โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"กรณ์" สวน "ธนาธร" แอบอ้างโอนทรัพย์สินเข้า "Bind Trust”คนแรก แนะอยากโปร่งใสให้ขายขาดหรือเปิดเผยชัดเจน

Manager Online

อัพเดต 18 มี.ค. 2562 เวลา 15.46 น. • เผยแพร่ 18 มี.ค. 2562 เวลา 15.46 น. • MGR Online

"กรณ์" สวน "ธนาธร" ไทยยังไม่มี "Blind Trust” เพราะกฎหมายไม่รองรับ ส่วนการโอนทรัพย์สินให้สถาบันการเงินดูแลแทน มีนักการเมืองหลายคนรวมถึงตนเคยทำมาก่อนแล้ว ไม่ใช่ทำเป็นคนแรกตามที่อ้าง แนะวิธีที่โปร่งใสสุดให้ขายขาดหรือไม่ก็เปิดเผยข้อมูลให้ตรวจสอบได้ ไม่ควรโอนเข้าไปในที่ ๆ "มองไม่เห็น"

วันนี้ (18 มี.ค.) ภายหลังจากที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินของตัวเองที่ถือหุ้นธุรกิจเครือซัมมิทมูลค่า 5 พันล้านบาทว่าใช้แนวทาง Blind Trust คือโอนทรัพย์สินไปให้ Trust หรือ กองทุน เป็นผู้ดูแล ซึ่งวิธิการนี้จะเป็นมาตรฐานใหม่ ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนใช้ Private Fund มาก่อน เป็นนวัตกรรมใหม่ ยกระดับมาตรฐานแสดงความจริงใจให้เกิดต่อสาธารณะ

ล่าสุด นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า …

ยิ่งมองไม่เห็น ยิ่งตรวจสอบไม่ได้

จากการแถลงข่าวเรื่อง ‘blind trust’ ของคุณธนาธร ทำให้มีสื่อบางรายได้ทักท้วง สรุปความได้ว่า การอ้างว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการทำเช่นนี้ เป็นการอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เคยมีนักการเมืองอีกหลายท่าน รวมทั้งผมด้วย เคยทำเช่นนี้มาก่อนแล้ว..

ผมขอชี้แจงตามนี้ว่า

1. “Blind Trust” ยังไม่มีจริงในประเทศไทย เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะฉะนั้นที่คุณธนาธรลงนามไปนั้น ไม่ใช่ blind trust และไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน

2. คุณธนาธรได้โอนทรัพย์สินให้สถาบันการเงินดูแล อันนี้หลายคนน่าจะเคยทำเหมือนกัน ผมก็เคยและวันนี้ก็ยังมีอยู่ โดยที่ผมก็ได้ลงนามสัญญาให้เขาบริหารโดยอิสระเช่นเดียวกัน

3. ผมเองเคยมี Trust อยู่ที่ต่างประเทศ และรายงานรายละเอียดทั้งหมดกับ ปปช. ตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องการรายงานบัญชีทรัพย์สิน

4. แต่หลายปีมาแล้วผมได้ตัดสินใจทำสวนทางกับที่คุณธนาธรพยายามที่จะทำ คือผมยกเลิก Trust ที่มีอยู่ เพราะผมคิดว่าความโปร่งใสสำคัญกว่า ผมคิดว่าประเด็นที่น่ากังวลที่สุดในสิ่งที่คุณธนาธรได้ประกาศวันนี้ ไม่ใช่ว่าท่านเป็นคนแรกหรือไม่ แต่ที่ท่านบอกว่าทรัพย์สินที่ท่านโอนไปนี้จะ ‘มองไม่เห็น’ เพราะเมื่อทุกคนบอดสนิทกับข้อเท็จจริงว่าท่านมีทรัพย์สินอะไรบ้าง การตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจะเกิดขึ้นไม่ได้

จริงๆแล้ววิธีที่ชัดเจนที่สุดที่จะปลดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนคือการขายขาด (แต่อย่าขายให้ nominee กันอีกนะครับ)

แต่หากไม่ขาย ผมว่าที่ดีที่สุดคือเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ และที่ไม่ควรคือการโอนเข้าไปในที่ๆ ‘มองไม่เห็น’

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0