โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

กรณีศึกษา หนี้ครัวเรือนของไทย

ลงทุนแมน

อัพเดต 15 มี.ค. 2562 เวลา 09.45 น. • เผยแพร่ 18 มี.ค. 2562 เวลา 03.10 น. • ลงทุนแมน

กรณีศึกษา หนี้ครัวเรือนของไทย / โดย ลงทุนแมน

ในปี 2558 หนี้ครัวเรือนคนไทยพุ่งถึง 80% ต่อมูลค่า GDP ของประเทศ
ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกกันมา
แม้จะค่อยๆ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 78% ในปี 2560
แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับในอดีต
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “หนี้ครัวเรือน” แบบง่ายๆ กันก่อน

หนี้ครัวเรือน หมายถึง ภาระหนี้ที่ครัวเรือนนั้นก่อขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นหนี้ผ่อนบ้าน หนี้ผ่อนรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนชำระสินค้า โดยการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ

อย่างไรก็ตาม บางครั้ง การก่อหนี้ครัวเรือน ไม่ได้หมายถึงแค่การกู้เพื่อไปใช้ในการบริโภคเท่านั้น ยังรวมไปถึงการกู้ยืมเงินเพื่อไปลงทุน ถ้าครัวเรือนนั้นมองว่า การกู้สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่าต้นทุนทางการเงิน

ก็หมายความว่า หนี้ที่ครัวเรือนก่อขึ้นมานั้น อาจจะมีทั้งหนี้ที่ดีและหนี้ที่ไม่ดี ในเวลาเดียวกัน

และตัวเลขหนี้ครัวเรือนยังไม่รวมถึงหนี้นอกระบบ ที่น่าจะมีอยู่มากไม่แพ้หนี้ในระบบ

เราลองมาดูการเติบโตของหนี้ครัวเรือนคนไทยตั้งแต่ปี 2546 ถึงปี 2560 ว่าเป็นอย่างไร

ปี 2546-2550 หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยเท่ากับ 3.5 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน 45% ต่อ GDP

ปี 2551-2555 หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยเท่ากับ 6.7 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน 62% ต่อ GDP

ปี 2556-2560 หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยเท่ากับ 11.1 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน 79% ต่อ GDP

โดยในปี 2560 นั้น
หนี้ครัวเรือนของไทยที่ระดับ 78% ต่อ GDP สูงกว่าสมัยก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เกือบเท่าตัว

จะเห็นได้ว่า หนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเติบโตเร็วกว่า GDP

ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หรือแม้แต่ความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายกว่าสมัยก่อน

ที่น่าสังเกตคือ ในปี 2560 รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของคนไทยอยู่ที่ 27,000 บาทต่อเดือน ขณะที่หนี้สินแต่ละครัวเรือนอยู่ที่ 178,000 บาท

ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีเงินมาปิดหนี้สินได้หรือไม่ แค่รายได้เฉลี่ยก็ยังไม่พอใช้จ่ายในแต่ละครัวเรือน ซึ่งทำให้ต้องกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา

โดยแหล่งเงินกู้ที่สำคัญของครัวเรือน คือ ธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 42% ของหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ และหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ถูกนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ โดยเฉพาะหนี้สินในอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนกว่า 38% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

ถ้าถามว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ในทวีปเอเชียนั้น ค่าเฉลี่ยของหนี้สินภาคครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 50%

โดยปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนของไทยสูงเป็นลำดับที่ 3 ในเอเชีย และลำดับที่ 11 ของโลก

เรื่องนี้ถือว่าเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลที่จะต้องแก้ปัญหาต่อไป

แน่นอนว่าทุกคนไม่อยากเป็นหนี้

แต่เมื่อได้เข้ามาอยู่ในวงจรนี้แล้ว

มีน้อยคนที่จะหลุดออกไปได้..
———————-
รู้ไหม ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนมากสุดในโลกคือ สวิตเซอร์แลนด์ อ่านเรื่องนี้ได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5c66a620ddbb5118149319ef

ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ หลายท่าน ในแอป blockdit โหลดได้ที่ http://www.blockdit.com

สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html

Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือ-ลงทุนแมน-9.0-i.116732911.1933827833
———————-

References
-https://www.ceicdata.com/en/indicator/thailand/household-debt–of-nominal-gdp
-https://thaipublica.org/2018/05/kkp-financial-literacy-19/
-https://www.scbeic.com/th/detail/product/928
-http://www2.bot.or.th/statistics/ReportPage.aspx?reportID=775&language=th
-https://www.posttoday.com/finance/news/567470
-http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/08.aspx
-https://tradingeconomics.com/thailand/households-debt-to-gdp
-http://www.nso.go.th
-https://pulsenews.co.kr/view.php?year=2017&no=673523

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0