โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กทม. วาดฝันเมืองไร้สายภายใน 2 ปี ทุ่ม 20,000 ล้านบาท นำสายสื่อสารลงดิน

BLT BANGKOK

อัพเดต 26 มิ.ย. 2562 เวลา 11.31 น. • เผยแพร่ 26 มิ.ย. 2562 เวลา 11.30 น.
28f419ffc96bc2dd512443ae247bd38a.jpg

นับจากนี้ไปอีก 2 ปี เป็นเป้าหมายของการเดินหน้าโครงการก่อสร้างโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ที่มีระยะทางรวม 2,450 กม. มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะพลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองไร้ปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง มีความสวยงาม เป็นระเบียบ ปลอดภัยและทันสมัย รองรับการเป็นสมาร์ทซิตี้ พร้อมกับเทคโนโลยี 5G สู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
นำสายสื่อสารทั่วกรุง 2,450 กม. ลงใต้ดิน  
โดย กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ โครงการส่งเสริมพัฒนาและกำหนดแนวทางการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือนมกราคม 2562 ที่ให้ กทม. เป็นเจ้าภาพนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
ทาง กทม. ได้มอบหมายต่อให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจภายใต้กำกับดูแลของ กทม. ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างและขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างและวางท่อร้อยสายเพื่อนำสายสื่อสารบนถนนสายหลัก สายรอง รวมถึงเส้นทางลัดและเส้นทางในซอย ที่มีสายสื่อสารพาดอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ลงใต้ดิน รวม 2,450 กม. ด้วยวงเงินดำเนินการกว่า 20,000 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยไม่กระทบผิวจราจรและไม่ใช้งบประมาณของภาครัฐ 4 พื้นที่นำร่องวางท่อร้อยสาย เริ่ม ก.ค. 62
สำหรับโครงการนำระบบสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ 2,450 กม. แบ่งพื้นที่ดำเนินการ เป็น 4 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพเหนือ 620 กม. เส้นทางนำร่องได้แก่ บริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระรามที่ 1 - ถนนเพชรบุรี รวม 1.4 กม., พื้นที่กรุงเทพตะวันออก 605 กม. เส้นทางนำร่องบริเวณถนนรัชดาภิเษก จากบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ประตู 2 และประตู 3 ถึงซอยรัชดาภิเษก 7 และซอยประชาสันติ และบริเวณถนนเทียมร่วมมิตร จากถนนรัชดาภิเษกถึงหน้าอาคารไซเบอร์เวิลด์ (CW Tower) รวม 1.95 กม., พื้นที่กรุงธนเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร รวม 605 กม. เส้นทางนำร่องบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 68 จากถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10 รวม 1.7 กม. และพื้นที่กรุงธนใต้ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร รวม 620 กม. เส้นทางนำร่อง ได้แก่ บริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระราม 1 ถึงถนนพระราม 4 ระยะทาง 1.9 กม.
สำรวจใต้ดิน-สิ่งกีดขวางก่อนขุดเจาะวางท่อ
ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจสภาพพื้นที่เบื้องต้น พร้อมประสานข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบตำแหน่งของท่อสาธารณูปโภคใต้ดินเดิมที่มีอยู่ รวมถึงสิ่งกีดขวางอื่นๆ ใต้ผิวทางเท้าที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน โดยใช้ระบบเรดาร์บนบาทวิถีที่ระดับความลึก 8 ม. จากนั้นจะออกแบบและวางแผนเพื่อขุดเจาะวางท่อร้อยขนาดเล็กใต้ดินด้วยเทคโนโลยีไมโครดัก (Microduct) มีวิธีการก่อสร้าง 2 รูปแบบ คือ 1. การก่อสร้างแบบเจาะลากท่อ HorizontalDirectional Drill (HDD) และ 2. การก่อสร้างแบบเปิดหน้าดิน Open Cut (Semi-Direct-Burial) ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย ขุดเจาะเปิดหน้าดินน้อย และช่วยประหยัดพื้นที่ โดยจะเริ่มประมาณเดือนกรกฎาคม 2562 โดยตั้ง        เป้าหมายว่าจะขุดวางท่อร้อยสายและนำสายสื่อสารลงใต้ดินให้ได้อย่างน้อยพื้นที่ละ 150 กม. ภายในปี 2562 และเร่งดำเนินการทุกพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายใน 2 ปี
สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการ กรุงเทพธนาคม แบ่งสัดส่วนเป็นใช้เงินกู้ 50% ประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนอีก 50% ประมาณ 10,000 ล้านบาท ทาง บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งได้รับสิทธิเป็นผู้บริหารจัดการ โดยมีระยะสัญญา 30 ปี จะจ่ายเป็นเงินล่วงหน้าเพื่อนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างให้แก่กรุงเทพธนาคม โดย  บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะได้สิทธิในการบริหารท่อ 80% ส่วนอีก 20% กทม. จะคงไว้เพื่อใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการสื่อสารของภาครัฐ เช่น ด้านการจราจร กล้องวงจรปิด (CCTV) เป็นต้น

