โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

กยศ.พลิกฐานะ "ไม่ขาดทุน" ล้านคนปลดหนี้ ส่งต่อโอกาสการศึกษา

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 16 ก.ย 2562 เวลา 09.40 น. • เผยแพร่ 16 ก.ย 2562 เวลา 13.00 น.
60

เป็นเวลากว่า 20 ปีที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เริ่มปล่อยกู้เมื่อปี 2539 จนถึงปัจจุบันมีผู้กู้ยืมเรียนแล้ว 5,615,065 ราย (ณ สิ้น ก.ค. 2562) ให้กู้ยืมไปแล้ว 605,354 ล้านบาท

ย้อนไปหลายปีก่อน กยศ.ต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ต้องขอตั้งงบประมาณไปใช้ปล่อยกู้ใหม่ตลอด อย่างในปีงบประมาณ 2557 มีการยื่นของบฯ 23,500 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรแค่ 18,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนั้นมีการประมาณการเงินสดคงเหลือปลายงวดว่าจะเหลือแค่ 35 ล้านบาทเท่านั้น หลังจากปี 2556 เงินสดปลายงวดก็เหลือแค่ 64 ล้านบาท

ทำให้รัฐบาลขณะนั้นต้องงัดโครงการ“กยศ.พี่ช่วยน้อง” ออกมาใช้ โดยเป็นลักษณะ “นาทีทอง” ที่ให้ลูกหนี้เร่งเคลียร์หนี้ มีทั้งการ “ลดเงินต้น” และ “ยกเว้น/ลดเบี้ยปรับ” ให้ รวมถึงช่วง 1-2 ปีนี้ก็ใช้การ “หักบัญชี” ชำระหนี้มาช่วย

สำหรับในปี 2562 นี้ กยศ.เพิ่งมีมาตรการ “ลดเบี้ยปรับ 80%” ให้ผู้ที่จะชำระปิดบัญชี, “ลดเบี้ยปรับ 75%” ให้ผู้กู้กลุ่มก่อนถูกฟ้องคดีที่ชำระให้สถานะเป็น “ปกติ” ในช่วง 1 ก.ย. 2562-29 ก.พ. 2563 นี้ และ “พักหนี้ 1 ปี” ให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก่อนถูกฟ้องคดี ราว 335,000 ราย ทั้งยังมีการ “ลดเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมผิดนัดชำระ” จาก 12-18% เหลือ 7.5% ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป พร้อม “เพิ่มค่าครองชีพรายเดือน” ให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษา อีกเดือนละ 600 บาท/ราย เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไปด้วย

“ปี 2563 กยศ.ไม่ได้ของบประมาณแผ่นดินมาใช้ ซึ่งเราไม่ได้ขอมาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว เนื่องจากสถานะทางการเงินของกองทุนดีขึ้น และเริ่มกลับมามีสภาพคล่องแล้ว” นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ.คนปัจจุบันกล่าว

โดยปี 2562 นี้ ภาพรวมการชำระหนี้ถือว่าทำได้ดี ช่วง 11 เดือนชำระเข้ามาแล้ว 29,700 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีน่าจะทะลุ 30,000 ล้านบาท ถือว่า “สูงสุดเป็นประวัติการณ์” เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มียอดชำระ 26,000 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุมาจากการใช้มาตรการหักเงินเดือน ทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน จำนวนลูกหนี้รวมกันราว 400,000 ราย คิดเป็นวงเงินชำระหนี้ 420 ล้านบาท/เดือน หรือ 3,000 ล้านบาท/ปี

โดยในปี 2563 คาดว่าการชำระหนี้ผ่านการหักเงินเดือนจะเพิ่มเป็น 700,000 ราย ซึ่งจะมีเงินชำระหนี้เพิ่มเป็น 800 ล้านบาท/เดือน หรือ 10,000 ล้านบาท/ปี และจะทำให้ยอดชำระหนี้ภาพรวมในปี 2563 เพิ่มเป็น 32,000 ล้านบาท จากนั้นในปี 2564 ตั้งเป้าว่าจะหักเงินเดือนได้ 100% จากลูกหนี้ 1.2 ล้านราย ซึ่งจะทำให้ยอดชำระหนี้ผ่านการหักเงินเดือนเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท/เดือน หรือ 12,000 ล้านบาท/ปี

