โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กรมธรณีฯ เฝ้าระวังเข้มพื้นที่รอยเลื่อน เตือนคนไทย แผ่นดินไหวใกล้ตัว ต้องเรียนรู้ ซ้อมรับเหตุ

MATICHON ONLINE

อัพเดต 21 ก.พ. 2562 เวลา 08.42 น. • เผยแพร่ 21 ก.พ. 2562 เวลา 07.45 น.
1

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์เรื่อง การเกิดแผ่นที่ไหวขนาด 4.9 ริกเตอร์ เมื่อบ่ายวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าเหตุเกิดจากการขยับตัวของรอยเลื่อนพะเยาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเที่ยง โดยสิ้นสุดในเวลาประมาณ 22.00 น.แต่ก็เฝ้าระวังตลอดทั้งคืน จนกระทั่งถึงเช้าของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ล่าสุดพบว่า ทุกอย่างได้เข้าสู่ภาวะปกติ

นายสมหมายกล่าวว่า ลักษณะการขยับ และเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ติดต่อ และมีลักษณะเดียวกับรอยเลื่อนพะเยา คือ รอยเลื่อนพาน ที่ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง ก็มีความเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกัน คือ ขยับ แล้วหยุด อีกพักหนึ่งก็จะขยับอีก อธิบายในภาพใหญ่ของโลกคือ เปลือกโลกจะมีการขยับตัวไปมา ขยับในระดับทวีปจากด้านกว้าง เปลือกโลกด้านตะวันตกมุดตัว แผ่นดินด้านบนก็จะขยับตาม ส่วนที่เป็นรอยแตกก็จะเลื่อน สำหรับประเทศไทยนั้น มีรอยแตกจากการเลื่อนตัวอยู่ทั้งหมด 15 แห่งทั่วประเทศ เช่น รอยเลื่อนแม่จัน ที่ จ.เชียงราย รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย จ.ระนอง เป็นต้น

เมื่อถามว่า ในเมื่อรอยเลื่อนพะเยามีการเคลื่อนไหว จะทำให้รอยเลื่อนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ หรือต่อเนื่องมีปฏิกิริยาอะไรหรือไม่ นายสมหมายกล่าวว่า รอยเลื่อนที่ต่อเนื่องกับรอยเลื่อนพะเยาก็คือ รอยเลื่อนแม่ลาว ซึ่งรอยเลื่อนแม่ลาวนั้น เคยขยับตัวเมื่อปี 2557 ทำให้ จ.เชียงราย เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ ซึ่งการขยับของรอยเลื่อนพะเยาครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบกับรอยเลื่อนพะเยาอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้รอยเลื่อนแม่ลาวต้องสะสมพลังงานในระดับหนึ่งด้วยก่อนถึงจะปล่อยพลังออกมา ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าวันไหนอย่างไร

เมื่อถามอีกว่า ระยะเวลา 6 ปี นั้น ทางวิชาการสามารถรู้ได้หรือไม่ว่า รอยเลื่อนแม่ลาวจะสะสมพลังงานไว้มากแค่ไหน อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะบันทึกเป็นสถิติเพื่อยืนยันการสะสมพลังงานที่ชัดเจนออกมาได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของรอยเลื่อนพะเยาที่บันทึกได้ คือ มีการขยับครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกันยายน 2537 ที่ อ.พาน จ.เชียงไหว ขนาด 5.1 ส่งผลให้อาคารสูง เจดีย์บางแห่งมีรอยร้าว และอีก 25 ปี ต่อมาคือ เกิดที่ จ.ลำปาง ความรุนแรง 4.9 ลดลงจากเมื่อ 25 ปีก่อน ถามว่า รอยเลื่อนพะเยาปล่อยพลังงานออกมาหมดหรือยัง ก็ยังไม่สามารถตอบได้ ทั้งนี้ เปลือกโลกก็ยังคงมีการขยับตัวเรื่อยๆ

“พื้นที่ไหนที่เรามีสถิติว่า เคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง แล้วหยุดไปนานๆ ก็จะน่าจับตาดูเพราะหมายถึงการสะสมพลังงานเอาไว้มาก การเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้งถือเป็นการปลดปล่อยพลังงานออกมา ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับขนาด และการสะสมพลังงาน แต่เรายังไม่สามารถประมาณการได้ว่า ครั้งต่อๆ ไปจะเกิดอีกวันไหน ขนาดเท่าใด” นายสมหมาย กล่าว

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า เรื่องของการเฝ้าระวังพื้นที่ที่เป็นบริเวณของรอยเลื่อนแผ่นดินไหวนั้น มีทีมนักวิชาการที่ทำงานเรื่องนี้ โดยกรมทรัพยากรธรณีตั้งเป็นไลน์กรุ๊ปขึ้นมา มีทั้งผู้เชี่ยวชาญของกรมทรัพยากรธรณีเอง รวมไปถึง ผู้เชี่ยวชาญของกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการปรึกษา แชร์ และวิเคราะห์ข้อมูลกันตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้คนไทยตื่นตระหนกกับเรื่องของแผ่นดินไหว แต่อยากให้ทุกคนรับรู้ว่ามันจะเกิดเมื่อไรก็ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณรอยเลื่อน ควรจะซ้อมปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0