ออกกฎเข้ม ห้ามสายรุงรัง
ทั้งนี้ เมื่อ กทม. ดำเนินการก่อสร้างโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย จะไม่มีการพาดสายสื่อสารระโยงระยางตามเสาไฟฟ้าอีก และหากผู้ประกอบการรายใดไม่นำสายสื่อสารลงใต้ดินก็จะถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่ง กทม. ได้ออกประกาศการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 เพื่อเตรียมบังคับใช้ไว้แล้ว โดยกำหนดว่า 1. การติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับ 2,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ผู้ทำผิดปลด หรือรื้อถอนภายในเวลาที่กำหนด หากฝ่าฝืนหรือเพิกเฉย ถือว่ามีความผิดทางอาญา และต้องโทษปรับวันละ 15,000 บาท ตลอดระยะวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่ง 2. สายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จะต้องปลดหรือรื้อถอนออก และ 3. สายสื่อสารที่ติดตั้ง วาง หรือแขวนในที่สาธารณะและยังใช้งานอยู่ เมื่อมีท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในพื้นที่ดังกล่าวแล้วให้ปลดหรือรื้อถอนออก
แม้จะมีคำถาม ซึ่งเป็นข้อท้วงติงจากเอกชน ว่าการดำเนินงานของ กทม. เป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนเพียงรายเดียว และอาจส่งผลต่อราคา  ค่าใช้บริการของประชาชนในอนาคต แต่ทาง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า ทางรัฐบาลอนุมัติให้ กทม. ทำแล้ว และจะต้องเอาลงใต้ดินทั้งหมด บริษัทอื่นใดที่ทำอยู่ในบางช่วง ในย่านธุรกิจ ดีๆ ก็ทำ ที่ไม่ดีก็ไม่ทำ เพราะฉะนั้นต้องมีเจ้าภาพฝ่ายเดียว ซึ่งที่ผ่านมา 20-30 ปี ไม่ได้ทำกัน และก่อนหน้านี้ได้สอบถามแล้วว่าจะมาร่วมทำด้วยหรือไม่ แต่ก็ไม่มาร่วม จึงไม่ได้ใส่ใจ และถือว่านี่เป็นโครงการที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อบ้านเพื่อเมือง ทำเพื่อกรุงเทพมหานคร จึงไม่อยากให้ถกเถียงกันในปัญหาเล็กน้อย แต่อยากให้มองที่ปัญหาใหญ่คือความสวยงามของ กทม.
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร และ กสทช. คาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะพลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองแห่งอนาคต ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแรง รองรับการเป็น Smart City รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G และเป็นมหานครที่มีทัศนียภาพสวยงาม เป็นระเบียบ ปลอดภัย  ทันสมัย เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน  

คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ - เลขาธิการ กสทช. 
“สายสื่อสารที่พาดรกรุงรัง เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งในส่วนที่ กทม. จะดำเนินการเป็นพื้นที่ใหม่ ไม่ทับซ้อนกับส่วนของทีโอที ที่ดูแลอยู่ประมาณ 400-500 กม. ส่วนเรื่องราคาเป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่จะกำกับให้อยู่ในราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งต้องไปพิจารณาเปรียบเทียบกันระหว่าง ราคาของท่อที่ทีโอทีกำหนดไว้ให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมเช่าประมาณ 9,000 บาท/ท่อย่อย/กม./เดือน กับ ที่ กทม. จะเสนอมา โดย กสทช.จะให้ความเป็นธรรมในการกำกับราคาให้สมเหตุสมผล เพราะถ้าราคาสูงจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการของผู้ประกอบการ และจะไปคิดอัตราค่าบริการจากประชาชนแพงขึ้นกว่าเดิม”
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง - ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 
“โครงการนำสายสื่อสารทั้งหมดที่ระเกะระกะ ซึ่งไม่ใช่สายไฟฟ้าลงใต้ดิน กทม. ทำตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เสนอรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติให้ กทม. ร่วมกับ กสทช. ทำ เพื่อลดผลกระทบทั้งด้านภาพลักษณ์ที่ไม่สวยงาม ไม่เจริญหูเจริญตาของคนทั่วไป และอาจเกิดอันตรายได้เมื่อสายหล่นลงมา ทาง กทม. ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมจากทาง กสทช. ซึ่งภายใน 2 ปีจะไม่เห็นสายสื่อสารพาดตามถนนสายหลัก ถนนสายรองอีก จะเรียบร้อยทุกอย่าง ส่วนราคาค่าเช่าท่อที่ว่าแพง ก็ไม่จริง ต้องถาม กสทช. ดูว่าเท่าไหร่ แต่จะเก็บน้อยกว่าเขาแน่นอน เอาอย่างนี้แล้วกัน ผมอยู่มา 3-4 ปี ตลาดนัดจตุจักรเขาเก็บกัน 3,000-4,000 บาท ผมทำให้เหลือพันกว่าบาท”
[English]
Wireless Bangkok, A Dream to Come True in 2 Years
Bangkok Metropolitan Administration (BMA) and National Broadcasting and Telecommunications Commission (NBTC) have signed a Memorandum of Cooperation on the moving of telecom wires hung on electricity poles across the Thai capital city underground over the next two years.
The mission, which covers a distance of 2,450 kilometers, was set with a budget of over 20 billion baht to turn Bangkok into a truly wireless, orderly, safe and modern city.
Under this plan, the city was divided into four zones, including the inner city, the East, the North and the South, with initial implementation planned for WItthayu Road that runs 1.9 kilometers from Rama I Road to Rama V Road.
Currently, the assessment of the city is underway and with help from related agencies to locate all utilities systems hidden underground and other obstacles to facilitate the actual moving all of wires, which is expected to start in July.
The budget allocated for the project comprises a 10-billion-baht loan and a 10-billion-baht contribution from True Internet Corporation Co., Ltd., which is also granted a 30-year license to manage the entire system.
Once completed, BMA assured that there would not be any telecom wires hanging on any electricity poles ever again and any operators that fail to bring their wires underground would violate the law.
While the project is welcoming, there have been questions about why only one company appears to be benefiting from this and the possibilities that the public may end up paying higher prices for telecom services.
Nevertheless, BMA and NBTC expect the project to turn Bangkok into the city of future and make it ready to be a real Smart City.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0