โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กรมควบคุมโรค เตือน! หน้าฝนนี้ระวังอันตรายการรับประทานเห็ดป่า

สำนักข่าวไทย Online

เผยแพร่ 03 มิ.ย. 2563 เวลา 10.00 น.

สำนักข่าวไทย 3 มิ.ย. 63 - กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนช่วงหน้าฝนมักมีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ประชาชนเริ่มเข้าป่าเพื่อเก็บมาขายหรือปรุงอาหาร ซึ่งเห็ดนั้นอาจเป็นพิษ อาจมีอันตรายถึงชีวิต!

เห็ดพิษ มีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดที่กินได้ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด นำมากินจนเกิดอาการป่วยและอันตรายถึงชีวิต

เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก มีลักษณะคล้ายกับเห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่าน ที่กินได้ แต่ต่างกันคือ เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นค่อนข้างแรง 

เห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรง คือ เห็ดเมือกไครเหลือง ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง เห็ดเมือกไครเหลืองจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า ยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า 

ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น 

- การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด 

- การนำไปต้มกับข้าวสาร 

- ใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ 

แต่วิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้วก็ไม่สามารถทำลายสารพิษได้

อาการหลังจากกินเห็ดพิษ

- คลื่นไส้ อาเจียน

- ปวดท้อง

- อุจจาระเหลว

- อาการรุนแรง เช่น การทำงานของตับและไตล้มเหลว จนถึงขั้นเสียชีวิต

การช่วยเหลือเบื้องต้น

- ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยการล้วงคอหรือกรอกไข่ขาว

- รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

หากไม่แน่ใจว่าเห็ดที่เก็บมาเป็นเห็ดพิษหรือเป็นเห็ดที่กินได้ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมากิน  และไม่ควรกินเห็ดร่วมกับสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นนะคะ.-สำนักข่าวไทย

ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0