โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

กฟผ.จ่อเปิดประมูลผลิตไฟฟ้าในเขื่อน

ไทยโพสต์

อัพเดต 19 มี.ค. 2562 เวลา 03.54 น. • เผยแพร่ 19 มี.ค. 2562 เวลา 03.54 น. • ไทยโพสต์

ที่มารูป Energy News Center

19มี.ค. 2562 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมงานกำหนดใช้น้ำมันปาล์มผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และพิจารณาเพิ่มจุดรับซื้อน้ำมันปาล์มเพิ่มเติม ว่าได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไฮโดร-โฟลตติ้ง โซลาร์ ไฮบริด รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี โดยให้นำร่องโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร ขนาด 45 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการไฮบริดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมาผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2562 มอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน โดย กฟผ. เพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า จากวันละ 1,000 ตัน เพิ่มกำลังการผลิตเป็นวันละ 1,500 ตัน เพื่อเร่งดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นราคาผลปาล์มให้มีราคาสูงขึ้น และขอให้ กฟผ. ดำเนินการเพิ่มจุดรับน้ำมันปาล์มดิบที่ จ.สุราษฎร์ธานี อย่างเร่งด่วน คาดว่าจะทำให้เกษตรกรสามารถขายปาล์มดิบได้ในราคากิโลกรัมละ 3 บาท - 3.2 บาท อย่างต่อเนื่อง

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวถึงแผนนำร่องโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ว่าจะใช้พื้นที่ผิวน้ำในการติดตั้ง 450 ไร่ ซึ่ง กฟผ. จะออกประกาศเชิญชวนในวันที่ 15 พ.ค. 2562 และยื่นซองประมูลภายในสิ้นเดือนก.ค. 2562 และจะประกาศผู้ชนะภายในสิ้นเดือนต.ค. 2562 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการโครงการเดือนม.ค. 2563 เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ทันตามแผนในเดือนธ.ค. 2563

ทั้งนี้จะเป็นการเชื่อมโยงระบบพลังน้ำ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกับเขื่อน ได้แก่ หม้อแปลง สายส่ง และสถานีไฟฟ้าแรงสูง เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการระเหยของน้ำ ช่วยเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้า ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำ เสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบช่วงกลางคืนเพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการใช้พื้นที่ทางการเกษตร โดยรายละเอียดโครงการเป็นการออกแบบติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนทุ่นลอยน้ำ และใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิลกลาส เนื่องจากมีความเหมาะสมกับสภาพการใช้งานที่วางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำ ซึ่งมีความชื้นสูงและยังมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำตลอดเวลา  

นายวิบูลย์ กล่าวถึงความคืบหน้าแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบ ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง หน่วยที่ 3 ว่า ขณะนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตเพื่อให้สามารถรองรับการเดินเครื่องที่เพิ่มขึ้นจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดย กฟผ. ได้ดำเนินการทดสอบระบบการเดินเครื่องทางเทคนิครองรับการเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นวันละ 1,500 ตัน เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะใช้น้ำมันปาล์มดิบได้หมดภายในต้นเดือนมิ.ย. 2562 ซึ่งเร็วขึ้นประมาณ 2 เดือน จากเดิมที่กำหนดไว้ปลายเดือนก.ค. 2562

ในส่วนการรับซื้อน้ำมันปาล์มมีผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้ กฟผ. จำนวนทั้งสิ้น 31 ราย รวมปริมาณ 155,000 ตัน โดย กฟผ. ได้ดำเนินการจัดทำสัญญาร่วมกับผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบเรียบร้อยแล้ว ปริมาณ 126,000 ตัน คงเหลือปริมาณที่อยู่ระหว่างการจัดทำสัญญา 29,000 ตัน และอยู่ระหว่างกรมการค้าภายในจะแจ้งมาอีก 5,000 ตัน ซึ่งจะทำให้ครบ 160,000 ตัน ทั้งนี้ กฟผ. ได้รับมอบน้ำมันปาล์มดิบแล้วจำนวน 42,000 ตัน โดยใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ วันละ 1,000 ตัน รวมปริมาณที่ใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว 34,000 ตัน และอยู่ระหว่างการส่งมอบ 118,000 ตัน

นอกจากนั้น กฟผ. กำลังดำเนินการพิจารณาเพิ่มจุดรับซื้อเพิ่มเติมที่คลัง จ.สุราษฎร์ธานี โดยจะเร่งดำเนินการชำระเงินให้แก่โรงสกัดที่จัดทำเอกสารเรียกเก็บเงินครบถ้วนให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการ (จากเดิม 15 วันทำการ) เพื่อให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมีความสามารถในการรับซื้อผลปาล์มทะลายจากเกษตรกรได้มากขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0