“จริง ๆ ปีหน้าเราน่าจะได้รับการชำระหนี้เข้ามาถึง 33,000 ล้านบาท แต่ต้องหักส่วนที่พักชำระหนี้ออกไป 7,000 ล้านบาท โดยเงินที่ได้กลับมา เราก็เอาไปให้น้อง ๆ รุ่นใหม่กู้ต่อ ดังนั้นมั่นใจว่าเพียงพอและไม่กระทบต่อน้อง ๆ ที่มีฐานะขาดแคลน ทั้งนี้ เราไม่จำกัดโควตา สามารถกู้ได้ทุกคน กองทุนเรามีเงินทุนพอที่จะให้กู้ยืม ขออย่างเดียวว่ากู้แล้วต้องจ่ายคืน”

ส่วนแนวคิดเรื่องการนำลูกหนี้ กยศ.เข้าระบบ“เครดิตบูโร” นั้น นายชัยณรงค์ยืนยันว่า ปัจจุบันได้ชะลอแนวคิดนี้ไปแล้ว แม้ว่าในอดีตจะเคยมีแนวคิดนี้ก็ตาม เนื่องจากปัจจุบัน ยอดการชำระหนี้ดีขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ขณะนี้ กยศ.ได้ติดตามผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้มามากกว่า 4 ปี ราว 150,000-200,000 ราย โดยกองทุนเตรียมฟ้องดำเนินคดีกับลูกหนี้กลุ่มนี้ อย่างไรก็ดี แม้จะอยู่ในกระบวนการฟ้องดำเนินคดี ทาง กยศ.ก็พร้อมให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

ขณะเดียวกันยังมีนโยบายที่จะช่วยเหลือเพิ่มเติม สำหรับลูกหนี้ที่ถูกฟ้องดำเนินคดีและมีคำพิพากษาไปแล้ว ราว 1,600,000 ราย เป็นหนี้เฉลี่ย 120,000 บาท/ราย ซึ่งจะหมดอายุความใน 2 ปี แต่ยังต้องชำระหนี้อีก 5 ปี โดย กยศ.มีแนวคิดจะให้ผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน แต่ต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน เพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมาย ซึ่งตอนนี้ได้ทำหนังสือหารือไปแล้ว

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดภัยพิบัติในหลายพื้นที่ กยศ.มีมาตรการให้ผู้กู้ยืมที่ประสบภัยน้ำท่วม สามารถขอผ่อนผันการชำระได้ 2 ช่วง ช่วงละไม่เกิน 1 ปี รวมระยะเวลาแล้วไม่เกิน 2 ปี โดยช่วงเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน ผู้กู้ยืมไม่ต้องชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งกองทุนจะยกเว้นเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีที่ผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ได้รับการผ่อนผันให้

“ที่ผ่านมาเราออกมาตรการออกมาหลากหลายรูปแบบ ก็เพื่อต้องการที่จะจูงใจให้ลูกหนี้เข้ามาชำระหนี้ บางส่วนก็ได้ผล บางส่วนก็ยังไม่จ่าย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการจัดการและจิตสำนึกของแต่ละคน เราเข้าใจว่าผู้กู้หลายรายมีฐานะยากจนแต่ก็พยายามออกมาตรการดูแลประนีประนอมมาโดยตลอด” ผู้จัดการ กยศ.กล่าว

ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2562 กองทุนตั้งเป้าปล่อยกู้ 30,000 ล้านบาท คิดเป็นผู้กู้ 600,000 ราย โดยปัจจุบันมีผู้กู้แล้ว 500,000 ราย จำนวนเงิน 28,000 ล้านบาท และส่วนปีการศึกษา 2563 วางเป้าการปล่อยกู้ไว้ที่ประมาณ 33,000 ล้านบาท ผู้กู้กว่า 600,000 ราย

ปัจจุบันผู้กู้ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,093,041 ราย หรือคิดเป็น 19% ของผู้กู้ยืมทั้งหมด หลังจากนี้ก็หวังว่าผู้กู้ยืมจะรักษาวินัยในการชำระหนี้ เพื่อส่งต่อ “โอกาสทางการศึกษา” ให้กับนักเรียนนักศึกษารุ่นต่อ ๆ ไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0