ้าใครอยากจะพ้นหนี้หลวงก็ให้เอาเงินมาชำระเสียให้สิ้นเชิง ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าให้ยอมลดหนี้ให้ครึ่งหนึ่งตามอนุญาตของกระทรวงพระคลังฯ

ก็มีผลอย่างพระยาวรพุฒิฯ คาด ด้วยพวกลูกหนี้ที่มีเงินพากันสมัครจะชำระหนี้หลวงให้สิ้นเชิงด้วยเห็นแก่ส่วนลด บางคนตัวเงินมีไม่พอถึงไปเที่ยวกู้ยืมเงินผู้อื่นมาเพิ่มเติมจนพอชำระหนี้ก็มี ได้เงินสดกว่า 200,000 บาท เวลานั้นยังไม่ใช้ธนบัตร ได้เป็นเงินบาททั้งนั้น ข้าพเจ้าต้องให้หาเรือลำหนึ่งบรรทุกเงินลงมาถวาย กรมพระนราฯ ก็ทรงยินดี…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ข้อมูลจาก :

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.“สภาพเมื่อแรกสถาปนา กระทรวงมหาดไทย” ใน,อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระยารามราชภักดี (ม.ล. สวัสดิ์ อิศรางกูร) ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 พฤษภาคม 2519

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0