โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

กรณีศึกษา เปอร์โตริโก ดินแดนที่เข้าสู่ ภาวะล้มละลาย

ลงทุนแมน

อัพเดต 11 ต.ค. 2562 เวลา 11.46 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 03.10 น. • ลงทุนแมน

กรณีศึกษา เปอร์โตริโก ดินแดนที่เข้าสู่ ภาวะล้มละลาย / โดย ลงทุนแมน

“ไม่ว่าคุณจะเป็นคนแก่ ผู้ใหญ่หรือแม้แต่เด็กเกิดใหม่
ทุกๆ คนที่นี่จะมีหนี้คนละ 1.2 ล้านบาท”
ที่นี่ชื่อว่า เปอร์โตริโก ดินแดนที่กำลังเข้าสู่ภาวะล้มละลาย
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศเราอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

รู้หรือไม่ว่า เปอร์โตริโก
เป็นคำที่มาจากภาษาสเปน แปลว่า “เกาะแห่งความร่ำรวย”
ในปี 1509 สเปนได้เข้ามายึดครองเกาะเปอร์โตริโก และปกครองที่นี่เกือบ 400 ปี
จนถึงปลายศตวรรษที่ 19
หลังจากที่แพ้สงครามต่อสหรัฐอเมริกา
ทำให้สเปนต้องยกเกาะแห่งนี้ให้แก่สหรัฐอเมริกา

เปอร์โตริโก มีภูมิประเทศเป็นเกาะ ตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน มหาสมุทรแอตแลนติก โดยเป็นเขตปกครองพิเศษของสหรัฐอเมริกา

ในปี 2018 เปอร์โตริโกมีประชากรประมาณ 3.2 ล้านคน มีมูลค่า GDP เท่ากับ 3.2 ล้านล้านบาท

เมื่อคิดดูแล้ว GDP ต่อคนต่อปีเท่ากับ 1,000,000 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 83,300 บาท ทำให้เปอร์โตริโกเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีรายได้สูง

อย่างไรก็ตาม ถึงมี GDP ต่อหัวมากขนาดนี้ แต่เปอร์โตริโก ก็มีหนี้สินที่สูงด้วยเช่นกัน

หนี้สินของเปอร์โตริโกมีทั้งหมดเท่ากับ 3.8 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 119% ของ GDP จนทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องเข้ามากำกับดูแลแผนปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลเปอร์โตริโก

ต้นตอของปัญหาต้องย้อนกลับไปในปี 1973 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลของเปอร์โตริโกเริ่มที่จะใช้จ่ายเงินมากกว่าที่สามารถหาได้

หรือพูดง่ายๆ ว่า รัฐบาลทำงบประมาณขาดดุล อย่างไรก็ตาม แทนที่จะมีการปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงบ้าง เพื่อสร้างสมดุลให้กับสถานะการเงิน การคลัง

รัฐบาลกลับหาเงินด้วยวิธีการออกพันธบัตรอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 40 ปี..

และยิ่งนโยบายขาดดุลดำเนินต่อไป ทำให้ยิ่งต้องกู้เงิน ภาระหนี้ของรัฐบาลจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้น

ปี 2006 เปอร์โตริโกประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย การว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลก็มีภาระหนี้สินในระดับสูง ทำให้ไม่มีงบประมาณและไม่มีสภาพคล่องเพื่อมาแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในขณะนั้น

ข้าราชการจำนวนกว่า 100,000 คน ไม่ได้รับเงินเดือน และโรงเรียนกว่า 1,500 แห่งต้องปิดตัวลง

เรื่องร้ายๆ ยังคงดำเนินต่อไป ในปี 2014 สถาบันจัดอันดับเครดิต S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลเปอร์โตริโกไปสู่ระดับ Junk Bond ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง

ความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับความน่าเชื่อถือที่ลดลง สิ่งที่ตามมาคือ ไม่มีใครให้เงินรัฐบาลเปอร์โตริโกกู้ยืมอีก

จนปี 2015 รัฐบาลเปอร์โตริโกต้องประกาศว่า ไม่สามารถชำระหนี้สินแก่เจ้าหนี้ได้

ปี 2017 รัฐบาลต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายซึ่งนับเป็นหนึ่งในกรณีที่มีการยื่นล้มละลายสูงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาอีกด้วย

เรื่องนี้อาจทำให้เราได้รู้ว่า การมีรายได้มากนั้น อาจไม่มีประโยชน์อะไร หากเรามีหนี้สินมากไม่แพ้รายได้

การกู้ยืมเงินมาใช้ของรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกก็ทำกัน

เพียงแต่ว่าเงินที่กู้ยืมมานั้นต้องมีการนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด จนเกิดภาระหนี้สินมากเกินกว่าที่ประเทศจะแบกรับได้

ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ที่ผ่านมาประชากรของเปอร์โตริโกได้ลดลงเกือบ 3 แสนคน ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี
สาเหตุที่จำนวนประชากรลดลงก็เพราะว่า พวกเขาอพยพออกนอกเปอร์โตริโก เพื่อไปหาโอกาสที่ดีกว่าในต่างประเทศ นั่นเอง..

———————-
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
———————-

References
-https://centropr.hunter.cuny.edu/sites/default/files/PDF_Publications/Puerto-Rico-Crisis-Timeline-2017.pdf
-https://edition.cnn.com/2019/09/27/investing/puerto-rico-bankruptcy-filing-plan/index.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/Puerto_Rico
-https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Puerto_Rico
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_bonds_issued_by_Puerto_Rico

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0